แบงก์อั้นไม่ขึ้นดอกเบี้ยกู้-ฝาก ถกธปท.ขอลดเงินนำส่ง FIDF

เงิน

แบงก์ใหญ่ส่งสัญญาณตรึงดอกเบี้ยทั้งเงินกู้-เงินฝาก ไม่ขยับตาม กนง. ห่วงลูกค้ากลุ่มเปราะบาง วงในเผยลูกหนี้เจอภาระดอกเบี้ย 2 เด้ง หลัง ธปท.สั่งสถาบันการเงินกลับมาส่งเงินเข้า FIDF 0.46% ต่อปีตั้งแต่ปี’66 ธนาคารเดินสายเจรจาขอให้ ธปท.ชะลอการปรับเพิ่มเงินนำส่ง ชี้กระทบต้นทุนลูกหนี้ดันสัญญาณหนี้เสียเพิ่ม “ดร.อมรเทพ” เผยเศรษฐกิจยังมีปัจจัยเสี่ยง เลื่อนได้ควรเลื่อน แบงก์กรุงไทยชี้ต้องเลือกจังหวะให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 10 สิงหาคมนี้ คาดว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 0.75% ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง สอดคล้องกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยออกมาส่งสัญญาณว่าจะมีการพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป

กสิกรฯตรึงดอกเบี้ย 1 รอบ

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์พี) หากกรณี กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยลูกค้าเงินกู้ยังคงลำบากอยู่ ธนาคารยังคงต้องคิดหนักอยู่หากจะขึ้นดอกเบี้ยตาม ดังนั้นมองว่าธนาคารจะสามารถทนหรือตรึงดอกเบี้ยได้ 1 รอบ หมายถึงหาก กนง.ประกาศขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ ธนาคารก็คงจะตรึงไว้ก่อนทั้งดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ แต่ถ้า กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 รอบ ในการประชุมครั้งหน้า (28 ก.ย.) ธนาคารอาจจะพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ย เพราะอั้นไม่ไหว โดยจะเป็นการปรับขึ้นพร้อมกันทั้ง 2 ขา

“อย่างไรก็ตาม ถ้าแบงก์อื่นปรับขึ้นดอกเบี้ย เราก็ว่าเรายังทนได้ เพราะอยากจะช่วยลูกหนี้ เนื่องจากมีลูกหนี้ที่ลำบากอีกเยอะ เรายังมองว่าสภาวะแบบนี้ยังไม่พร้อมขึ้นดอกเบี้ย ส่วนจะขึ้นเท่าไร เมื่อไร จะต้องไปพิจารณาหลังวันที่ 10 สิงหาคมนี้ อีกทีว่า ธปท.ขึ้นเท่าไร แต่จะเห็นว่า ตามที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สื่อสารว่า ดอกเบี้ยจะขึ้นเมื่ออัตราเงินเฟ้อเกิดจากเหตุอันควร เพราะตอนนี้เกิดจากดีมานด์ในเรื่องสินค้า ดอกเบี้ย ธปท.ก็ไม่ได้คิดจะขึ้น”

นางสาวขัตติยากล่าวว่า ทั้งนี้เพื่อช่วยลูกค้าเงินกู้ ธนาคารจะตรึงดอกเบี้ยไว้ก่อน ซึ่งเมื่อตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ ก็ต้องตรึงดอกเบี้ยเงินฝากด้วย ส่วนการพิจารณาช่วยลูกค้าเงินฝากที่เอาเงินเกษียณกระจายไปอยู่ในเงินฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือน อันนี้ธนาคารอาจจะต้องพิจารณาดูให้บ้าง

ส่วนกรณีที่ในปี 2566 ธปท.ให้สถาบันการเงินกลับมานำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ในอัตราเดิม 0.46% หลังจากช่วงโควิด-19 ปรับลดลงเหลือ 0.23% ต่อปี มีผลกระทบต่อต้นทุนอย่างไรบ้าง นางสาวขัตติยากล่าวว่า จะต้องดูว่าภาระต้นทุนเท่าไร แต่ก่อนหน้านี้ภาระต้นทุน FIDF เคยอยู่ในระดับดังกล่าวมาแล้วในอดีต ธปท.แค่กลับมาอยู่ที่เดิม

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า สำหรับแนวทางการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารนั้น จะพยายามดูแลลูกค้าให้ดีที่สุด โดยให้มีผลกระทบน้อยที่สุด เพื่อสนับสนุนลูกค้า รวมถึงต้องรอดูภาพรวมตลาดและ กนง. ออกมาเป็นอย่างไร

แบงก์เล็กรอดู 4 ธนาคารใหญ่

นางสาวชมภูนุช ปฐมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เปิดเผยว่า ทิศทางการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารนั้นต้องรอดูว่า กนง.จะปรับดอกเบี้ยมากน้อยระดับใด และทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ใหญ่ 4 แห่งเป็นอย่างไร หากแบงก์ใหญ่ไม่ปรับ ธนาคารก็จะยังไม่ปรับตาม

โดยอัตราดอกเบี้ยธนาคารจะอิงตามดอกเบี้ย 4 ธนาคารใหญ่ หากแบงก์ใหญ่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตระกูล M ทั้งดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) ดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) และดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชี (MOR) ธนาคารก็ต้องปรับตามโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ดี มองว่า ธปท.คงไม่ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงมาก น่าจะปรับอยู่ที่ระดับ 0.75%

ธพว.ยันไม่เร่งปรับขึ้นตาม กนง.

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น และกรณีที่ กนง.จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ธนาคารภาครัฐยืนยันว่ายังจำเป็นที่จะต้องตรึงดอกเบี้ยไว้ก่อน ส่วนว่าจะสามารถตรึงดอกเบี้ยไว้ได้นานแค่ไหน อาจจะต้องดูจาก กนง.เป็นหลัก

ทั้งนี้ ธพว.ยืนยันว่าจะไม่ใช่ธนาคารภาครัฐรายแรกที่จะนำร่องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแน่นอน และเชื่อว่าธนาคารภาครัฐรายอื่น ๆ ก็คงจะพยายามที่จะตรึงดอกเบี้ยไว้ก่อนเหมือน ๆ กัน เพราะการปรับดอกเบี้ยขึ้นในทันทีก็จะเป็นการกระทบต่อลูกค้าที่เป็นรายเล็ก ๆ หรือลูกค้าที่ยังลำบากอยู่

ต่อรอง ธปท.ลดเงินส่ง FIDF

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเปิดเผกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบายให้สถาบันการเงินกลับมาจ่ายเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) สู่ระดับปกติที่ 0.46% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2566 หลังจากช่วงโควิด-19 ปรับลดลงเหลือ 0.23% ต่อปี ทั้งนี้ ธนาคารได้มีการหารือกับ ธปท. ขอให้ชะลอการปรับขึ้นอัตราเงินนำส่งดังกล่าวไปก่อน ซึ่ง ธปท.ได้รับเรื่องไปพิจารณา ซึ่งขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในอีก 3-4 เดือนข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปในเดือนเมษายน 2563 ธปท.ประกาศปรับลดอัตราการนำส่งเหลือ 0.23% ต่อปี โดยให้สถาบันการเงินปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) และอัตราดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชี (MOR) ลงประมาณ 0.40% ดังนั้นหากจะปรับอัตรานำส่งมาอยู่ที่ 0.46% ต่อปี สะท้อนว่าในปี 2566 อัตราดอกเบี้ย MLR, MRR และ MOR จะถูกปรับขึ้นมาอีก 0.40% ด้วย ก็จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับลูกหนี้

“หากปีนี้ กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง ในอัตราครั้งละ 0.25% เมื่อรวมกับต้นทุนจากการปรับขึ้นเงินนำส่ง FIDF อีก 0.40% ก็จะทำให้ปี 2566 ภาระต้นทุนดอกเบี้ยจะปรับขึ้นประมาณ 0.90%”

ดังนั้น ภาระผู้กู้ซื้อบ้านหรือธุรกิจเอสเอ็มอีจะเพิ่มขึ้น อาทิ กู้ซื้อบ้านราคา 1 ล้านบาท ภาระดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้นทันที 800 บาท ซึ่งจะเกิดปัญหากับคนซื้อบ้านใหม่ จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และลูกค้าเดิมความสามารถในการผ่อนชำระหนี้อาจมีปัญหา โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ถูกกระทบ อาจนำไปสู่ปัญหาหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นได้

แบงก์โอดต้นทุนขึ้น 2 เด้ง

แหล่งข่าวกล่าวว่า สมาคมธนาคารไทย (TBA) ตัวแทนหน่วยงานเกี่ยวข้อง และธนาคารสมาชิก ได้มีการหารือกันในกรณี กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย ธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้นดอกเบี้ยทันทีหรือไม่ หรือจะมีการอุดหนุนต่อ ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของแต่ละธนาคาร

“อย่างไรก็ดี หากมีการปรับอัตราเงินนำส่ง FIDF 0.46% จะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นพร้อมกัน 2 เด้ง ทั้งดอกเบี้ยนโยบาย และต้นทุนจากเงินนำส่ง FIDF ทั้งระบบเม็ดเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งภาระที่เกิดขึ้นจาก 2 ส่วนนี้ อาจส่งผลกระทบลูกค้ากลุ่มเปราะบางที่จะมีภาระมากขึ้น จากเดิมที่โดนกระทบจากค่าครองชีพอยู่แล้ว จะถูกซ้ำเติมด้วยดอกเบี้ย เพราะก่อนหน้านี้ธนาคารนำเงินที่ลดจาก FIDF ไปช่วยลูกค้าด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย แต่หลังจากนี้อาจต้องส่งผ่านภาระไปให้ลูกค้า ดังนั้นต้นปี’66 น่าจะเห็นสัญญาณการปรับขึ้นของเอ็นพีแอล เพราะปัจจุบันความสามารถการชำระหนี้ก็ยังไม่กลับมาเต็มที่”

