เงินบาทแข็งค่า จับตาประชุม กนง. และตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ

กนง. เงินบาท แบงก์ชาติ

เงินบาทแข็งค่า จับตาประชุม กนง.และตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ ชี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง คาดกนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 0.75% ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 9 สิงหาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/8) ที่ระดับ 35.44/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (8/8) ที่ระดับ 35.82/84 บาท หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐชะลอตัวลง

โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.17% สู่ระดับ 106.4360 และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ร่วงลงสู่ระดับ 2.768% เมื่อคืนนี้ ในขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในวันพุธนี้ (10/8) ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตัวเลข CPI เดือนกรกฎาคม จะบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว เนื่องจากราคาน้ำมันดิ่งลงอย่างหนักในเดือน ก.ค.

ทั้งนี้ ผลการสำรวจนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะปรับตัวขึ้น 8.7% ในเดือน ก.ค. เมื่อเทียบรายปี โดยชะลอตัวจากที่พุ่งขึ้น 9.1% ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี อย่างไรก็ดี คาดว่าดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะปรับตัวขึ้น 6.1% ในเดือน ก.ค.เมื่อเทียบรายปี โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 5.9% ในเดือน มิ.ย.

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นักลงทุนจับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพุธ (10/8) ในขณะที่นักวิเคราะห์ คาดว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 0.75% ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง

ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้ กนง.มีแนวโน้มที่จะทยอยถอนคันเร่งทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป ถึงแม้ว่าอุปสงค์ภายในประเทศจะได้รับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง หลังจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาเป็นปกติ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิดที่ลดลง

ดังนั้น แรงส่งเศรษฐกิจจากนโยบายการเงินการคลังจึงมีความจำเป็นลดลง ส่งผลให้ กนง.มีแนวโน้มที่จะลดการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายลง และหนุนให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์

นอกจากนี้ในระยะข้างหน้า นักวิเคราะห์มองว่า กนง.อาจพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องในการประชุมที่เหลือของปีนี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะอยู่ที่ 1.00-1.25% ณ สิ้นปี โดยจุดจับตาจะอยู่ที่ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตัวเลขเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า หากตัวเลขเงินเฟ้อยังเร่งตัวขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดีจากการท่องเที่ยว คงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ กนง.พิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในทุกการประชุมที่เหลือของปีนี้

ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.37-35.53 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.39/41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่้อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (9/8) ที่ระดับ 1.0189/91 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (8/8) ที่ระดับ 1.0186/88 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ในขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อ ประจำเดือนกรกฎาคมของสหรัฐในวันพุธนี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0189-1.0247 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0235/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/8) ที่ระดับ 134.70/72 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (8/8) ที่ระดับ 135.05/07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนเทขายดอลลาร์ทำกำไรหลังจากปรับตัวขึ้นมาอย่างมากในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อ ประจำเดือนกรกฎาคม ของสหรัฐในวันพุธนี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 134.68-135.15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 134.86/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐสำคัญที่เปิดเผยในวันนี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมเดือน ก.ค. จากสหพันธ์ธุรกิจอิสระ แห่งชาติสหรัฐ (NFIB)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.50/-6.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.00/-7.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