แบงก์กรุงเทพ แนะไทยตุนเงินสำรอง รับมือเศรษฐกิจโลกถดถอยกลางปีหน้า

ธุรกิจ-เงิน-หุ้นกู้

ธนาคารกรุงเทพ ประเมินเศรษฐกิจไทยมีความท้าทายมากขึ้น จากวิกฤตในภาคเศรษฐกิจจริง ทั้งส่งออกและการจ้างงานที่เริ่มชะลอตัว แนะไทยตุนเงินสำรองรับมือภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยที่จะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี’66

วันที่ 4 ตุลาคม 2565 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

ในปี 2566 เป็นปีที่มีความท้าทายมากกว่าปี 2565 จากการเผชิญวิกฤตในภาคเศรษฐกิจจริง โดยเฉพาะในภาคการส่งออก การจ้างงาน โดยขณะนี้ไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยแล้ว สะท้อนจากภาคการส่งออกของไทยที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565

นอกจากนี้ ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. พบว่าตัวเลขการบริโภคภายในประเทศขณะนี้เริ่มทรงตัวและนิ่ง จากช่วงก่อนหน้านี้ที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ จึงมีเพียงภาคการท่องเที่ยวที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นความท้าทาย และไทยจะต้องบริหารให้ดี มิเช่นนั้นไทยอาจก้าวไม่พ้นเหว

ดร.กอบศักดิ์ยังมองถึงทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐว่า จากการที่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐที่พุ่งสูงถึง 8% สูงสุดในรอบ 40 ปีนั้น ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด จำเป็นต้องใช้ยาแรงเพื่อสกัดตัวเลขเงินเฟ้อให้ลดลง จึงเชื่อว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปจนถึง 5% เป็นอย่างน้อย ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ ตัวเลขผู้ว่างงานจะพุ่งสูงถึง 5% และภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยประธานเฟดกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นราคาที่ต้องจ่ายเพื่อคุมตัวเลขเงินเฟ้อให้ลดลง

ขณะที่อัตราดอกเบี้นโยบายของไทยมองว่า จะปรับขึ้นไปที่ 1% กว่า ในขณะที่ประเทศอื่น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ Emerging Market อาจต้องปรับขึ้นไปถึง 4-8% โดยเชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในช่วงต้นปี’66 และมองว่าช่วงเดือนเมษายนปี’66 จะเห็นภาพชัดเจนว่า โลกจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ และเมื่อถึงตอนนั้น อัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลง ทำให้ ธปท.ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ดร.กอบศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า วิกฤตในกลุ่ม Emerging Market เช่น สปป.ลาว เมียนมา บังกลาเทศ ปากีสถาน ศรีลังกา รวมถึงประเทศในละตินอเมริกา ที่ขณะนี้เริ่มเกิดปัญหาสะสม และจะลุกลามขึ้นในช่วงที่เฟดมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุด และความสามารถทางการแข่งขันที่ลดลงหลังวิกฤตผ่านพ้นไป ซึ่งถือเป็นอีกสิ่งที่น่ากังวลใจ

“วิกฤตเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศ Emerging Market ในช่วงกลางปีหน้า เราต้องทำตัวไม่ให้เป็นเหยื่อ โดยไทยจะต้องมีเงินทุนสำรองที่เพียงพอ เพราะทุกประเทศที่มีปัญหาเกิดขึ้นเพราะเงินสำรองหาย ดังนั้นไทยต้องถนอมเงินสำรอง เพราะไทยจะต้องใช้เงินเยอะในช่วงกลางปี” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

ดร.กอบศักดิ์กล่าวอีกว่า การที่เงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ แต่ถือเป็นการอ่อนค่าในอัตราใกล้เคียงกันเมื่อเทียบกับประเทศอื่น และถือเป็นการช่วยเกษตรกร ช่วยภาคส่งออก และภาคการท่องเที่ยวของไทย

พร้อมแนะให้มีการจัดสรรงบประมาณโปรโมตการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น มีการผลักดันเรื่อง LTR หรือวีซ่าระยะยาวสำหรับนักท่องเที่ยว ส่งเสริมการลงทุนโดยตรง หรือ FDI ส่งเสริมการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ PPP ในโครงสร้างพื้นฐาน และแนะให้มีการเปิดเผยข้อมูลด้านต่าง ๆ ของไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยว และการลงทุนที่เริ่มกลับมา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในสายตาชาวต่างชาติ