ลูกหนี้รับศึกหนัก

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับอัตราเงินนำส่งเข้า FIDF สู่ระดับปกติ 0.46% ภายในปี 2566 มองว่า ตอนนี้เศรษฐกิจยังคงมีปัจจัยความเสี่ยง และการฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เอสเอ็มอีขนาดเล็กในต่างจังหวัด หากมีการปรับขึ้นเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูฯ และแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น จะเป็นภาระให้ผู้กู้ 2 เด้ง ซึ่งลูกหนี้จะสามารถรับไหวหรือไม่

“หากการชำระหนี้เข้ากองทุนฟื้นฟูฯยังไม่ได้มีความจำเป็นรีบร้อน ถ้าทางการสามารถเลื่อนได้ก็ควรเลื่อนออกไปก่อน เพื่อรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวหรือกระจายตัวมากขึ้น”

ชี้ข้อดี-ข้อเสียแบงก์ตรึงดอกเบี้ย

ดร.อมรเทพกล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงกรณีหาก กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบการประชุม 10 สิงหาคมนี้ ภาพรวมดอกเบี้ยสถาบันการเงินสามารถปรับขึ้นตามได้ทันที หากพิจารณาสภาพคล่องและภาวะเศรษฐกิจควบคู่กันไป แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยอาจไม่ต้องตามอัตราที่ กนง.ขึ้น เช่น กนง.ขึ้น 0.25% ธนาคารอาจขึ้นราว 0.10-0.15% โดยพิจารณาขึ้นทั้งดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ ซึ่งคิดว่าน่าจะรับมือดอกเบี้ยขาขึ้นได้

อย่างไรก็ดี รอบประชุมที่เหลือจากเดือนสิงหาคมกว่าจะถึงกันยายน ส่งผลให้ส่วนต่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐยิ่งกว้างขึ้น ดังนั้น หากธนาคารจะรอพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งถัดไป จะมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย โดยข้อดี ธนาคารต้องการรอให้เห็นสัญญาณเศรษฐกิจปรับตัวเพื่อดูแลกลุ่มผู้ประกอบการและลูกค้าก่อน

และข้อเสีย หากธนาคารรอปรับครั้งถัดไป อาจจะทำให้ประสิทธิผลที่ ธปท.ต้องการส่งผ่านนโยบายการเงินผ่านธนาคารอาจไม่เห็นผล ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยในรอบการประชุมครั้งถัดไปจะต้องเพิ่มยาแรงมากขึ้น หรือการปรับดอกเบี้ยขึ้น 0.50%

“เรามองว่าตลาดรับรู้เรื่องดอกเบี้ยขาขึ้นของ ธปท.พอสมควรแล้ว และหากดูสภาพคล่องตอนนี้ไม่ได้มีปัญหา และความคล่องตัวของแบงก์ในการปรับดอกเบี้ยก็สามารถทำได้เลย และต้นปีหน้ามีเรื่องของ FIDF หาก ธปท.ไม่ต่ออายุ ทำให้แบงก์ต้องส่งผ่านดอกเบี้ย 2 ต่อ ทั้ง FIDF และอาร์พีไปยังลูกค้า เราจะเห็นการปรับดอกเบี้ยแรงขึ้น”

ชี้ต้องเลือกจังหวะที่เหมาะสม

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวยอมรับว่า ในสมาคมมีการหารือเรื่องการนำส่งเงินเข้า FIDF 0.46% ซึ่งโดยรวมถือเป็นต้นทุนพื้นฐานของระบบ ซึ่งไม่สามารถฝืนได้ แต่ธนาคารจะประคองให้เกิดขึ้นช้าหรือเร็ว หรือเลือกจังหวะเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดได้อย่างไร เพราะ ธปท.ถอนยาแรงเพื่อคืนกลับสู่ภาวะปกติ

ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับนโยบายการปรับอัตราเงินนำส่งเข้า FIDF จาก 0.23% มาอยู่ที่ 0.46% ในปี 2566 จะเห็นว่าในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ธปท.ต้องการช่วยลดภาระสถาบันการเงิน เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือไปยังลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ และเมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ธปท.จึงปรับนโยบายเข้าสู่โหมดปกติ ลดการช่วยเหลือเข้าสู่ normalization อย่างไรก็ดี ธนาคารเองก็จำเป็นต้องปรับตัว และบริหารจัดการต้นทุนเหล่านี้เข้าสู่ภาวะปกติ