กนง. มติ 6 ต่อ 1 ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในรอบ 4 ปี

ปิติ ดิษยทัต กนง

ตามคาด ! คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี สมาคมแบงก์แถลงพร้อมช่วยตรึงดอกเบี้ยอุ้มหนี้กลุ่มเปราะบาง จ่อขยับลูกค้ารายใหญ่ก่อน

วันที่ 10 สิงหาคม 2565 นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.25% ต่อปี โดยคณะกรรมการ 1 เสียง ให้ขึ้นดอกเบี้ย 0.50%

พร้อมระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น โดยคาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดของ COVID-19 ได้ภายในสิ้นปีนี้และจะขยายตัวต่อเนื่องในระยะต่อไป ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง คณะกรรมการประเมินว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษเพื่อรองรับวิกฤต COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมาจึงมีความจำเป็นลดลง

กรรมการ 1 เสียงหนุนขึ้นถึง 0.50%

โดยกรรมการส่วนใหญ่เห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปีในการประชุมครั้งนี้ ส่วนกรรมการ 1 ท่านเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.50 ต่อปี เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่อาจต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต โดยประเมินว่าจะไม่กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องและมีแรงส่งชัดเจนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด ตามการผ่อนคลายนโยบายการเดินทางระหว่างประเทศและความกังวลในการเดินทางท่องเที่ยวที่ลดลง

นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากตลาดแรงงานและรายได้ครัวเรือนที่ปรับดีขึ้น ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัว แต่ผลกระทบต่อแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะมีจำกัด อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปจากต้นทุนและค่าครองชีพที่สูงขึ้น

เงินเฟ้อแนวโน้มยังสูง

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิม โดยคาดว่าจะอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง ก่อนที่จะทยอยปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 ตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานที่ทยอยคลี่คลาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางไม่ได้ปรับสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปยังมีความเสี่ยงด้านสูงจากการส่งผ่านต้นทุนไปยังเงินเฟ้อพื้นฐานที่อาจมากและเร็วกว่าคาด คณะกรรมการจะติดตามพัฒนาการเงินเฟ้อและการส่งผ่านต้นทุน รวมถึงเงินเฟ้อคาดการณ์อย่างใกล้ชิด

ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง รวมทั้งสภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายสภาพคล่องยังแตกต่างกันบ้างในแต่ละภาคเศรษฐกิจ ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

แต่บางกลุ่มยังเปราะบางโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ในสาขาธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าและครัวเรือนรายได้น้อยที่มีความอ่อนไหวต่อค่าครองชีพ

คณะกรรมการเห็นว่าควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง

ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายแต่มีความผันผวนสูง โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่าลงตามการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. เป็นหลัก จากความกังวลต่อสินทรัพย์เสี่ยงภายใต้แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ คณะกรรมการเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการและความผันผวนในตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการประเมินว่าการที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง

ทำให้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษมีความจำเป็นลดลง และเห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยให้สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า

สมาคมแบงก์พร้อมช่วยกลุ่มเปราะบาง จ่อขยับรายใหญ่ก่อน

ทางด้านนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ภายหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จาก 0.50% เป็น 0.75% นั้น ทางสมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก จะดูแลการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนสามารถสร้างสมดุลระหว่างรายรับและรายจ่ายได้ และประคับประคองให้กลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยรักษาความเหมาะสมทั้งเงินฝากและเงินกู้ ทั้งนี้ จังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ และภาคประชาชนสะดุด

ทั้งนี้ หากดูผลกระทบจากการปรับอัตราดอกเบี้ย จะเห็นว่า ลูกค้ารายใหญ่ค่อนข้างยืดหยุ่น และมีต้นทุนที่สามารถสะท้อนความเป็นจริง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะปรับดอกเบี้ยแต่ต้องขอดูเรื่องผลกระทบกลับมาในตลาดการเงิน ส่วนลูกค้ารายย่อย ในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อ บัตรเครดิต และส่วนบุคคล ใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) จะไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่สินเชื่อบ้าน แม้ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate) แต่อัตราการผ่อนค่างวดไม่ได้เปลี่ยนแปลง จึงมองว่าผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่มากนัก


ขณะเดียวกัน สมาคม และธนาคารมีมาตรการช่วยเหลือผ่านมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ยั่งยืนที่มีความยืดหยุ่นที่พร้อมจะช่วยเหลือลูกค้าในกลุ่มเปราะบางไปจนถึงสิ้นปี 2566 โดยแต่ละธนาคารจะมีการจัดทำมาตรการช่วยเหลือผ่านโปรดักต์โปรแกรม เช่น ลดยอดค่างวด ลดดอกเบี้ย ตามความจำเป็น และติดตามช่วยเหลือลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดหน้าผาหนี้ที่ไม่ก่อรายได้ (NPLs Cliff) เนื่องจากยังมีกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แม้ว่าแนวโน้มคุณภาพสินเชื่อจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะกระทบลูกค้ากลุ่มนี้ ซึ่งอาจจะต้องเข้ามาตรการช่วยเหลือจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวในลักษณะ K Shaped Economy