ผู้ว่าแบงก์ชาติกางโจทย์ 5 หางเสือ กับปฏิบัติการทุบ “หนี้ครัวเรือน”

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย

ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลก ธนาคารกลางทั่วโลกพลิกตำรานโยบายการเงินรับมือ perfect storm ที่เป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต สำหรับ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” (ธปท.) ที่วันนี้หลายฝ่ายอาจมองว่าการดำเนินนโยบายการเงินของไทยไม่สอดคล้องกับบริบทโลก ในภาวะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ดำเนินนโยบายการขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงต่อเนื่อง เพื่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อสูง ทั้งนี้การดำเนินนโยบายของ ธปท.ในระยะข้างหน้าจะมีทิศทางอย่างไร

5 หางเสือโจทย์สำคัญปี’66

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงแผนงานในปี 2566 กำหนดเป็น “หางเสือ” เพื่อให้มีทิศทางชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งมีทั้งหมด 5 หางเสือ ซึ่งหลายเรื่องทำอยู่แล้วและต้องทำต่อเนื่อง

หางเสือแรก คือ smooth take off การทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบไม่สะดุด เป็นไพรออริตี้หลักจากบริบทเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่ยังฟื้นตัวช้ากว่าเพื่อนบ้าน ซึ่งคาดว่าจะกลับมาช่วงก่อนโควิด-19 ได้ภายในปลายปีนี้หรือต้นปี 2566

“จะทำอย่างไรให้การฟื้นตัวไปได้ smooth take off เพราะโจทย์เราไม่เหมือนที่อื่น ซึ่งหลายประเทศไม่ใช่ “smooth take off” แต่เป็น “smooth landing” ธนาคารกลางหลายแห่งที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยสูง เนื่องจากเศรษฐกิจร้อนแรง แต่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าชาวบ้าน ทำให้แตกต่างกันทั้งบริบทและนโยบาย”

และสิ่งที่จะทำให้การเติบโตสะดุด คือ “อัตราเงินเฟ้อสูงเกินไป” และ “ภาวะการเงินตึงตัวเกินไป” จนระบบการเงินไม่สามารถทำหน้าที่ได้ จึงส่งผลให้ ธปท.ต้องปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ “normalization” แบบค่อยเป็นค่อยไป และเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจไทย โดยที่ต้องทำให้มั่นใจว่า smooth take off

การถอนคันเร่งเข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากจะสร้างเสถียรภาพการเงิน และยังสร้างความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) เพราะถ้า ธปท.ไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะเป็นห่วงคนเป็นหนี้ ซึ่งระยะต่อไปหากเกิดอะไรขึ้น ธปท.จะไม่มีช่องทางในการทำอะไรได้เลย

ดังนั้น โจทย์หลักคือการสร้างกันชน ซึ่งจะประกอบด้วยอัตราดอกเบี้ย ทุนสำรองที่เพียงพอ หนี้ต่างประเทศระยะสั้น หนี้ครัวเรือนที่ไม่สูงจนเกินไป ถือเป็นกันชนสำคัญ เนื่องจากวันนี้เราเจอความไม่แน่นอนและผันผวนสูง

กด “หนี้ครัวเรือน” 80% ของจีดีพี

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวต่อว่า หางเสือที่สอง คือ “หนี้ครัวเรือน” การที่เครื่องบินจะ “take off” และบินต่อไปได้แบบยั่งยืน ก็ต้องจัดการให้ “หนี้ครัวเรือน” อยู่ในระดับยั่งยืน ซึ่งก่อนเกิดวิกฤตโควิด หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 50% ต่อจีดีพี และหลังโควิดก็เคยพีกขึ้นไปถึง 90% แม้ว่าไตรมาส 2/65 จะปรับลงมาอยู่ในระดับ 88% ของจีดีพี แต่ก็ถือว่าสูงเกินไป อาจทำให้การฟื้นตัวสะดุดได้ โดยระดับที่ยั่งยืนหนี้ครัวเรือนไม่ควรเกิน 80% ของจีดีพี

ทั้งนี้การจัดการเพื่อให้สัดส่วน “หนี้ครัวเรือน” ลงมา ต้องทำอย่างครบวงจร ทั้งช่วงชีวิตตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ระหว่างก่อหนี้ และมีปัญหาหนี้ที่จะต้องแก้ไข รวมถึงจัดให้มีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงจะต้องเป็นการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (responsible lending) แต่การจะเอามาใช้ในช่วงวิกฤตก็จะยิ่งทำให้คนเข้าถึงสินเชื่อได้ยาก

“เรื่องหนี้ครัวเรือนก็อยากทำให้เร็ว แต่มันไม่มียาวิเศษที่จะได้ผลทันที และต้องทำให้ถูกต้อง และไม่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้ หรือ moral hazard รวมถึงไม่เป็นการผลักภาระหนี้ไปในอนาคต อย่างการพักหนี้ แม้ว่าจะดูดี แต่ดอกเบี้ยและหนี้ยังวิ่งอยู่ ซึ่งเป็นการเตะปัญหาไปข้างหน้าแต่ปัญหายังอยู่”

นอกจากนี้วิธีการต่าง ๆ ไม่ควรทำให้คนออกจากระบบสินเชื่อ และต้องย้ำว่าเรื่องการจัดการหนี้ครัวเรือนไม่เร็วและต้องใช้เวลา

