อาคม ชี้ ADB พร้อมปล่อยกู้ไทยปี’66-68 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน-การแพทย์

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

อาคม ร่วมหารือทวิภาคีระหว่าง “รมว.คลัง-ธนาคารพัฒนาเอเชีย” ที่ฟิลิปปินส์ ชี้แบงก์พร้อมปล่อยกู้ไทยปี’66-68 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน-การแพทย์ สนับสนุนยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง

วันที่ 29 กันยายน 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในระหว่างการเข้าร่วมการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 ณ สำนักงานใหญ่ ADB กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้หารือทวิภาคีกับนาย Masatsugu Asakawa ประธาน ADB เพื่อหารือประเด็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและ ADB รวมถึงแนวทางการส่งเสริมการพัฒนาของภูมิภาค โดยมีประเด็นหารือหลัก ได้แก่

1.ความร่วมมือภายใต้ยุทธศาสตร์ความเป็นหุ้นส่วนระดับประเทศ ระหว่างประเทศไทยและ ADB (Country Partnership Strategy: CPS) ฉบับที่ 3 สำหรับปี 2564-2568 โดย ADB ได้แสดงความพร้อมในการสนับสนุนการดำเนินการของประเทศไทย ในด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และความเชื่อมโยง การเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยเฉพาะการสนับสนุนทางการเงินในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนในโครงการสีเขียว และโครงการเพื่อความยั่งยืน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเงินเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน อาทิ การออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืนอื่น ๆ

2.การให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศไทย ADB มีโครงการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประเทศไทยในแผนงานปี 2566-2568 ทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและการแพทย์สาธารณสุข นอกจากนี้ ADB ได้แสดงความพร้อมในการสานต่อโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการ (Technical Assistance: TA) ต่าง ๆ แก่ประเทศไทยในด้านการระดมทรัพยากรในประเทศ (Domestic Resources Mobilization: DRM) รวมถึงสนับสนุนการดำเนินการตามโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียวของประเทศไทย

3.ความร่วมมือในการสนับสนุนยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) โดยการสนับสนุนทางการเงินให้แก่โครงการต่าง ๆ เพื่อการเสริมสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค (Seamless Connectivity) และการพัฒนาภูมิภาคในลักษณะยั่งยืนและมีนวัตกรรม โดยประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มและผลักดันการจัดตั้งกองทุน ACMECS Development Fund (ACMDF)

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้แสดงความขอบคุณ ADB ในการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในการศึกษาการจัดตั้งกองทุน ACMDF และได้เสนอให้ ADB พิจารณาร่วมสมทบทุนในกองทุนดังกล่าว โดย ADB พิจารณาหาแนวทางความร่วมมือ ในการจัดตั้งกองทุน ACMDF ต่อไป