บอร์ด ก.ล.ต. กำชับ 4 เรื่องคุมเข้มตลาดคริปโต-ขีดเส้นตาย 17 วัน “ซีทีโอบิทคับ” ไม่ชำระค่าปรับทางแพ่ง เตรียมส่งอัยการฟ้องศาลรับโทษสูงสุด-สั่งบริษัทถอนป้ายบิลบอร์ดโฆษณาเหรียญคริปโตภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ 1 ก.ย. เผยกำลังรวบรวมข้อมูลเอาผิด “Zipmex” ฐานประกอบธุรกิจอื่น
วันที่ 2 กันยายน 2565 นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า หลังจากการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. (บอร์ด) ประจำเดือนกันยายน เมื่อวันที่ 1 ก.ย.65 ที่ผ่านมา ทางบอร์ดเป็นห่วงและกำชับสำนักงานใน 4 เรื่องหลักเกี่ยวกับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลคือ
1.เนื่องจากกฎเกณฑ์กติกาตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 อาจจะมุ่งเน้นการโปรโมท ก.ล.ต.ต้องไปพิจารณาว่าได้ปิดช่องว่างที่เพียงพอแล้วหรือไม่ ขณะเดียวกันกฏเกณฑ์กติกานั้นจะต้องทำให้เกิดความคุ้มครองแก่ผู้ลงทุนได้ในระดับที่เหมาะสมด้วย
“ซึ่งตาม พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ก.ล.ต.จะต้องทำหน้าที่ 2 ข้างบาลานซ์ระหว่างไม่เข้มงวดเกินไปโดยไม่เน้นการโปรโมท และไม่โปรโมทเกินไปโดยไม่เน้นการให้ความคุ้มครองนักลงทุน คือเราเหมือนเป็นลูกตุ้มที่ต้องบาลานซ์สองส่วนนี้ให้ได้”
2.ผลกระทบจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดคริปโตเคอร์เรนซี ก.ล.ต.ได้พิจารณากฎเกณฑ์กติกาครบหรือไม่ ซึ่งในเบื้องต้นตามกฎหมายระบุไว้ชัดแล้วว่า ธุรกิจอื่นห้ามแตะต้องทรัพย์สินของลูกค้าอันเป็นการก่อให้เกิดความเสี่ยง และได้มีการกำหนดคุณสมบัติผู้บริหารไว้อย่างชัดเจน และล่าสุดก็ได้เข้าไปควบคุมการโฆษณาคริปโต
3.ต้องติดตามการออกเกณฑ์กติกาของสากลว่าเป็นอย่างไร ซึ่งปัจจุบันแนวทางการกำกับดูแลของ ก.ล.ต.ไทยอยู่ในระดับเดียวกับสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และอังกฤษ
และ 4.การบังคับใช้กฏหมาย โดยหากกระทำผิดตาม พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 กรณีไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด (Business Conduct) มีอัตราโทษไม่เกิน 3 แสนบาท และปรับไม่เกินวัน 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรา 67 และกรณีกระทำผิดอันเป็นไม่ธรรม(สร้างราคา/ใช้ข้อมูลภายใน) ค่าปรับทางแพ่งไม่เกิน 2 เท่าของผลประโยชน์ แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท (กรณีไม่สามารถคำนวณผลประโยชน์ได้กำหนดค่าปรับ 5 แสนบาทถึง 2 ล้านบาท
ขีดเส้นตาย 17 วัน ซีทีโอบิทคับ ส่งอัยการฟ้องศาล
เลขาธิการ ก.ล.ต. ได้กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) ซึ่งมีองค์คณะ 5 ท่าน ได้แก่ 1.อัยการสูงสุด 2.ปลัดกระทรวงการคลัง 3.อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ 4.ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และ 5.เลขาธิการ ก.ล.ต.
