คลังจับมือ ธปท. จัดมหกรรมแก้หนี้สัญจร ลดปัญหาหนี้ครัวเรือน

หนี้ หนี้ครัวเรือน

คลัง จับมือ ธปท. จัดมหกรรมแก้หนี้สัญจร “กทม.-4 ภูมิภาค” ในช่วงเดือน พ.ย. 65-ม.ค. 66 หวังลดปัญหาหนี้ครัวเรือน ชี้ที่ผ่านมาแบงก์รัฐพักหนี้ช่วยดูแลประชาชนกว่า 10 ล้านราย พร้อมออกมาตรการดูแลหนี้ตำรวจ-ข้าราชการครู-ลูกหนี้ กยศ.

วันที่ 1 กันยายน 2565 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลได้กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้ครัวเรือน กระทรวงการคลังจึงได้ร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐจัดมหกรรมร่วมใจแก้ไขหนี้สัญจร ทั้งในกรุงเทพมหานคร และอีก 4 ภูมิภาคทั่วประเทศไทย ระหว่างในช่วงเดือน พ.ย. 65-ม.ค. 66 ซึ่งจะเป็นการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ ฝึกอาชีพ ส่งเสริมความรู้ทางการเงินควบคู่กับการสร้างวินัยทางการเงิน รวมถึงการสนับสนุนให้ประชาชนที่มีความจำเป็นสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินของรัฐ

พรชัย ฐีระเวช
พรชัย ฐีระเวช

“การแก้หนี้ที่ยั่งยืนนั้น นอกจากไกล่เกลี่ยและบรรเทาภาระหนี้ที่มีอยู่เดิมแล้ว สิ่งสำคัญคือการสร้างทักษะทางการเงินและความรู้ในการประกอบอาชีพแก่ประชาชนรายย่อย เพื่อให้สามารถมีรายได้ที่เพียงพอและมั่นคง และสามารถบริหารจัดการทางการเงินต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม คลังได้มีการผลักดันให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจพัฒนาองค์ความรู้ทางการเงิน ความรู้ในการประกอบอาชีพ และความรู้ด้านดิจิทัล เพื่อนำไปสื่อสารให้แก่ประชาชน รวมถึงมีแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565-2570 โดยมีเป้าหมายในการปลูกฝังความรู้ทางการเงินตั้งแต่เด็ก และต้องศึกษาเรียนรู้เรื่องนี้ไปตลอดช่วงอายุของชีวิต”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสถาบันการเงินของรัฐ (SFIs) ก็ได้มีการเข้าไปช่วยเหลือประชาชนผ่านมาตรการพักหนี้แล้วกว่า 10 ล้านราย เป็นมูลหนี้กว่า 4.5 ล้านล้านบาท และขณะนี้ยังมีลูกหนี้ที่ยังอยู่ระหว่างการพักหนี้ 3.5 ล้านราย มูลค่ารวมกว่า 1.3 ล้านล้านบาท ส่วนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ก็มีการยืดระยะเวลาการชำระหนี้ ลดดอกเบี้ยคงค้าง ลดค่างวด เพื่อให้ลูกหนี้มีภาระที่ลดลง โดยมีลูกหนี้เข้าข่ายรับความช่วยเหลืออยู่ 2 ล้านราย

นอกจากนี้ ยังมีการลดอัตราดอกเบี้ยในส่วนที่กระทรวงการคลังดูแล ผ่านสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เพื่อลดปัญหาการก่อหนี้นอกระบบ ขณะเดียวกัน ในด้านการกู้ยืมเพื่อการศึกษา กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ก็มีการลดเบี้ยปรับ ยกเลิกการค้ำประกันสำหรับผู้กู้รายใหม่ และชะลอฟ้องคดีแล้วกว่า 3.4 ล้านบัญชี รวมทั้งยังอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น

นายพรชัยกล่าวว่า ส่วนการแก้ปัญหาหนี้สินของข้าราชการนั้น ในส่วนของตำรวจ ที่ผ่านมามีการเข้าไปช่วยปรับโครงสร้างหนี้แล้วกว่า 7,200 ราย ซึ่งแก้ไขหนี้เสร็จสิ้นแล้ว 5,400 ราย และอยู่ระหว่างแก้ไขหนี้อีก 1,700 ราย ซึ่งสหกรณ์ตำรวจก็ได้มีการออกมาตรการลดภาระดอกเบี้ย โดยร่วมมือกับธนาคารออมสิน ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำประมาณ 2% ซึ่งมีสหกรณ์เข้าร่วมแล้วกว่า 47 แห่ง

ด้านการแก้ไขหนี้ครูนั้น มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สหกรณ์ครูเหลือไม่เกิน 5% ปรับเกณฑ์การตัดจ่ายเงินเดือนให้ครูเหลือเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 30% โดยมีสหกรณ์ที่เข้าร่วมลดดอกเบี้ยแล้วกว่า 70 แห่ง สมาชิกได้รับประโยชน์ 4.63 แสนคน มีการปรับโครงสร้างหนี้ 3,623 ราย