สมาคมแบงก์ ตรึงดอกเบี้ยอุ้มหนี้กลุ่มเปราะบาง จ่อขยับลูกค้ารายใหญ่ก่อน

สมาคมแบงก์ ตรึงดอกเบี้ยอุ้มหนี้กลุ่มเปราะบาง

“สมาคมธนาคารไทย-ธนาคารสมาชิก” ยันตรึงดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก ชะลอผลกระทบ พร้อมช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง-เอสเอ็มอี จากผลกระทบดอกเบี้ยขาขึ้น สกัดเกิดหน้าผาเอ็นพีแอล แย้มดอกเบี้ยรายใหญ่ยืดหยุ่นมีความเป็นไปได้ที่เห็นการปรับขึ้น

วันที่ 10 สิงหาคม 2565 นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ภายหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จาก 0.50% เป็น 0.75% นั้น ทางสมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก จะดูแลการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนสามารถสร้างสมดุลระหว่างรายรับและรายจ่ายได้ และประคับประคองให้กลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยรักษาความเหมาะสมทั้งเงินฝากและเงินกู้ ทั้งนี้ จังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ และภาคประชาชนสะดุด

ทั้งนี้ หากดูผลกระทบจากการปรับอัตราดอกเบี้ย จะเห็นว่า ลูกค้ารายใหญ่ค่อนข้างยืดหยุ่น และมีต้นทุนที่สามารถสะท้อนความเป็นจริง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะปรับดอกเบี้ยแต่ต้องขอดูเรื่องผลกระทบกลับมาในตลาดการเงิน ส่วนลูกค้ารายย่อย ในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อ บัตรเครดิต และส่วนบุคคล ใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) จะไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่สินเชื่อบ้าน แม้ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate) แต่อัตราการผ่อนค่างวดไม่ได้เปลี่ยนแปลง จึงมองว่าผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่มากนัก

ขณะเดียวกัน สมาคม และธนาคารมีมาตรการช่วยเหลือผ่านมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ยั่งยืนที่มีความยืดหยุ่นที่พร้อมจะช่วยเหลือลูกค้าในกลุ่มเปราะบางไปจนถึงสิ้นปี 2566 โดยแต่ละธนาคารจะมีการจัดทำมาตรการช่วยเหลือผ่านโปรดักต์โปรแกรม เช่น ลดยอดค่างวด ลดดอกเบี้ย ตามความจำเป็น และติดตามช่วยเหลือลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดหน้าผาหนี้ที่ไม่ก่อรายได้ (NPLs Cliff) เนื่องจากยังมีกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แม้ว่าแนวโน้มคุณภาพสินเชื่อจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะกระทบลูกค้ากลุ่มนี้ ซึ่งอาจจะต้องเข้ามาตรการช่วยเหลือจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวในลักษณะ K Shaped Economy

“เราไม่สามารถเหมาเข่งว่าลูกค้ากระทบหมด โดยกลุ่มเปราะบางต้องได้รับการดูแลเราก็จัดทรัพยากรลงไปดูแล เราต้องดูให้ตรงจุด เพราะไม่อย่างนั้นจะเป็นการแบกภาระทั้งระบบ ซึ่งแต่ละธนาคารจะทราบว่ากลุ่มเปราะบาง คือ กลุ่มไหนบ้าง และมาตรการช่วยเหลือยังคงเปิดรับตามสถานะของลูกหนี้แต่ละราย เพราะการทำแบบเหมาเข่งอาจจะกระทบเงินฝากได้”

อย่างไรก็ดี กรณีการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารนั้น มองว่า ความตั้งใจของสมาคม คือ การประคองชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่การปรับขึ้นคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จะสามารถชะลอได้แค่ไหนต้องดูว่าจะกระทบโครงสร้างเงินฝากหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละธนาคารได้ทำผลทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะกระทบกลุ่มไหนอย่างไรบ้าง ซึ่งการปรับตัวอาจจะไม่เหมือนกัน เนื่องจากแต่ละธนาคารมีพอร์ตที่แตกต่างกัน ซึ่งบางธนาคารอาจมีความละเอียดอ่อนในเรื่องเงินฝาก ต้นทุนการเงิน แต่จุดสำคัญ คือ การดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบาง

“การปรับขึ้นดอกเบี้ยคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราประคองไปได้แค่ไหนคงต้องดูสัญญาณจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.ในระหว่างทางจากนี้ แต่หากดูวันนี้ตลาดได้รับรู้ว่าดอกเบี้ยจะปรับขึ้นอีก 0.25% และอีก 0.25% ส่วนหากแบงก์ใดแบงก์หนึ่งจะขึ้นดอกเบี้ย เชื่อว่าทุกธนาคารจะต้องดูโครงสร้างพอร์ตของตัวเอง แต่การขึ้นจะเป็นแบบไดนามิก คงไม่ได้ปรับขึ้นแบบตูมตามคงไม่ใช่ เพราะเราต้องดูแลลระบบให้เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบ Smooth Take off ซึ่งการขยับจะเป็นไปตามสินทรัพย์และเงินทุนของธนาคาร”

ทั้งนี้ จำนวนลูกหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือจากผลกระทบโควิด-19 ทั้งมาตรการช่วยเหลือแบบเร่งด่วน และเฉพาะเจาะจง ในเดือนกรกฎาคม 2563 มีลูกค้าเข้าร่วมมาตรการสูงถึง 6.1 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้รวม 4.2 ล้านล้านบาท หลังสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น ล่าสุด ณ เดือนพฤษภาคม 2565 ลูกค้าภายใต้มาตรการลดลงเหลือ 1.6 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้เกือบ 2 ล้านล้านบาท

ขณะเดียวกัน ธนาคารได้มีการเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ผ่านสินเชื่อฟื้นฟูและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) จำนวน 3.2 แสนล้านบาท ช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ และจะเห็นว่าหนี้เอ็นพีแอลของระบบไม่สูงขึ้นมาก และคุณภาพสินเชื่อมีแนวโน้มดีขึ้น สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวชัดเจน