เฟด ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ตั้งเป้ากดเศรษฐกิจ มั่นใจ “ไม่ถดถอย”

เฟด
คอลัมน์​ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้กับเฟดอีกครั้ง เมื่อมีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ในการประชุมเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2022 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยไต่ขึ้นไปอยู่ในช่วง 2.25-2.5% นับเป็นการขึ้นดอกเบี้ยในอัตราสูงผิดปกติคือ 0.75% เป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่พุ่งสูงในรอบ 40 กว่าปี โดยเดือนมิถุนายนทะยานไปถึง 9.1%

แถลงการณ์ของคณะกรรมการชี้ว่า ถึงแม้ตัวบ่งชี้เกี่ยวกับการใช้จ่ายและการผลิตจะอ่อนตัวลง แต่การจ้างงานช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง อัตราว่างงานยังคงต่ำ ขณะที่เงินเฟ้อยังสูงขึ้นเนื่องจากความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์กับอุปทาน รวมทั้งราคาอาหารและพลังงานที่สูง ตลอดจนแรงกดดันด้านราคาที่เกิดขึ้นในวงกว้าง

“เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟด แถลงเพิ่มเติมหลังการประชุมว่า เฟดยังคงมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะลดระดับเงินเฟ้อ ซึ่งจะตามมาด้วยผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยทั่วไป รวมทั้งการจ้างงาน อย่างไรก็ตาม เฟดคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องทำให้อัตราเติบโตของเศรษฐกิจลดลงในปีนี้ โดยเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำกว่าแนวโน้มระยะยาวสักช่วงหนึ่ง

“เราคิดว่า มีความจำเป็นที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าศักยภาพสักระยะหนึ่ง เพื่อให้เศรษฐกิจชะลอลง” ประธานเฟดกล่าว พร้อมกับย้ำว่า ไม่เชื่อว่าในขณะนี้เศรษฐกิจสหรัฐถดถอย ถึงแม้ว่าไตรมาสแรกจะติดลบ และคาดว่าไตรมาส 2 แทบจะไม่ขยายตัวก็ตาม

“ลองคิดดูว่า คำว่าถดถอยคืออะไร มันหมายถึงการเติบโตลดลงของหลาย ๆ อุตสาหกรรมมากกว่า 2 เดือน แต่สถานการณ์ในปัจจุบันดูเหมือนไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะตลาดจ้างงานส่งสัญญาณชัดเจนมากเกี่ยวกับความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ มีหลายส่วนของเศรษฐกิจเติบโตดีเกินไปด้วยซ้ำ”

ประธานเฟดยังกล่าวอีกว่า ถึงแม้การขึ้นดอกเบี้ยสูงมากกว่าปกติอีกครั้งในการประชุมครั้งหน้าจะเป็นเรื่องเหมาะสม แต่การตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับข้อมูลในขณะนั้นเป็นหลัก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการเหมาะสมอีกเช่นกันที่จะขึ้นดอกเบี้ยช้าลงในช่วงที่เราอยู่ระหว่างการประเมินผลของการขึ้นดอกเบี้ยที่มีต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

โดยตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 0.5% ในเดือนกันยายน ขณะที่บางส่วนเชื่อว่าจะปรับขึ้นอีก 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน และเชื่อว่าจะเริ่มลดดอกเบี้ยในฤดูร้อนหน้า ส่วนบรรดาเจ้าหน้าที่หลายคนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้เชื่อว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างดุดันไปจนถึงเดือนกันยายน จากนั้นจึงค่อยประเมินว่าการขึ้นดอกเบี้ยส่งผลอย่างไรต่อเงินเฟ้อ

เจมี ค็อกซ์ หุ้นส่วนผู้จัดการ แฮร์ริส ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ระบุว่า เฟดกำลังบรรลุเป้าหมายของการขึ้นดอกเบี้ย ถึงแม้เราจะไม่รู้ว่าเงินเฟ้อจะเป็นอย่างไร แต่ผลกระทบหลักที่เกิดขึ้นแล้วก็คือตลาดมั่นใจว่าเฟดจะไม่ปล่อยให้เงินเฟ้อเป็นตัวถ่วงผู้บริโภคและภาคธุรกิจ

ไมเคิล เพียร์ซ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส แคปิตอล อีโคโนมิกส์ในนิวยอร์ก ชี้ว่า การขึ้นดอกเบี้ยในระดับดังกล่าวทำให้อัตราดอกเบี้ยเข้าใกล้ระดับ “เป็นกลาง” โดยที่เงินเฟ้อจะเริ่มลดลงจากจุดนี้เป็นต้นไป รวมทั้งสัญญาณเศรษฐกิจที่อ่อนแอ เราจึงคิดว่าเฟดจะระมัดระวังมากขึ้นในการขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไป อาจจะขึ้นเพียง 0.5% ในเดือนกันยายน

ขณะที่ ไบรอัน คัลตัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ฟิตช์ เรตติ้ง ให้ความเห็นว่า หากดูจากตลาดจ้างงานที่แข็งแกร่งและเงินเฟ้อที่ยังไม่ยอมลดลงมา ชี้ให้เห็นว่าการปรับนโยบายการเงินยังต้องดำเนินต่อไปอีกนาน ดังนั้นการคิดว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยในปีหน้าจึงเป็นเรื่องเร็วเกินไป

ด้านนักวิเคราะห์ของแบล็กร็อก ระบุว่า เฟดคงไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจชะลอลงอย่างนุ่มนวล คาดว่าเฟดจะเปลี่ยนท่าทีในปีหน้าเมื่อผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยที่มีต่อเศรษฐกิจเริ่มชัดเจนขึ้น

ตลาดหุ้นสหรัฐตอบสนองในทางบวก โดยดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 436.05 จุดหรือเกือบ 1.4%, ปิดที่ 32,197.59 จุด เอสแอนด์พี 500 ปรับขึ้น 2.62% ปิดที่ 4,023.61 จุด แนสแดคบวก 4.06% หรือ 469.85 จุด ปิดที่ 12,032.42 จุด เนื่องจากนักลงทุนโล่งใจที่รับรู้ว่าเฟดตระหนักถึงผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยว่าจะมีทั้งด้านบวกและลบ