LH Bank เล็งปั้นยีลด์ดันพอร์ตรายย่อย-SMEs 50% ภายใน 3 ปี

แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH Bank)

ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เปิดแผนธุรกิจครึ่งปีหลัง 2565 ลุยเจาะเซ็กเมนต์ผลตอบแทนสูง มุ่งสินเชื่อรายย่อยปล่อยกู้ดิจิทัล หลังเปิดบริการ 2 เดือนความต้องการพุ่ง คาดทั้งปีโกย 1 พันล้านบาท พร้อมตั้งเป้า 3 ปี ดันสัดส่วนพอร์ตรายย่อย-เอสเอ็มอีเพิ่มเป็น 50% จากปัจจุบันมี 10% ลุยเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ธุรกิจไต้หวัน 10% คุมหนี้ไม่เกิน 2.5-2.6% มองประเด็นขัดแย้งจีน-สหรัฐ-ไต้หวัน เชื่อไทยได้อานิสงส์ย้ายฐานการผลิต

วันที่ 8 สิงหาคม 2565 นางสาวชมภูนุช ปฐมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH Bank) เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ธนาคารมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตได้จากแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้น 3 ตัวได้ดี ซึ่งจะส่งผลให้สินเชื่อของธนาคารยังคงเติบโตได้ต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก

ชมภูนุช ปฐมพร
ชมภูนุช ปฐมพร

โดยหากดูผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกมีอัตราการเติบโตได้ค่อนข้างดี สะท้อนผ่านการเติบโตสินเชื่อจากเดิมเป้าหมายทั้งปีตั้งไว้อยู่ที่ 6-7% แต่ภายในครึ่งปีแรกธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อเติบโตแล้ว 8-9% โดยสินเชื่อรายย่อยเติบโตสูงถึง 17-18% และสินเชื่อธุรกิจเติบโต 6-7% จากยอดสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 2.74 แสนล้านบาท

ทั้งนี้จากแนวโน้มการเติบโตได้ดี ธนาคารอยู่ระหว่างการปรับแผนการเติบโตสินเชื่อ ซึ่งคาดว่าสินเชื่อรายย่อยน่าจะสามารถขยายการเติบโตได้ดี แต่สินเชื่อธุรกิจหรือรายใหญ่อาจจะชะลอ เนื่องจากยังคงมีเหตุการณ์ความไม่แน่นอน ทั้งเรื่องความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน หรือจีน-สหรัฐ ทำให้ธนาคารยังคงต้องตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อเนื่อง โดยมีอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (Coverage Ratio) ที่ 200%จากปัจจุบันที่ 196% สะท้อนการดำเนินธุรกิจแบบระมัดระวัง โดยคาดว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทั้งปีนี้อยู่ในกรอบไม่เกิน 2.5-2.6% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.4%

อย่างไรก็ดี ธนาคารจะมุ่งเน้นไปในธุรกิจหรือสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield) โดยจากเดิมจะเน้นปล่อยสินเชื่อในกลุ่ม Big Corporate มีสัดส่วนถึง 90% และสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพียง 10% โดยภายใน 2-3 ปี ธนาคารต้องการเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยและเอสเอ็มอีขึ้นมาอยู่ที่ 50%

โดยในส่วนของสินเชื่อรายย่อย จะเน้นการเติบโตสินเชื่อที่อยู่อาศัยต่อเนื่องจากครึ่งปีแรกเติบโตแล้ว 20% รวมถึงสินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) ที่เปิดที่เริ่มดำเนินธุรกิจมาประมาณ 2 เดือน นับแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร Ascend ปัจจุบันมียอดสินเชื่อปล่อยไปแล้ว 180 ล้านบาท และคาดว่าภายในปีนี้จะปล่อยสินเชื่อได้ 1,000 ล้านบาท โดยธนาคารอยู่ระหว่างการพูดคุยกับพันธมิตรอีก 2-3 ราย ซึ่งไม่ใช่สถาบันการเงิน เพื่อต่อยอดธุรกิจคาดว่าภายในปลายปีนี้น่าจะชัดเจน

ขณะเดียวกันตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ฐานลูกค้าไต้หวันภายใน 2-3 ปี จะต้องมีสัดส่วนประมาณ 10% จากปัจจุบันมีฐานลูกค้าไต้หวันที่เป็นนักธุรกิจในไทยประมาณ 5,000 ราย และมีฐานลูกค้าไต้หวันรายย่อยทั้งหมด 2 แสนราย ซึ่งธนาคารสามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ (Cross selling) ลูกค้ากลุ่มนี้ได้ เช่น การซื้อคอนโดมิเนียม เป็นต้น รวมถึงนำลูกค้าไทยที่เข้าไปลงทุนในไต้หวัน ตลอดจนการเติบโตธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) ที่มีอัตราการเติบโตสูงถึง 60-70%

นอกจากนี้ ธนาคารยังเดินหน้าพัฒนา Digital Infrastructure และ Platform เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และสอดรับกับพฤติกรรมของลูกค้า และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าภายใต้แนวคิด Customer Centric ที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าในทุก Segment โดยเฉพาฑ์เะผลิตภัณงินฝากออมทรัพย์ดิจิทัล Pro-fit ที่ลูกค้าให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

และธนาคารยังได้นำระบบ Robotic Process Automation (RPA) มาใช้เพื่อลดขั้นตอนการทำงานเพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น แนาละธคารอยู่ระหว่างพัฒนาบริการใหม่บนแพลตฟอร์ม Profita คือ บริการ ROBO Advisor เป็นบริการวางแผนการลงทุน และจัดพอร์ตการลงทุนแบบอัตโนมัติที่ออกแบบและคัดสรร โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ซึ่งจะมีการติดตามและปรับสัดส่วนการลงทุน โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการ ROBO Advisor ในไตรมาส 4 นี้

“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเราอยู่ในภาวะที่ท้าทายทั้งธนาคารและธุรกิจ มาถึงขณะนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น เราก็พร้อมที่จะเดินหน้าต่อ แต่ก็ยังความระมัดระวังไว้เช่นกัน พร้อม ๆ กันนั้นก็จะต้องกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจเพื่อชดเชยรายได้ในบางธุรกิจที่อยู่ในขาลงด้วย อย่างในช่วงครึ่งปีแรกที่รายได้ดอกเบี้ยเข้ามาชดเชยรายได้ธุรกิจตลาดทุนที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดโลก

ซึ่งจากสินเชื่อบางตัวที่เติบโตได้ดีอย่างสินเชื่อรายย่อยก็อาจจะมีการปรับตัวเลข แต่ในส่วนของสินเชื่อธุรกิจยังต้องดูอีกระยะหนึ่ง และที่สำคัญยังต้องมีการดูแลลูกค้าบางส่วนที่ยังอยู่ในมาตรการขอรับความช่วยเหลือ ซึ่งมีสัดส่วน 14%ของพอร์ตจากเดิมที่ 40%”

นายฉี ชิง-ฟู่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG เปิดเผยว่า สำหรับกรณีความขัดแย้งระหว่างไต้หวันกับจีนที่เริ่มมีความเข้มข้นขึ้นนั้น มองว่าสถานการณ์ดังกล่าว อาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจไต้หวันที่เข้าไปลงทุนในจีนที่จะต้องย้ายฐานกานลงทุนออกมา ซึ่งตรงนี้น่าจะส่งผลดีต่อไทยที่อาจจะได้รับเม็ดเงินลงทุนเข้ามามากขึ้น โดยในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายกลุ่มลูกค้าไต้หวันเติบโตที่ 60% จากปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าไต้หวันที่ทำธุรกิจอยู่ในประเทศไทยรวมประมาณ 5,000 ราย

ฉี ชิง-ฟู่
ฉี ชิง-ฟู่