ครึ่งทาง บจ.โกยกำไร 5 แสนล้าน ปัจจัยเสี่ยงรุมกดดันโค้งท้ายปี 2565

การเงิน หุ้น ลงทุน เงิน

ผ่านครึ่งทางของปี 2565 มาแล้ว บรรดาบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ รายงานงบฯไตรมาส 2 และงบฯครึ่งปีกันเกือบจะครบทั้งหมดแล้ว ซึ่งก็มีทั้งกลุ่มที่กำไรออกมาดีเกินคาด และกลุ่มที่ไม่ดี

โดยมองไปในช่วงครึ่งปีหลัง ที่ยังเต็มไปด้วยความผันผวน ส่งผลให้หลายโบรกเกอร์ปรับประมาณการกำไร บจ.ปีนี้กันใหม่

คาดกำไร บจ.ทั้งปี 1.1 ล้านล้าน

โดย “มงคล พ่วงเภตรา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST กล่าวว่า ตอนนี้กำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย (บจ.) ถูกชี้นำด้วยกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวดีมาก จนสามารถชดเชยส่วนติดลบได้

ทั้งนี้ KTBST ประมาณการกำไร บจ.ทั้งปี 2565 ที่ 1.1 ล้านล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 10.6% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) กำไรต่อหุ้น (EPS) ที่ 93.6 บาท ดัชนีเป้าหมายสิ้นปีอยู่ที่ 1,716 จุด บนอัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E) ที่ 18.3 เท่า

ตารางคาดการณ์ บจ.

“ผ่านมาแล้วครึ่งปีแรก กำไรน่าจะอยู่ประมาณ 5.5 แสนล้านบาท หรือ 50% ของทั้งปี เฉพาะกำไรงวดไตรมาส 2/2565 ที่จะรายงานงบฯ จบภายในวันที่ 15 ส.ค.นี้ คาดว่าจะอยู่ราว 2.8-2.9 แสนล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6% YOY และเพิ่มขึ้น 15% จากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) หลัก ๆ มาจากกำไรสต๊อกน้ำมัน (stock gain) แต่ไตรมาส 3/2565 อาจจะลดลง QOQ จากกำไรของกลุ่มพลังงานหดตัว เพราะเชื่อว่ากำไรจากสต๊อกน้ำมันจะหาย และกลายเป็นขาดทุนสต๊อกน้ำมัน (stock loss) แทน แต่ก็คงไม่มาก สาเหตุเกิดจากตอนนี้ราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวลง”

ส่วนเซ็กเตอร์อื่น ๆ ไม่ถูกกระทบจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการระบาดโควิด-19 ในจีนมากอย่างที่คาดคิด เนื่องจากหุ้นที่อิงกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้ประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่า รวมถึงราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ ไต้หวันและจีน เชื่อว่าไม่น่ากระทบตลาดทุนมาก แต่ถ้าเกิดพลิกผันจนส่งผลกระทบขึ้นมา จะสะเทือนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ค่อนข้างมาก เพราะชิปจะขาดตลาด (chip shortage) แต่ทั้งนี้ ยังไม่ได้คาดการณ์รวมอยู่ในประมาณการกำไร

“ดอกเบี้ย-สงคราม” ปัจจัยเสี่ยง

“มงคล” กล่าวอีกว่า ภาพทั้งปียังมีความเสี่ยง 2 เรื่องหลัก คือ 1.ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น และ 2.สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งล้วนยังไม่มีสัญญาณจะถึงที่สิ้นสุด

“คาดว่าหลังประกาศงบฯไตรมาส 2 จบลง นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่น่าจะปรับลดประมาณการกำไร บจ.ลง แต่คงไม่มีนัยสำคัญมาก อาจจะแค่ 4-5% หรือราว 4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากกำไรช่วงไตรมาส 2 ทำไว้ดีมาก ๆ และจะเห็นการปรับลดราคาเป้าหมายของหุ้นต่าง ๆ ลงมา จากต้นปีให้ราคาหุ้นหลาย ๆ บริษัทที่ค่อนข้างสูง ซึ่งปีนี้ถ้าเรายืนประมาณการกำไรไว้เท่าเดิม แต่ปรับ P/E ลงมา คาดว่าดัชนีเป้าหมายสิ้นปีจะอยู่ระหว่าง 1,640-1,700 จุด” นายมงคลกล่าว

คาด 4 กลุ่มหุ้นถูกหั่นเป้ากำไร

ขณะที่ “ณัฏฐ์วริน ไตรภพสกุล” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) กล่าวว่า หลังประกาศงบฯไตรมาส 2 จบลง จะมีหุ้นบางกลุ่มถูกปรับลดประมาณการกำไรลงมา ประกอบด้วย

1.หุ้นกลุ่มอาหาร จากส่วนแบ่งตลาดที่ลดลงและมีต้นทุนที่สูงกว่าคาดกดดันมาร์จิ้น และมีความเสี่ยงประเทศคู่ค้าอย่างเมียนมา

2.หุ้นกลุ่มหลักทรัพย์ จากภาวะตลาดหุ้นไทยที่ไม่ดี มีวอลุ่มการซื้อขายน้อย

3.หุ้นกลุ่มสื่อสาร จากภาวะการแข่งขันที่ยังสูงอยู่ และ 4.หุ้นกลุ่มขนส่ง ที่การแข่งขันสูงขึ้นในด้านของราคา

หุ้น 3 กลุ่มกำไรดีกว่าคาด

ขณะเดียวกันก็จะมีหุ้นถูกปรับเพิ่มประมาณการกำไร ประกอบด้วย 1.หุ้นกลุ่มโรงกลั่น จากค่าการกลั่นที่สูงกว่าคาด 2.หุ้นกลุ่มการแพทย์ จากการระบาดโควิดสายพันธุ์ BA.5 ที่ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น หนุนรายได้ให้บริการเกี่ยวกับโควิด-19 เพิ่มเข้ามา และ 3.หุ้นกลุ่มท่องเที่ยว จากการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรมที่ดีกว่าคาด หลังจากเปิดประเทศตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว

“กำไรกลุ่มหุ้นที่ปรับลด ถือว่าค่อนข้างบางกว่ากำไรกลุ่มหุ้นที่ถูกปรับขึ้น เช่น โรงกลั่นที่ฐานกำไรค่อนข้างสูง ฉะนั้นหักลบกลบกันแล้วอาจจะเป็นการปรับประมาณการกำไรเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ เพราะโดนดึงด้วยเซ็กเตอร์มาร์เก็ตแคปใหญ่”

ด้านปัจจัยเสี่ยงครึ่งปีหลังต้องระวัง คือ ทิศทางดอกเบี้ยที่กระทบต้นทุน และภาวะเงินเฟ้อ รวมไปถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ ไต้หวันและจีน อาจเป็นประเด็นกดดันระยะสั้นได้ ซึ่งต้องจับตาความเสี่ยงนี้ต่อไป โดยปีนี้ประเมิน EPS ที่ 94 บาท เพิ่มขึ้น 10% YOY โดยคาดการณ์ดัชนีเป้าหมายสิ้นปีอยู่ที่ 1,650 จุด

จะเห็นได้ว่า กำไร บจ.ทยอยฟื้นจากไข้โควิดแล้ว แต่ก็ต้องมาเจอกับปัจจัยเสี่ยงใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยขาขึ้น สงครามรัสเซีย-ยูเครน และล่าสุดปัญหาความขัดแย้งที่อาจจะลุกลามบานปลายได้ทุกขณะในกรณีไต้หวันกับจีน