เกษตรกรจมหนี้ 2 ปีชำระไม่ไหว ธ.ก.ส.แบก NPL พุ่ง 10% ส่อตั้งสำรองเพิ่ม

เกษตรกร เงิน

ธ.ก.ส.เอ็นพีแอลทะลัก 10% ชี้เกษตรกรเจอสารพัด จมหนี้ด้อยศักยภาพชำระนาน 2 ปี เร่งเข้าช่วยปรับโครงสร้าง “ยืดอายุหนี้-ลดดอกเบี้ยสูงสุด 50-ตรึงดอกกู้ให้นานที่สุด” พร้อมเดินหน้าสร้างรายได้-ปล่อยสินเชื่อเติมสภาพคล่อง ตั้งเป้าทั้งปีกด NPL ลงเหลือ 7-8.99%

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมา เกษตรกรได้รับผลกระทบหลายทาง นอกจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว ยังมีปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบหลายส่วน ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ทั้งค่าปัจจัยการผลิต น้ำมันเชื้อเพลิง

รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้รายได้ที่เคยมีลดลง ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนผ่านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของ ธ.ก.ส. ที่ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 10% ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2565 ซึ่งต้องบอกว่า ในแง่หนี้เสียสินเชื่อภาคการเกษตร ในส่วนของสถาบันการเงินอื่นตัวเลขก็ใกล้เคียงกัน

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาแนวโน้ม NPL ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน หนี้เสียมีแนวโน้มลดลงตามลำดับ เพราะก่อนออกจากโควิด ก็ยังมีช่วงพักชำระหนี้อยู่ อย่าง ธ.ก.ส. ที่พักหนี้ให้ลูกค้านานกว่า 2 ปี เมื่อจบมาตรการแล้วก็ต้องให้เวลาเกษตรกรระยะเวลาหนึ่ง เนื่องจากช่วงที่เกษตรกรมีรายได้ จะอยู่ในช่วงเดือน ธ.ค.-มี.ค. จึงจะเห็นว่าเกษตรกรมีศักยภาพในการชำระหรือไม่

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.จะเข้าไปดูแลลูกค้าเพิ่มเติม โดยประเมินว่า หากเป็นลูกหนี้กลุ่มที่มีศักยภาพ ก็จะมีเครื่องมือเข้าไปช่วยให้สามารถชำระหนี้เองได้ ด้วยการลด และคืนดอกเบี้ยให้ ส่วนเกษตรกรที่มีศักยภาพด้อยลงมา ก็จะมีการยืดอายุหนี้ออกไปให้

จากเดิมอาจจะมีการเข้ามาทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือหากชำระดอกเบี้ยเข้ามา ธ.ก.ส.ก็จะนำไปตัดเงินต้นให้ โดยการนำดอกเบี้ยบางส่วนไปวางไว้ในงวดท้าย ๆ ส่วนกรณีเป็นหนี้ค้างชำระ หากเข้ามาชำระหนี้ และมีวินัยดี ธ.ก.ส.จะยกดอกเบี้ยให้ 30-50%

“เราประเมินว่า 1-2 ปีข้างหน้า เกษตรกรอาจจะมีการชำระหนี้ด้อยลงมา แต่ในอนาคตเกษตรกรมีโอกาสที่จะมีศักยภาพมากขึ้น ฉะนั้น ในช่วง 1-2 ปีนี้ เกษตรกรอาจจะมีศักยภาพในการชำระหนี้น้อยกว่าปกติ แต่เราก็จะเข้าไปดูแลทั้งผ่านโครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน

ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่อยากเห็นสถาบันการเงินเข้าไปช่วยเหลือลูกค้า และ ธ.ก.ส.ก็จะมีการสร้างอาชีพเสริมให้กับเกษตรกร โดยต้องเข้าไปดูศักยภาพของแต่ละชุมชน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น” นายธนารัตน์กล่าว

นอกจากนี้ ยืนยันว่าธนาคารจะตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้นานที่สุด เพื่อบรรเทาภาระการชำระหนี้ของเกษตรกร ส่วนการปรับเพิ่มดอกเบี้ยเงินฝากนั้น ขณะนี้ดอกเบี้ยเงินฝาก 12 เดือนของธนาคารยังสูงกว่าสถาบันการเงินหลายแห่ง

ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส.ยังเดินหน้าที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง โดยคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ได้เห็นชอบขยายเวลาสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย เพื่อดูแลกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร วงเงิน 30,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0.01% หรือดอกเบี้ยล้านละร้อยบาท ออกไปอีก 2-3 ปี เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับเกษตรกร

นายธนารัตน์กล่าวว่า ธ.ก.ส.คาดว่าถึงสิ้นปีบัญชี 2565 นี้ NPL จะลงไปอยู่ที่ระดับ 7-8.99% ซึ่งยอมรับว่าอาจจะเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ดี ธนาคารก็มีการตั้งสำรองหนี้เสียรองรับไว้พอสมควร ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4 แสนล้านบาท โดยธนาคารมีเป้าหมายในการตั้งสำรองเชิงคุณภาพและสำรองทั่วไปไว้ทุกปี

“ถามว่าปีนี้จะเพิ่มการตั้งสำรองขึ้นอีกเท่าไหร่นั้น จะต้องติดตามสถานการณ์หนี้ของเกษตรกรที่จะเห็นตัวเลขแท้จริงในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปีบัญชี 2565 นี้ก่อน” ผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าว