ได้มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับนายสำเร็จ วจนะเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด (BBT) กรณีซื้อโทเคนดิจิทัล Bitkub Coin (เหรียญ KUB) โดยเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน กำหนดโทษค่าปรับเป็นเงินทั้งสิ้น 8,530,383 บาท
โดยเบื้องต้นหลังจากที่ ก.ล.ต.ได้มีหนังสือส่งไปหาเจ้าตัว(เมื่อวันที่ 30 ส.ค.65) ภายใน 10 วันจะต้องเข้ามาพบ ก.ล.ต.เพื่อชี้แจงรายละเอียดที่เกิดขึ้น และหลังจากนั้นจะมีเวลา 7 วันในการตัดสินใจชำระเงิน ถ้าไม่ยินยอม ก.ล.ต.จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด
นายเอนก อยู่ยืน ผู้ช่วยเลขาธิการสายบังคับใช้กฎหมาย ก.ล.ต. กล่าวว่า จากสถิติการใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งของ ก.ล.ต.นับตั้งแต่ปี 2560-ปัจจุบัน มีสัดส่วนประมาณ 20% ที่ไม่ยินยอมชำระเงิน แต่ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปีแรก โดยตั้งแต่ปี 2562 มาจนถึงปัจจุบัน เหลือ 10% ที่ไม่ยินยอมชำระเงิน โดยมีประมาณ 3-4 คดี ที่เข้าสู่การฟ้องคดีต่อศาลเพื่อรับโทษในอัตราสูงสุดตามกฎหมาย ซึ่ง ก.ล.ต.ชนะทุกกรณีที่ฟ้องตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ
“โดยค่าปรับโทษทางแพ่งในอัตราสูงสุดจะขึ้นอยู่กับการกระทำผิดในแต่ละเรื่อง ยกตัวอย่าง การปั่นหุ้นหรือใช้ข้อมูลภายใน ปกติกฎหมายกำหนดต้องชดใช้เงิน 2 เท่าของผลประโยชน์ที่ได้รับ และมีค่าเรียกคืนผลประโยชน์ เช่น ถ้ามีกำไร 1 ล้านบาท และไม่ยิมยอมชำระเงินจนต้องเข้าสู่การฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อรับโทษในอัตราสูงสุด ซึ่งกรณีนี้ต้องจ่ายค่าปรับ 2 ล้านบาทจากผลประโยชน์กำไร ฉะนั้นเบ็ดเสร็จรวมเงินที่ต้องจ่ายเท่ากับ 3 ล้านบาท แล้วต้องบวกดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ฟ้องอีกด้วย”
ทั้งนี้กรณีอินไซด์หุ้นหรืออินไซด์เหรียญ ขอเน้นย้ำว่าการใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งเป็นมาตรการที่เหมาะสม แต่เมื่อไรที่ ก.ล.ต.มองว่าเป็นกรณีที่รุนแรงก็สามารถดำเนินคดีอาญาได้ โดยส่งให้พนักงานสอบสวน ซึ่งปัจจุบันทำงานร่วมกันอยู่แล้ว เพื่อทำให้การดำเนินคดีต่าง ๆ มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น
ส่วนความคืบหน้ากรณีที่บอร์ด ก.ล.ต.มีคำสั่งให้บิทคับดำเนินการแก้ไขการคัดเลือกและอนุมัติเหรียญ KUB เข้ามาให้บริการในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลภายในวันที่ 4 ส.ค.65 แต่บิทคับได้ขอขยายเวลา ซึ่งบอร์ด ก.ล.ต.ก็ได้อนุมัติให้ไปแล้ว และล่าสุดทางบิทคับได้ส่งเรื่องการดำเนินการแก้ไขมาให้แล้ว ตอนนี้ ก.ล.ต.อยู่ระหว่างพิจารณา และจะส่งเข้าบอร์ด ก.ล.ต.อีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่แน่ใจว่าจะพิจารณาและสามารถเสนอที่ประชุมบอร์ด ก.ล.ต.ในเดือน ต.ค.65 ได้ทันหรือไม่
สั่งถอนป้ายโฆษณาเหรียญคริปโตภายใน 30 วัน
เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวถึงกฎเกณฑ์กำกับการโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ก.ย.65 ว่า สาระสำคัญคือ 1.ต้องโฆษณาไม่เกินความจริง 2.มีการแสดงข้อมูลด้านบวกหรือโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทน และต้องมีการแสดงข้อมูลด้านลบหรือความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลควบคู่กัน (balanced view)
และ 3.กำหนดให้โฆษณาคริปโตทำได้ในช่องทางทางการของผู้ประกอบธุรกิจ (official channel) เท่านั้น (กรณีโปรโมทธุรกิจเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่เจาะยี่ห้อเหรียญยังสามารถโฆษณาผ่านสื่อทั่วไปได้ทั้งหมด)
และสำหรับผู้ประกอบการรายใดมีการเผยแพร่โฆษณาอยู่ก่อนแล้ว เช่น โฆษณาบนบิลบอร์ด, สื่อกลางแจ้ง เป็นต้น ต้องถอนออกภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ โดยได้ส่งหนังสือและสั่งให้แต่ละบริษัทดำเนินการตามกำหนดและทำตรารับรองส่งกลับมาให้ ก.ล.ต.รับทราบด้วย
รวบรวมข้อมูลเอาผิด Zipmex ประกอบธุรกิจอื่น
นางสาวรื่นวดี กล่าวเพิ่มว่า ส่วนกรณีบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex) ที่ได้เปรียบเทียบปรับไปจำนวน 2 กรณี รวมเป็นเงิน 1,920,000 บาท กรณีแรก 540,000 บาท และกรณีที่สอง 1,380,000 บาท เนื่องจากวันที่ 20-28 ก.ค.65 ระงับการให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมดหรือบางส่วน และวันที่ 20 ก.ค.-25 ส.ค. ระงับการให้บริการฝากถอนทรัพย์สินของลูกค้าใน Trade wallet และ Z-wallet ซึ่งไม่เป็นไปตามเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Trading Rules)
และสำหรับความเสียหายจากผลิตภัณฑ์ ZipUp+ มูลค่า 2,000 ล้านบาท ผู้เสียหายกว่า 6 หมื่นคนนั้น ตอนนี้ ก.ล.ต.อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเอาผิดซิปเม็กซ์ฐานประกอบธุรกิจอื่น และกำลังติดตามในวันที่ 14 ก.ย.65 ที่ซิปเม็กซ์จะมี Townhall
“หน้าที่ของรัฐต้องให้ความเป็นธรรมทุกฝ่ายอยู่แล้ว แต่การเป็นหน่วยงานรัฐ เรารับทราบข่าวสารหรือประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโซเชียล แต่ก็ไม่ได้ออกไปตอบโต้อะไร” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว