ธปท.บี้แบงก์ปล่อยสินเชื่อสีเขียว-เล็งไตรมาส 3 คลอดเกณฑ์กำกับ

ปล่อยกู้

ธปท.บี้แบงก์ปรับธุรกิจ ปล่อยสินเชื่อสีเขียว-รับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม เดินหน้าออกเกณฑ์กำกับในไตรมาส 3 นี้ ตีกรอบแผนธุรกิจต้องมีกลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อม นำร่องปล่อยสินเชื่อสีเขียวในภาค “พลังงาน-ขนส่ง” พร้อมให้ตั้งเป้าหมาย-ส่งรายงานทุกปี

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (financial landscape)

และได้มีการทยอยออกแนวนโยบายในแต่ละด้านออกมา เพื่อพัฒนาภาคการเงินไทย โดยก่อนหน้านี้ได้ออกแนวนโยบายด้านดิจิทัลไป ล่าสุดจึงได้มีแนวนโยบายภาคการเงินในการสนับสนุนความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมตามมา

“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ เนื่องจากไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ติดอันดับ 9 ของประเทศทั่วโลก เพราะแรงงาน 1 ใน 3 อยู่ในภาคเกษตร และการผลิตกว่า 13% ของจีดีพียังอยู่ในโลกเก่า ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของสหภาพยุโรป

ขณะเดียวกัน ไทยยังมีบางจุดที่ปรับตัวช้ากว่าประเทศอื่น แม้ว่าธุรกิจขนาดใหญ่เริ่มปรับตัวไปแล้ว โดยเข้าเป็นสมาชิกดัชนี DJSI หรือ Dow Jones Sustainability Index 24 บริษัท สูงสุดในอาเซียน แต่กลุ่ม SMEs ที่มีสายป่านสั้น ยังปรับตัวได้ยาก ดังนั้น ธปท.จึงได้กำหนดแนวนโยบายออกมา”

ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ภายในไตรมาส 3 นี้ ธปท.จะออกแนวนโยบายการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงิน เพื่อให้สถาบันการเงินผนวกแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมที่มีมาตรฐานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน

และการสร้างแรงจูงใจให้กับธุรกิจผ่านธุรกรรมการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งจะทำควบคู่การกำหนดนิยามที่เป็นมาตรฐานกลาง เพื่อกำหนดและจัดกลุ่มธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม (taxonomy) ให้แล้วเสร็จภายในต้นปี 2566

โดยจะเริ่มจากกำหนดนิยามกลุ่มพลังงานและขนส่ง และเฟสถัดไปจะเป็นกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกค่อนข้างสูง

“ภายในต้นปี 2566 สถาบันการเงินจะต้องส่งรายงานแผนกลยุทธ์และเป้าหมายทางด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินเชื่อสีเขียว, เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก, กรีนบอนด์ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูล ซึ่ง ธปท.จะมีการติดตามการทำงาน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่น 1 ใน 3 ปีข้างหน้าจะมีสัดส่วนสินเชื่อสีเขียวเท่าไร โดยสถาบันการเงินจะต้องส่งรายงานทุกปี”

อย่างไรก็ดี ในแต่ละสถาบันการเงินอาจจะมีเป้าหมายแตกต่างกันตามขนาดและธุรกิจ แต่อย่างน้อยจะต้องทำตามเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ หากสถาบันการเงินไม่ทำด้านสิ่งแวดล้อมจะส่งผลต่องบดุล (balance sheet)

เพราะปัจจุบันนักลงทุนและผู้ถือหุ้นคำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่หาดำเนินการได้ จะมีผลดีต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) ซึ่งจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินที่ต้นทุนดีขึ้น

“เราต้องการให้แบงก์ปรับตัวเข้าสู่เป้าหมายเรื่อง green เพื่อรับมือกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แต่เราก็ไม่ได้อยากเห็นการหุบร่มของแบงก์ ว่าลูกค้ารายไหนไม่กรีนจะถูกตัดสินเชื่อ

แต่อยากให้แบงก์และธุรกิจค่อย ๆ ปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากสีเหลือง ๆ มาสู่สีเขียวมากขึ้น แม้จะไปได้ไม่เร็ว แต่ก็ไม่ควรช้าเกินไป เพราะเรามีการค้าขายกับต่างประเทศ ถ้าเราช้าเราจะตกขบวนได้ และอาจส่งผลกระทบในระยะยาว”

ดร.รุ่งกล่าวด้วยว่า การดำเนินงานภายใต้สิ่งแวดล้อมจะประกอบด้วย การวางรากฐาน 5 ด้าน คือ 1.การปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงิน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ 2.จัดทำมาตรฐานกลางที่กำหนดนิยามให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

3.ร่วมพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านสิ่งแวดล้อมและมีการเปิดเผยข้อมูล 4.สนับสนุนการสร้างแรงจูงใจ เช่น สินเชื่อเพื่อการปรับตัว เป็นต้น และ 5.ยกระดับองค์ความรู้และความชำนาญของบุคลากรภาคการเงิน