ขึ้นดอกเบี้ย-ขึ้นค่าแรง

Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเป็นเรื่องที่คาดหมายไว้ก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. วันที่ 10 ส.ค. ว่าถึงเวลาแล้ว หลังปัจจัยรอบด้านทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อทำให้ต้องเลือกวิธีการนี้ หลังอัตราดอกเบี้ยของไทยทรงตัวที่ระดับ 0.50% ต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563

สิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงเอกชนเล็งเห็นผลจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย คือการชะลอภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งตัวเลขเดือนกรกฎาคม 2565 เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 7.61% แต่ลดลงจากเดือนมิถุนายน ซึ่งอยู่ที่ 7.66% โดยมีราคาพลังงานเป็นตัวเร่งให้ต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน โจทย์ใหม่ที่เพิ่มเข้ามาคือการเผชิญหน้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ทั้งด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ โดยมีไต้หวันเป็นเงื่อนไขสำคัญในฐานะผู้ผลิตชิปชั้นนำของโลก

เมื่อโจทย์ยากนอกประเทศรุมกันเข้ามา โจทย์ในประเทศที่ทุกฝ่ายต้องขยับปรับแก้ให้เร็วขึ้น คือการพิจารณาเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเดิมแม้กลุ่มนายจ้างไม่อยากให้รีบขึ้น และปัดตกข้อเรียกร้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาทเท่ากันทั่วประเทศไปแล้ว แต่ล่าสุดนี้ยอมประนีประนอมให้เจรจาขึ้นตามสถานการณ์ เพราะเห็นอยู่ว่าจะต้องไปต่ออย่างไร

การพิจารณาจะดูจากตัวเลข 77 จังหวัดที่ส่งเข้ามายังกระทรวงแรงงาน จนเหลืออัตราการขึ้นค่าแรง 5-8% ให้คณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคี พิจารณาตามความมากน้อยของพื้นที่จังหวัด เพื่อได้ข้อสรุปเดือนสิงหาคมนี้

จังหวะของการเจรจาและต่อรองครั้งนี้เป็นผลดีกับฝ่ายลูกจ้างที่ได้ฝ่ายรัฐบาลมาช่วยเป็นแรงผลักดัน เนื่องจากช่วงเวลาครึ่งปีหลังนี้เห็นได้ว่า พรรคการเมืองต่าง ๆ เริ่มเข้าโหมดการหาเสียงพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง

ดังนั้นแทนที่การขึ้นค่าแรงจะมีผลบังคับใช้ วันที่ 1 มกราคม 2566 ก็มีแนวโน้มสูงที่จะขยับขึ้นมาเป็นเดือนตุลาคม หรือภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ตามจริงของลูกจ้าง

โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างมาก ทำให้รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย และเสี่ยงกับหนี้สินที่พอกพูนตามมา

การตัดสินใจในนโยบายเศรษฐกิจจึงไม่เพียงสำคัญที่ตัวมาตรการ หรือวิธีการ ยังรวมถึงจังหวะเวลาที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

หากปล่อยให้ความเดือดร้อนลากยาว สังคมจะยิ่งเห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และนั่นคงไม่เป็นผลดีต่อการเมืองอย่างแน่นอน