“ฉัตรชัย” ชูภารกิจ ธอส. แก้หนี้-ตรึงดอกกู้ อุ้มลูกค้าไม่ให้จมน้ำ

ฉัตรชัย ศิริไล
ฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์
สัมภาษณ์

“ทำให้คนไทยมีบ้าน” เป็นมอตโต้ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ใช้ชี้ทิศทางการทำงาน อย่างไรก็ดี ในช่วงที่คนไทยต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตที่ถาโถมเข้ามา ในฐานะแบงก์รัฐที่มีบทบาทสำคัญแห่งหนึ่ง ก็มีหน้าที่ต้องช่วยให้ลูกค้าอยู่รอดฝ่าวิกฤตไปให้ได้ด้วย

และแม้ว่าในปัจจุบันวิกฤตโควิด-19 จะคลี่คลาย แต่ก็มีปัญหาเงินเฟ้อ ค่าครองชีพแพง ดอกเบี้ยขาขึ้นเข้ามาอีก การบริหารแบงก์ในยุคนี้จึงไม่ง่าย แต่จะทำอย่างไร แม่ทัพใหญ่ “ฉัตรชัย ศิริไล” กรรมการผู้จัดการ ธอส. ได้มาเล่าให้ฟัง

พยุงลูกหนี้ไม่ให้จมน้ำ

โดย “ฉัตรชัย” บอกว่า ปัจจุบัน ธอส.ยังมีลูกหนี้อยู่ระหว่างการรับความช่วยเหลือตามมาตรการของธนาคาร คิดเป็นวงเงินกู้รวมประมาณ 70,000 ล้านบาท โดยธนาคารจะยังคงมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้มารองรับต่อเนื่อง ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกแพ็กเกจผ่อนชำระ 25%, 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระปกติได้

“ในจำนวนนี้ มีประมาณ 20,000 ล้านบาท ที่อาจอ่อนแรงลง เนื่องจากเริ่มผ่อนชำระไม่ปกติ แต่จะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มดอกเบี้ยคงที่ และ ธอส.ตั้งสำรองเต็มจำนวนไว้หมดแล้ว อย่างไรก็ดี ลูกหนี้กลุ่มนี้ยังมีความตั้งใจผ่อนชำระ หรือยังคงจ่าย แม้จะได้รับผลกระทบ ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำคือ ออกแพ็กเกจประคองเขาไปเรื่อย ๆ ไม่ให้จมน้ำ”

กัดฟันตรึงดอกกู้ถึงสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นนั้น “ฉัตรชัย” ยืนยันว่า ธอส.จะตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อย่างน้อยถึงสิ้นปี 2565 นี้ เพื่อแบ่งเบาภาระและให้เวลาลูกค้าในการปรับตัว โดยพอร์ตลูกหนี้ที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัวมีอยู่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะสามารถขยับดอกเบี้ยของธนาคารไปให้เท่ากับตลาดได้ในเวลาอีก 6 เดือนข้างหน้า

หรือราวกลางปี 2566 แน่นอนว่าจะมีผลกระทบต่อต้นทุนของธนาคาร จากส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่หายไปสูงสุด 1,900 ล้านบาท ขณะที่ในปีหน้าประเมินว่า การทยอยขึ้นดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะกระทบรายได้อีกกว่า 5,000 ล้านบาท

“จากนี้ไปอีก 3 เดือน ถ้าส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยแบงก์กับ กนง. อยู่แค่ 0.25-0.50% ก็ไม่น่ากลัว แต่หากถ่างไปถึง 0.75% อาจเป็นเรื่องใหญ่ แต่ประเมินแล้วเต็มที่น่าจะแค่ 0.5% ซึ่งยังต้องลุ้นในการประชุม กนง.รอบวันที่ 30 พ.ย.นี้อีกที จากนั้น ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2566 ไป ธนาคารจะค่อย ๆ ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยไปให้เท่ากับตลาด ตอนนี้ NIM เราบางลงเรื่อย ๆ ดังนั้น สิ่งที่แบงก์ต้องทำ คือ ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และบริหารคุณภาพสินทรัพย์ เพื่อไม่ต้องตั้งสำรองหนี้”

กดกำไรต่ำอุ้มลูกค้าฝ่าวิกฤต

“ฉัตรชัย” กล่าวอีกว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธอส.ปล่อยสินเชื่อใหม่ร้อนแรง ตกประมาณปีละ 3 แสนล้านบาท แต่ธนาคารกลับมีกำไรแค่ 1.4 หมื่นล้านบาท ตามดัชนีชี้วัดผลงาน (KPI) เท่านั้น เนื่องจากธนาคารใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ เพื่อดูแลลูกค้า

