ท่องเที่ยวฟื้น-ความเชื่อมั่นบริโภคกลับมา หนุนเศรษฐกิจภูมิภาคดีขึ้น

นักท่องเที่ยว

คลังเผยเศรษฐกิจภูมิภาคในเดือน มิ.ย. 65 รับปัจจัยสนับสนุนท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาค การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เนื่องจากการผ่อนคลายของสถานการณ์โรคโควิด

วันที่ 28 กรกฎาคม 2565 นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า “เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนมิถุนายน 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาค อีกทั้งการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นในภาคใต้ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก

นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เนื่องจากการผ่อนคลายของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” โดยมีรายละเอียดดังนี้

เศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนมิถุนายน 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น

ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 16.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 17.7 และ 15.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ

สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 26.5 และ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ สำหรับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการแม้ว่าชะลอลงร้อยละ -61.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แต่ขยายตัวร้อยละ 73.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล จากโรงงานซ่อมและเคาะพ่นสีรถยนต์ในจังหวัดภูเก็ตเป็นสำคัญ

ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมขยายตัวร้อยละ 2,357.6 และ 4,132.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 37.9 และ 80.4 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 36.8 และ 74.7 ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคตะวันตกในเดือนมิถุนายน 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น

ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 56.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 14.2 และ 8.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ

สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 10.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลงที่ร้อยละ -2.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล

สำหรับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวร้อยละ 629.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยเงินทุน 0.6 พันล้านบาท จากโรงงานผลิตภาชนะบรรจุอาหารในจังหวัดกาญจนบุรีเป็นสำคัญ ด้านอุปทานมีสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว

โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมขยายตัวร้อยละ 1,501.8 และ 1,443.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 40.8 และ 89.2 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 39.5 และ 86.4 ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคตะวันออกในเดือนมิถุนายน 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง

ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 49.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 4.5 และ 19.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ

สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 2.8 และ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.7 แต่ชะลอลงร้อยละ -21.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล

ในด้านอุปทาน มีสัญญาณฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมขยายตัวร้อยละ 1,626.2 และ 2,027.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ ทั้งนี้ ในด้านความเชื่อมั่นพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 44.5 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 43.2 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 102.9 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 104.8

เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนมิถุนายน 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น

ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 5.7 ต่อปี แต่ชะลอลงร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล

ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ แม้ว่าชะลอลงร้อยละ -3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล

ด้านเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุน สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวร้อยละ 953.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยเงินทุน 10.6 พันล้านบาทจากโรงงานผลิตอุปกรณ์ และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์เชื่อมต่อ (Connector) รวมถึงชิ้นส่วน ชิ้นส่วนทดแทน และอุปกรณ์เสริมของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในจังหวัดนครราชสีมาเป็นสำคัญ

ขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ชะลอลงทั้งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล

ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมขยายตัวร้อยละ 757.7 และ 904.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ นอกจากนี้ ในด้านความเชื่อมั่นพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 45.9 และ 80.6 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 44.7 และ 75.4 ตามลำดับ

เศรษฐกิจ กทม.และปริมณฑลในเดือนมิถุนายน 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น

ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภค สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 35.5 และ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ แม้ว่าชะลอลงร้อยละ -4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แต่ขยายตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 9.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ แม้ว่าชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -4.9 แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 2.0 ขณะที่เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอลงทั้งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล

ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมขยายตัวร้อยละ 1,229.3 และ 2,273.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ นอกจากนี้ ในด้านความเชื่อมั่นพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 39.8 และ 89.2 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 38.3 และ 86.4 ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคกลางในเดือนมิถุนายน 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น

ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนและจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 5.5 และ 18.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ชะลอลงทั้งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล

สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ แม้ว่าชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -13.0 และ -8.4 ตามลำดับ

แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 2.2 และ 1.5 ตามลำดับ เช่นเดียวกับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการแม้ว่าชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -90.2 แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 1,124.2 จากโรงงานผลิตตู้ไฟ ตู้สวิตช์บอร์ด ตู้แผงวงจรไฟฟ้า และท่ออ่อนร้อยสายไฟ ฯลฯ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นสำคัญ

ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวโดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมขยายตัวร้อยละ 1,458.8 และ 1,520.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ นอกจากนี้ ในด้านความเชื่อมั่นพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 40.8 และ 89.2 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 39.5 และ 86.4 ตามลำดับ

เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนมิ.ย.65