สมาคมแบงก์เร่งถก “คลัง-ธปท.” ชะลอเงินนำส่ง FIDF ห่วงต้นทุนขาขึ้น

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย (TBA)

สมาคมธนาคารไทย เร่งถกกระทรวงคลัง-ธปท. ปมเงินนำส่ง FIDF 0.46% หารือชะลอหรือปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป หลังจะกลับมานำส่งเต็มจำนวน 1 ม.ค. 66 หวั่นเป็นภาระสูงขึ้นในช่วงดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้น รับฝืนกลไกตลาดไม่ได้ ส่งสัญญาณรายใหญ่แข็งอาจปรับดอกเบี้ยก่อน เน้นช่วยกลุ่มเปราะบางตรงจุด

วันที่ 7 กันยายน 2565 นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย (TBA) กล่าวว่า ตอนนี้สมาคมธนาคารไทย อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่องแนวทางการนำส่งเงินเข้าสู่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่จะกลับมาจ่ายในอัตราเดิมที่ 0.46% ในวันที่ 1 มกราคม 2566 จากปัจจุบันลดเงินนำส่งเหลืออยู่ที่ 0.23% ซึ่งอยากให้การปรับเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ทั้งนี้ การปรับขึ้นเงินนำส่งสู่ระดับ 0.46% จะเป็นการส่งผ่านต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ภายใต้การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) ซึ่งหากมีการปรับเข้าสู่ระดับเดิม 0.46% ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ปรับขึ้นตามกลไก เนื่องจากในระหว่างที่มีการปรับลดเหลือ 0.23% สถาบันการเงินได้มีการปรับดอกเบี้ยในระบบลดลงประมาณ 0.50%

ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งหมด ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่จะฝืนกลไกตลาดไม่ได้ เพียงแต่เป็นการชะลอจนหาจุดสมดุลให้เจอ โดยในมุม ธปท.ก็มีการส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ต้องตามเหมือนในหลายประเทศ ซึ่งจะพิจารณาตามโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นสำคัญ สะท้อนผ่านค่าเงินบาทที่อ่อนค่าชัดเจน และภาคธุรกิจเองก็ต้องปรับตัว

และหากจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะต้องมีการคัดกลุ่มเปราะบางออกมา เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบดังกล่าว และปรับในส่วนของกลุ่มที่มีความพร้อมและแข็งแรง เช่น กลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ธนาคารแต่ละแห่งจะมีพอร์ตลูกค้าที่แตกต่างกัน เช่น บางธนาคารลูกค้ากลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อาจจะแข็งแรงกว่าอีกธนาคาร จึงเป็นเรื่องที่ธนาคารต้องกลับไปดูผลกระทบต่อลูกค้า ซึ่งมาตรการการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางจะต้องตรงจุดมากขึ้น โดยไม่ฝืนตลาดจนเกินไป


“ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงอัตราที่เหมาะสม ซึ่งก็มีทางเลือกทั้งการเลื่อนปรับการชำระเข้าสู่ระดับเดิมออกไป หรือปรับเพิ่มจากอัตราลดหย่อนแต่ยังไม่กลับเท่าระดับเดิม ซึ่งจะเป็นอัตราใดก็จะต้องหารือถึงความเหมาะสมก่อน ซึ่งก็มีการคุยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องบอกก่อนว่าต้นทุน FIDF เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 40 ซึ่งตอนนั้นดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.5-1.7% แต่เทียบตอนนี้ไม่ถึง 1% จึงต้องมองให้ครบ 2 ด้าน คือ ดอกเบี้ยนโยบาย และการลดต้นทุนการเงินที่ไม่ปกติเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะเงินที่ลดเป็นเงินของคลัง ซึ่งคลังก็มีความจำเป็นต้องใช้ในโครงการต่าง ๆ เช่นกัน”