“ถ้าปีไหนปล่อยสินเชื่อใหม่ไม่ถึง 3 แสนล้านบาท ถามว่าจะเอากำไรที่ไหนมาส่งกระทรวงการคลัง ดังนั้น จากนี้ไป เราต้องลงทุนเทคโนโลยี เพราะการลงทุนครั้งเดียวสามารถเพิ่มวอลุ่มได้ไม่จำกัด และยังคงมุ่งเน้นภารกิจปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำการมีบ้านของคน ซึ่งขณะนี้จิ๊กซอว์หลาย ๆ ตัวกำลังจะเสร็จสมบูรณ์”

ทุ่ม 400 ล้านอัพเกรดเทคโนโลยี

ทั้งนี้ ท่ามกลางหลาย ๆ ปัจจัย ธอส.ต้องเร่งปรับตัว เพื่อให้ธนาคารสามารถลดความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อยได้ ด้วยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงมีผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย สามารถรับมือกับปัจจัยแวดล้อมที่เกิดขึ้น

คณะกรรมการ ธอส.ได้มีมติเห็นชอบให้ธนาคารลงทุนพัฒนาทางด้านระบบเทคโนโลยีและบริการดิจิทัลใหม่ ด้วยงบฯลงทุนรวมไม่เกิน 400 ล้านบาท เรียกว่า “end to end process” หรือการให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการของธนาคารได้ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย ผ่านบริการด้านดิจิทัลทั้งหมด ซึ่งช่วยให้ลูกค้าได้รับความสะดวกและลดต้นทุนการดำเนินงานของธนาคารไปพร้อมกัน

“เทคโนโลยีที่จะลงทุน จะมี 3 module หลัก ประกอบด้วย 1.ด้าน funding 2.ด้านสินเชื่อ และ 3.ด้านการบริหารจัดการทรัพย์ด้อยคุณภาพ”

พัฒนาแอปใหม่ปล่อยสินเชื่อ

ล่าสุด ธอส.ได้ใช้เงินลงทุนกว่า 70 ล้านบาท พัฒนาแอปพลิเคชั่น GHB ALL GEN ซึ่งถือเป็นแอปใหม่ที่ธนาคารได้พัฒนาขึ้นมา เพื่อรองรับการใช้งานแทนแอป GHB ALL เดิม ที่ปัจจุบันมีลูกค้าสมัครและใช้บริการอยู่มากกว่า 1 ล้านคน

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานให้ดียิ่งขึ้นและรองรับลูกค้าได้ทุกเจเนอเรชั่น จะทำให้ลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อ ธอส.ได้สะดวกยิ่งขึ้น เสมือนเดินทางไปที่สาขา ทั้งนี้ ธนาคารจะถ่ายโอนลูกค้าให้ย้ายจากแอป GHB ALL ไปสู่แอป GHB ALL GEN ให้ได้ทั้งหมดภายในวันที่ 31 มี.ค. 2566

รุกรีโนเวตบ้านมือสองขาย

นอกจากนี้ ธอส.ยังได้เริ่มจัดทำโครงการรีโนเวตบ้านมือสอง ก่อนนำออกขาย ถือเป็นธุรกิจใหม่ของธนาคาร โดยคัดเลือกทรัพย์ทำเลดี ที่ตั้งเหมาะสม นำไปรีโนเวตให้น่าสนใจขึ้น ซึ่งในปี 2565 นี้ มีแผนรีโนเวตทั้งสิ้น 10 หลัง ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือน มี.ค. อย่างไรก็ดี การขายบ้านมือสองของธนาคารไม่ได้มุ่งหวังผลกำไร แต่ต้องการลดจำนวนการถือครองบ้านมือสองของธนาคาร เพื่อลดภาระการตั้งสำรองลง

สินเชื่อใหม่ 3 แสนล้านทะลุเป้า

“ตลาดที่อยู่อาศัยของไทย ถือว่ายังไม่ถึงจุดอิ่มตัวโดยตอนนี้ ธอส.สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ถึง 3 แสนล้านบาทแล้ว ส่วนปี 2566 คาดว่าจะขยายสินเชื่อใหม่ได้ไม่น้อยกว่า 2.5 แสนล้านบาท” เอ็มดี ธอส. กล่าว