ดร.พิพัฒน์ ชี้เศรษฐกิจไทยน่าห่วง หลายประเทศกำลังแย่ ส่อกระทบส่งออก

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ดร.พิพัฒน์หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP ชี้เศรษฐกิจสหรัฐติดลบ 2 ไตรมาสตอนนี้ยังไม่เข้าข่ายถดถอย ลั่นมองไปข้างหน้าน่าห่วงกว่า เหตุหลายประเทศที่เป็นตลาดส่งออกของไทยกำลังแย่ อาจกระทบการฟื้นตัว

วันที่ 29 กรกฎาคม 2565 ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) โพสต์เฟซบุ๊ก “Pipat Luengnaruemitchai” ถึงประเด็นว่าสหรัฐเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้วจริงหรือ ? โดยชี้ว่าตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ของสหรัฐออกมาที่ -0.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน หลังจากที่ GDP ในไตรมาส 1 ติดลบมาแล้ว 1.6%

ซึ่งสาเหตุสำคัญ คือ การติดลบของการลงทุน รวมถึงการลดลงของสินค้าคงคลัง และการชะลอตัวของการใช้จ่ายภาครัฐ หลังเริ่มมีการถอนการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่การบริโภคและการส่งออกยังโตได้ดี แต่ก็มีสัญญาณชะลอตัวลงมา

โดยหลายคนบอกว่า เพราะเศรษฐกิจติดลบติดกัน 2 ไตรมาส นี่คือตัวบอกเหตุว่าเศรษฐกิจสหรัฐได้เริ่มถดถอยลง หรือที่บอกว่า #TechnicalRecession ไปแล้ว แต่บางคนเถียงว่า แม้ตัวเลขเศรษฐกิจและการบริโภคจะเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง แต่ความรู้สึกไม่ได้แย่ขนาดว่าอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยเลย ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง อัตราการว่างงานแค่ 3.6% ต่ำกว่าในอดีตมาก

ตัวเลขการจ้างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทุก ๆ หนึ่งคนที่กำลังหางานอยู่ มีตำแหน่งงานเปิดอยู่ 2 ตำแหน่ง และค่าจ้างยังเพิ่มขึ้นอยู่เลย จะเรียกว่าเศรษฐกิจถดถอยได้อย่างไร และในอดีตไม่เคยมีครั้งไหนที่มีภาวะเศรษฐกิจถดถอยโดยไม่เกิดการว่างงานเพิ่มขึ้น และตอนนี้ผู้คนยังจับจ่ายใช้สอยแม้เศรษฐกิจจะเริ่มมีแนวโน้มชะลอก็ตาม ?? บางคนบอกว่าถ้าใช่ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อน ๆ จะเรียกว่า “Jobful Recession” ก็ไม่ผิด (ล้อไปกับ Jobless Recovery เมื่อหลายปีก่อน) 

แต่ต้องบอกว่าตัวเลข GDP เป็น production concept ใช้วัดมูลค่าของสินค้าและบริการที่ถูกผลิตขึ้นในช่วงเวลานั้น ๆ จึงอาจจะเกิดความขัดแย้งกันระหว่างความรู้สึก อุปสงค์ การใช้จ่ายของเอกชน และการจ้างงาน ได้ โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นจากการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจเป็นเวลานาน มีการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนสินค้าคงคลังมาก่อนหน้านี้ และการผลิตเริ่มลดลง การเริ่มเปลี่ยนการใช้จ่ายจากสินค้าไปหาบริการที่มีการจ้างงานสูงกว่าและมีประสิทธิภาพต่ำกว่า 

ในสหรัฐมีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่บอกว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยเริ่มขึ้นแล้วหรือยังนั่นคือ Business Cycle Dating Committee ของ National Bureau of Economic Research หรือ NBER ซึ่งบอกว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยหมายถึงภาวะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลต่อหลายภาคส่วนในเศรษฐกิจ และกินเวลามากกว่า 2-3 เดือน (a significant decline in economic activity that is spread across the economy and lasts more than a few months.”)

แปลว่าต้องมีทั้งมิติของความลึก ความกว้าง และระยะเวลา ภาวะที่เศรษฐกิจหดตัวน้อย ๆ จำกัดแค่ไม่กี่ภาคส่วนหรือเกิดขึ้นแป๊บเดียว อาจจะไม่เรียกว่า recession ก็ได้ และ NBER ก็ไม่ได้ดูแค่ตัวเลข GDP อย่างเดียว แต่ดูรายได้ครัวเรือน การจ้างงาน การผลิตภาคอุตสาหกรรม การบริโภค และยอดขายด้วย ตั้งแต่ปี 1948 เป็นต้นมา

ถ้าเกิด GDP หดตัวติดกัน 2 ไตรมาส NBER ก็ประกาศช่วงนั้นว่าเป็น recession ทุกที แม้ว่าจะไม่ได้เริ่มในช่วงที่ GDP เริ่มหดตัวก็ตาม และมีบางครั้งที่ประกาศว่าเป็น recession แม้จะไม่ได้มี GDP หดตัวติดกัน 2 ไตรมาสก็ตาม (เช่น ปี 2001 หลัง dotcom) และ NBER มักจะประกาศว่าเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังจากผ่านเวลาไปสักระยะหนึ่งแล้ว นั่นคือกว่ามา confirm ว่าใช่ก็สายไปเสียแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่หดตัวในครึ่งปีแรกยังไม่น่าเข้าข่ายของภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างที่ว่า แต่มองไปข้างหน้านี่สิน่าเป็นห่วง ทั้งเงินเฟ้อที่เป็นตัวชะลอเศรษฐกิจอย่างดี อัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว ราคาสินทรัพย์ที่ปรับลดลงจะกลายเป็นเบรกที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยจริง ๆ ได้ในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ?? แต่ที่น่าห่วงคือเราอาจจะเห็นภาวะที่เรียกว่า #SynchronizedRecession ได้เลย

เพราะยุโรปก็กำลังเจอปัญหาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ซึ่งถ้าไม่มีอะไรดีขึ้นมีโอกาสที่สำรองก๊าซจะหมดในช่วงปลายปี ญี่ปุ่นก็กำลังลุ่ม ๆ ดอน ๆ จีนก็น่าจะกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอยู่แล้วจาก zero Covid policy และปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ ถ้าปลายปียังไม่ฟื้นเราอาจจะเห็นเศรษฐกิจใหญ่ ๆ ที่เป็นมากกว่าครึ่งของตลาดส่งออกเราอ่อนเปลี้ยไปพร้อม ๆ กัน แม้ไทยจะเพิ่งเริ่มฟื้น แต่ถ้าเศรษฐกิจภายนอกแผ่ว การฟื้นตัวของเราก็คงลำบาก เตรียมใส่เข็มขัดนิรภัยกันไว้ดี ๆ ครับดร.พิพัฒน์ระบุ