เหตุผลที่ “บิ๊กเฟด+รมว.คลัง” ย้ำรัว ๆ เศรษฐกิจ “ไม่ถดถอย”

เศรษฐกิจไม่ถดถอย
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

หลังจากสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ประกาศตัวเลขจีดีพีเบื้องต้นของไตรมาส 2 ปีนี้ว่าหดตัว 0.9% ในทางเทคนิคถือว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย เพราะไตรมาส 1 ติดลบไปแล้ว 1.6% จึงถือว่าหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส เข้าข่ายนิยามของเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่จะทำหน้าที่ประกาศอย่างเป็นทางการว่าถดถอยหรือไม่ก็คือสำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ (NBER) ซึ่งคาดว่าคงอีกหลายเดือนกว่า NBER จะประกาศเกี่ยวกับสถานะของจีดีพีดังกล่าว

ในระหว่างนี้ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องมุมมองของนักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์แต่ละคนจะตีความเอาเอง ว่าเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยแล้วหรือยัง หลังจากคำว่า “ถดถอย” ปกคลุมสหรัฐมาตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

จีดีพีไตรมาส 2 ของสหรัฐ ถูกประกาศออกมาเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2022 หลังจากเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เพียง 1 วัน แต่ดูเหมือนทั้งเฟดและกระทรวงการคลังสหรัฐจะมั่นใจว่าเศรษฐกิจยังไม่ถดถอย โดย “เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟด กล่าวภายหลังประชุมเฟดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมว่า ภาวะถดถอยจะต้องเป็นสภาพที่หลาย ๆ อุตสาหกรรมหดตัวพร้อมกันมากกว่า 2 เดือน แต่ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ไม่ได้เข้าข่ายถดถอย เนื่องจากหลายส่วนยังแข็งแกร่งโดยเฉพาะการจ้างงาน

ด้าน “เจเน็ต เยลเลน” รัฐมนตรีคลังสหรัฐ และอดีตประธานเฟดที่ดำรงตำแหน่งก่อนหน้าพาวเวลล์ ก็ออกมาแถลงข่าวสำทับเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมในทำนองเดียวกัน โดยระบุว่าแม้จีดีพีจะติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส แต่เศรษฐกิจไม่ได้ถดถอย หากแต่อยู่ในภาวะ “เปลี่ยนผ่าน”

“ถดถอยหมายถึงการที่เศรษฐกิจอ่อนแอเป็นวงกว้าง มีการเลย์ออฟ และภาคธุรกิจปิดตัวจำนวนมาก ภาวะการเงินของครัวเรือนฝืดเคืองและกิจกรรมของภาคเอกชนชะลอตัว แต่เราไม่เห็นสิ่งดังกล่าวในตอนนี้ สิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็คือมีการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง ภาวะการเงินของครัวเรือนยังแข็งแกร่ง ผู้บริโภคยังมีการใช้จ่าย และภาคธุรกิจก็เติบโต”

รัฐมนตรีคลังหญิงของสหรัฐชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ระยะใหม่ของการฟื้นตัว โดยเน้นไปที่การเติบโตอย่างสม่ำเสมอและมีเสถียรภาพโดยไม่สูญเสียการเติบโตที่เกิดขึ้นในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา พร้อมกับย้ำว่าการดึงเงินเฟ้อให้ต่ำลงเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก ๆ ของรัฐบาล เพื่อปกป้องชาวอเมริกันที่ได้รับผลกระทบจากแรงกดดันด้านราคาที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ล่าสุดอีกคนหนึ่งที่ออกมายืนยันก็คือ “เจมส์ บุลลาร์ด” ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ ซึ่งกล่าวว่าเขาเองยังคงคิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้ และเฟดจะประคองให้เศรษฐกิจชะลอลงอย่างนุ่มนวล เพราะความน่าเชื่อถือ ของเฟดที่อุทิศตนให้กับการต่อสู้เงินเฟ้อ ถึงแม้ว่าจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่าที่ตน
คาดการณ์เล็กน้อย เนื่องจากเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนที่สูงกว่าคาด โดยประเมินว่าดอกเบี้ยสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 3.75 ถึง 4% จากระดับปัจจุบัน 2.25 ถึง 2.5%

บุลลาร์ดแสดงความมั่นใจว่า เฟดในยุคปัจจุบันจะไม่ทำให้เศรษฐกิจถดถอย เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในทศวรรษ 1970 เพราะในยุคนั้นเฟดขึ้นดอกเบี้ยควบคุมเงินเฟ้อ แต่แล้วก็ปรับลดดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว ส่วนเฟดในปัจจุบันได้แสดงให้ตลาดและสาธารณะเห็นว่ามีความมุ่งมั่นที่จะหยุดยั้งเงินเฟ้อ ซึ่งความมุ่งมั่นเป็นเรื่องสำคัญที่จะสร้างความน่าเชื่อถือของเฟดในสายตาตลาดและสาธารณะ ความน่าเชื่อถือของเฟดในยุคนี้มีมากกว่ายุคปี 1970

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า NBER จะไม่ประกาศการถดถอยอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 1948 เป็นต้นมา ไม่มีครั้งใดเลยที่จีดีพีหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาสแล้วเศรษฐกิจจะไม่ถดถอย ขณะเดียวกัน ในความรู้สึกของประชาชนจากผลสำรวจเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมบ่งชี้ว่า 65% คิดว่าเศรษฐกิจถดถอยเรียบร้อยแล้ว ส่วนคนในแวดวงวอลล์สตรีตคิดว่ายังไม่ถดถอยในตอนนี้ แต่อาจจะถดถอยช่วงปลายปีนี้หรือไม่ก็ปีหน้า