ประชุม Jackson Hole ปีนี้ ชี้ชะตาการเงินโลก

จับตาค่าเงินบาทหลังนโยบายเฟด
REUTERS/File Photo

ทำไมปีนี้นักลงทุนทั่วโลกถึงให้ความสนใจการประชุม Jackson Hole นั่นเพราะเป็นการชี้ชะตาการเงินโลก โดยพบสถิติย้อนหลังประชุม 7 ปีที่ผ่านมา ผลตอบแทน S&P 500 เป็นบวก ยกเว้นปี 62 

วันที่ 25 สิงหาคม 2565 การประชุม Jackson Hole หรือการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ที่จัดขึ้นในช่วงเดือน ส.ค.ของทุกปี ณ เมืองแจ๊กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยหัวข้อการประชุมปีนี้จัดขึ้นภายใต้ประเด็น “Reassessing Constraints on the Economy and Policy” ในช่วงระหว่างวันที่ 25-27 ส.ค. 65

ทำไมปีนี้นักลงทุนทั่วโลกถึงให้ความสนใจ ?

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) รายงานว่า โดยข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาในปีนี้ส่วนใหญ่สร้างเซอร์ไพร์สให้กับตลาด ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อ (CPI) และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ที่ทุบสถิติใหม่ในรอบกว่า 40 ปี ในเดือน มิ.ย. 65 ถึงแม้เดือน ก.ค. 65 จะเริ่มเห็นการชะลอตัวลงตามราคาพลังงานที่ลดลง

ขณะที่ตัวเลข PCE และ Core PCE ซึ่งเป็นตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่เฟดสนใจ และใช้ประเมินนั้น ถึงแม้ว่าจะเริ่มเห็นการชะลอตัวลง หากแต่เทียบกับเป้าหมายที่เฟดตั้งไว้ที่ 2% ถือว่ายังหากมาก

และแผนลดขนาดงบดุลของเฟดที่จะมีความ Aggressive มากขึ้น ตั้งแต่เดือน ก.ย. 65 เป็นต้นไป เดือนละ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดือนละ 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่เริ่มขึ้นแล้วในเดือน มิ.ย.-ส.ค. 65 ที่ผ่านมา

กางผลตอบแทน S&P 500 ย้อนหลัง 7 ปี

โดยจากข้อมูลสถิติย้อนหลังการประชุมช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เทียบกับดัชนี S&P 500 พบว่า 1.การประชุมวันที่ 27-29 ส.ค. 58 ผลตอบแทน S&P 500 ปรับตัว +1.60% 2.การประชุมวันที่ 25-27 ส.ค. 59 ผลตอบแทน S&P 500 ปรับตัว +0.20% 3.การประชุมวันที่ 24-26 ส.ค. 60 ผลตอบแทน S&P 500 ปรับตัว +0.00%

4.การประชุมวันที่ 23-25 ส.ค. 61 ผลตอบแทน S&P 500 ปรับตัว +1.20% 5.การประชุมวันที่ 22-24 ส.ค. 62 ผลตอบแทน S&P 500 ปรับตัว -1.60% 6.การประชุมวันที่ 27-28 ส.ค. 63 ผลตอบแทน S&P 500 ปรับตัว +0.80% และ 7.การประชุมวันที่ 27 ส.ค. 64 ผลตอบแทน S&P 500 ปรับตัว +1.30%

ทั้งนี้ เห็นได้ว่าไม่ว่าโทนของการประชุมจะออกมาในทิศทางที่เป็นบวกหรือเป็นลบ ตลาดหุ้นจะสร้างอัตราผลตอบแทนเป็นบวก หากโทนเสียงของประธานเฟดต่อการให้มุมมองเศรษฐกิจสหรัฐ และการดำเนินนโยบายการเงิน แสดงถึงความมั่นใจว่าเศรษฐกิจสหรัฐในระยะถัดไปจะยังคงแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ อ้างอิงจากผลการศึกษาที่พบว่าปี 2562 เป็นการประชุมปีเดียวที่สร้างผลตอบแทนที่ติดลบ และเป็นปีที่ประธานเฟดแสดงท่าทีกังวลต่อภาพเศรษฐกิจสหรัฐ หลังมีประเด็นสงครามการค้าสหรัฐกับจีน ถึงแม้ว่าช่วงเวลาดังกล่าว เฟดมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย และลดการทำ QE Tapering เพื่อพยุงเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นบวกต่อตลาดหุ้นก็ตาม

คาดโทนเสียงประธานเฟด หนักแน่นใช้นโยบาย Hawkish


แม้ปีนี้จะเป็นปีที่ท้าทายของเฟด จากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัว ซึ่งมีผลต่อทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน แต่ บล.ฟิลลิปมองว่าโทนเสียงของประธานเฟดจะยังคงความหนักแน่น ว่าแนวทางการดำเนินนโยบายเชิง Hawkish ในปัจจุบัน ทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ควบคู่กับการทำ QT จะไม่สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐ โดยยังจะนำพาเศรษฐกิจสหรัฐให้เติบโตไปได้แข็งแกร่ง และสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนตอบรับเชิงบวกในการประชุมครั้งนี้