เมื่อ Green กระทบเศรษฐกิจ

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวถึง หางเสือที่สามว่า คือ เรื่อง green ความยั่งยืน เรื่องนี้หากไม่ทำเราจะไม่สามารถเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน เพราะตัวเลขฟ้องว่าไทยถูกผลกระทบจากภูมิอากาศและมาตรการ “ตอบโต้” จากประเทศพัฒนาแล้ว โดย 1 ใน 3 แรงงานไทยอยู่ในภาคเกษตร และการส่งออกเกือบ 50% อยู่ในอุตฯชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และพลาสติก ซึ่งจะถูกกระทบ รวมถึงภาคท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนรายได้ 12% ของจีดีพี สิ่งเหล่านี้จะถูกกระทบหมด

บทบาทของ ธปท. คือ สนับสนุนภาคการเงินให้สามารถเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจยั่งยืนมากกว่านี้ โดยเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ธปท.ได้ออก “direction paper” เรื่อง green และจะออกแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมออกมา

ยกเครื่ององค์กรแบงก์ชาติ 80 ปี

หางเสือที่สี่ คือ digital เป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ เพื่อให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่นที่ได้ดำเนินไปแล้วอย่างการให้บริการ Promptpay, QR Code, Fast Payment แต่ตอนนี้จะต้องต่อยอดสิ่งที่ทำไปแล้ว เช่นระบบเชื่อมต่อการโอนเงินข้ามประเทศ cross border

อย่างโครงการเชื่อมต่อระหว่าง “พร้อมเพย์” ของไทยกับ “เพย์นาว” ของสิงคโปร์ ซึ่งถือเป็นการเชื่อมต่อคู่แรกของโลก และต่อไปจะต่อยอดพร้อมเพย์สู่ภาคธุรกิจ หรือเรียกว่า PromptBiz เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลทางการเงิน เพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวต่อว่า หางเสือที่ห้า คือ HROD (human resources organization development) เป็นเรื่องภายในของ ธปท. ถือเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะปรับเปลี่ยนองค์กรที่อยู่มา 80 ปี ดังนั้นจะต้องปรับองค์กร บุคลากร ให้พร้อมที่จะสามารถขับเคลื่อนภารกิจ 4 หางเสือให้เดินต่อไปได้

“ท้ายที่สุดเราควรทำสิ่งที่ดีที่สุด เพราะเราทำแค่นี้ไม่พอ และคำถามที่โดนถามบ่อย คือ เศรษฐกิจจะไปทางไหน และ growth จะมาจากไหน ซึ่งไม่มีใครรู้หรอก เพราะเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงเร็ว แม้ว่าเราจะมีอุตสาหกรรม S-curve แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะรู้ แต่สิ่งที่เราทำ คือ ต้องปูพื้นฐานให้เกิดของใหม่ เพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นได้”

คุมแบงก์ผุดแคมเปญยั่วกิเลส

ด้าน นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวเสริมว่า ประเด็น “หนี้ครัวเรือน” ธปท.อยากเห็นให้อยู่ในสัดส่วนไม่เกิน 80% ต่อจีดีพี เป็นระดับของความยั่งยืน และเป็นมาตรฐานสากล ซึ่งการที่จะทำให้ไปสู่จุดนั้นได้มีเรื่องที่ต้องแก้ คือ 1.การลดหนี้ปัจจุบัน ซึ่ง ธปท.ก็มีแนวทางดูแลลูกหนี้ผ่านมาตรการต่าง ๆ รวมถึงมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้

2.การปล่อยสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ โดยในเฟสแรก ธปท.จะประกาศหนังสือเวียนให้ธนาคารตระหนักถึงการออกโปรดักต์-แคมเปญที่ “กระตุกพฤติกรรม” การก่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ไม่ใช้ของที่ไม่จำเป็น เป็นหนี้ที่ไม่มีประโยชน์ ซึ่งคาดว่าจะออกประกาศภายในไตรมาสแรกปี 2566

และท้ายที่สุด 3.การให้ความรู้ทางการเงิน ธปท.จะมีการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกว่า 10 แห่งในการให้ความรู้ทางการเงินถึงระดับชุมชนมากขึ้น เพื่อที่จะให้มีความรู้ความเข้าใจในทุกมิติของเรื่องการเงินแท้จริง

ขีดเส้นธุรกิจไม่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

นายรณดลกล่าวว่า สำหรับประเด็นเรื่อง “green” เป็นเรื่องที่ต้องตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม และความสามารถในการแข่งขัน โดยบทบาทของ ธปท. คือ ส่งเสริมภาคธุรกิจ สถาบันการเงินรับรู้และปรับเปลี่ยนไปสู่ “green” ซึ่งการเปลี่ยนผ่านมี 3 เรื่อง คือ 1.การจัดเก็บข้อมูลที่เป็นมาตรฐานว่าธุรกิจใดเป็นและไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ธปท.จึงต้องมีการกำหนด “นิยาม” เริ่มจากภาคธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คือ “ขนส่ง-พลังงาน” และหลังจากนั้น “เกษตร-อาหาร” โดยจะเริ่มออกแนวทางการกำหนดนิยามในไตรมาส 1/2566 ว่าธุรกิจอะไร แบบไหนที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะทำให้มีภาระต้นทุนการเงินสูงกว่า

2.การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หากธนาคารมีข้อมูลก็สามารถปล่อยสินเชื่อได้ในราคาและความเสี่ยงที่เหมาะสม

สุดท้าย 3.สร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้เห็นความสำคัญของเรื่อง “green” เช่น เสนอสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ รวมถึงสิทธิการค้ำประกัน

และทั้งหมดนี้คือ 4+1 หางเสือ ของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2566 ท่ามกลางสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย