กองหุ้นญี่ปุ่นเงินไหลออก เยนอ่อนค่ารอบ 24 ปี-ลุ้นดอกเบี้ยเฟด

กองหุ้นญี่ปุ่น

เงินเยนที่ทำสถิติอ่อนค่าลงต่อเนื่อง โดยล่าสุดทะลุ 140 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว ในแง่ผลกระทบต่อการลงทุนในกองทุนหุ้นญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไรนั้น

“ชญานี จึงมานนท์” นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ค่าเงินเยนที่อ่อนลงต่อเนื่อง เป็นผลจากนโยบายการเงินของญี่ปุ่นที่ยังคงผ่อนคลาย และเน้นทำนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (yield curve control) สวนทางกับสหรัฐที่เป็นไปทิศทางเข้มงวดเพื่อกดเงินเฟ้อให้ต่ำ โดยการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังมีผลตอบแทนที่ดีกว่าสหรัฐที่มีแรงกดดันจากเงินเฟ้อ โดยดัชนี Nikkei 225 ผลตอบแทนอยู่ที่ -2.8% ขณะที่ดัชนี S&P 500 ผลตอบแทนอยู่ที่ -16.78%

“จากผลตอบแทนตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ปรับขึ้น ทำให้ผู้ถือหน่วยกองทุนหุ้นญี่ปุ่นมีการขายทำกำไร ทำให้กองทุนหุ้นญี่ปุ่นมีเงินไหลออกสุทธิและเร่งตัวขึ้น ตั้งแต่ช่วงที่เข้าสู่ครึ่งหลังของปีนี้รวม 1,900 ล้านบาท เทียบกับครึ่งแรกของปีที่มีเงินไหลออกสุทธิระดับ 800 ล้านบาท ซึ่งกองทุนหุ้นญี่ปุ่นมีผลตอบแทนเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ต้นปี (YTD) อยู่ที่ -7.8% เทียบกับตลาดหุ้น Nikkei 225 ที่ -2.8% (ข้อมูล ณ 2 ก.ย. 2565)

โดยกองทุนที่มีผลตอบแทนติดลบน้อยที่สุดย้อนหลัง 1 ปี ได้แก่ กองทุน ASP-NGF ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอสเซทพลัส ผลตอบแทนอยู่ที่ 11.2% ตามด้วยกองทุน KT-JAPAN-A จาก บลจ.กรุงไทย ผลตอบแทนอยู่ที่ 3.62% และกองทุน KT-JAPAN-D จาก บลจ.กรุงไทยเช่นกัน ผลตอบแทนอยู่ที่ 3.61%” (ดูตาราง)

5 อันดับ หุ้นญป.

“สำหรับผู้ที่ลงทุนกองทุนหุ้นญี่ปุ่นมีปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ อัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่นและสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อนโยบายการเงินในอนาคต เพราะจะมีผลต่อทั้งทิศทางค่าเงินเยน เศรษฐกิจ และนโยบายการเงินญี่ปุ่นด้วย” นางสาวชญานีกล่าว

ขณะที่นายชยานนท์ รักกาญจนันท์ ประธานเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา กล่าวว่า การที่เงินเยนอ่อนค่าลงมาอีก ยังคงเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายของธนาคารญี่ปุ่นที่แตกต่างอย่างมากจากประเทศอื่น ๆ

โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ สุดท้ายแล้วทั้งโลกน่าจะเจอปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ ซึ่งญี่ปุ่นมีกรอบเป้าหมายเงินเฟ้ออยู่ที่ 2-3% ตอนนี้เงินเฟ้อของญี่ปุ่นเมื่อช่วง ก.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 2.9% ดังนั้นถ้าครึ่งปีหลังเห็นสัญญาณเงินเฟ้อของญี่ปุ่นทะลุเกิน 3% จะส่งผลให้นโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ดำเนินอยู่อาจจะไม่สามารถทำต่อไปได้

“เมื่อทำไม่ได้ ก็อาจจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม ซึ่งก็ต้องมาดูเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ GDP โตระดับ 1% อาจทำให้ต้องมีการปรับลดประมาณการหรือไม่” นายชยานนท์กล่าว

โดยในมุมการลงทุนก็ต้องยอมรับว่า ระยะสั้นก็มีแนวโน้มว่า ดัชนี Nikkei 225 และ TOPIX มีโอกาสดาวน์ไซด์ จากการที่เงินเยนยังอ่อนค่าและนักลงทุนยังดึงเงินออก แต่ในภาพระยะยาวก็ขึ้นอยู่กับนโยบายว่าจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ ซึ่งก็ต้องบอกว่าตอนนี้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นในเรื่องระดับ valuation หรือการประเมินมูลค่าหุ้นเทียบด้วย P/E ก็ยังแพงกว่าค่าเฉลี่ยอยู่เล็กน้อย

“การลงทุนในระยะสั้นถึงระยะกลาง นักลงทุนอาจทยอยลดสัดส่วนของหุ้นญี่ปุ่นในพอร์ตลงก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์ของการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และทิศทางนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่นในระยะข้างหน้า” นายชยานนท์กล่าว

นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วรรณ กล่าวว่า ตอนนี้เชื่อว่าเงินเยนอ่อนค่าลงมาค่อนข้างมากแล้ว อาจจะไม่ได้ลงไปได้มากกว่านี้ แต่ด้วยความที่ญี่ปุ่นยังไม่มีท่าทีที่จะเปลี่ยนการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลาย

เช่นเดียวกับประเทศจีน ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้เป็นประเทศที่ไม่สนใจสหรัฐและต้องการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านอื่น ดังนั้นในมุมของการลงทุนหุ้นญี่ปุ่นก็ยังน่าสนใจอยู่ เนื่องจากหากไม่ได้มองเรื่องของช่องว่างดอกเบี้ย หรือเงินเยนที่อ่อนค่าก็ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น

“ในด้านอื่น ๆ ญี่ปุ่นก็ยังเติบโตได้ดี แต่เรื่องของดอกเบี้ยอาจจะต้องรอดูการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในรอบเดือน ก.ย.นี้ ถ้าเฟดปรับขึ้น 0.75% ในครั้งนี้ดอกเบี้ยสิ้นปีก็จะใกล้ 4% และน่าจะใกล้จบ ก็จะทำให้ความกังวลเรื่องของดอกเบี้ยน่าจะลดลง ดังนั้น นักลงทุนยังสามารถลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นได้จากการเติบโตของเศรษฐกิจในด้านอื่น ๆ” นายพจน์กล่าว

ที่สุดแล้ว ปัจจัยเรื่องนโยบายดอกเบี้ยของสหรัฐ ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตากันอย่างใกล้ชิดต่อไป