เช็กมาตรการแบงก์ ที่ไหนให้กู้ พักหนี้ ลดดอกเบี้ย ช่วยลูกค้าน้ำท่วม

แบงก์พาเหรดออกมาตรการช่วยน้ำท่วม

สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ-ธนาคารพาณิชย์ ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าประสบผลกระทบจากอุทกภัย ทั้งพักหนี้-ลดดอกเบี้ย-เว้นเรียกเก็บดอกเบี้ยปรับ-อัดวงเงินเพิ่ม-ให้กู้ฉุกเฉิน

วันที่ 5 ตุลาคม 2565 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดช่วงนี้ ส่งผลกระทบต่อประชาชนและธุรกิจในวงกว้าง ล่าสุด ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ หลายแห่ง ได้ออกมาตรการมาให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบภัยกันแล้ว

ไทยพาณิชย์ออก 5 มาตรการเร่งด่วน

เริ่มจากธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ออกมาตรการพิเศษบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้าเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม จากพายุโซนร้อน “โนรู” โดยให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารอย่างเร่งด่วน ครอบคลุมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางตรง

คือ สถานประกอบการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยและทรัพย์สินของกิจการได้รับความเสียหาย และกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม คือ สถานประกอบการตั้งอยู่นอกพื้นที่ แต่มีคู่ค้าอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ส่งผลให้ธุรกิจของลูกค้าไม่สามารถดำเนินการตามปกติได้

ประกอบด้วย 5 มาตรการหลัก ได้แก่

  1. พักชำระเงินต้น (Grace Period) สูงสุดนาน 6 เดือน
  2. พักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ไม่เกิน 3 เดือน
  3. ยกเว้นการเรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัดชำระ (อัตราดอกเบี้ยปกติ) สำหรับการผิดนัดชำระไม่เกิน 30 วัน
  4. เพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว สูงสุด 20% ของวงเงิน Working Capital เดิมและไม่เกิน 10 ล้านบาท
  5. วงเงินกู้สำหรับปรับปรุง ซ่อมแซม หรือซื้อทดแทนทรัพย์สินของกิจการที่เสียหายสูงสุด 20% ของวงเงินรวมเดิม สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท ผ่อนชำระนานสูงสุด 7 ปี

ทั้งนี้ ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบสามารถขอรับมาตรการช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2565

ธอส. พยุงลูกหนี้สินเชื่อบ้านผ่าน 7 มาตรการ

ขณะที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจาก “พายุโนรู” ผ่าน 7 มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2565 ภายใต้กรอบวงเงินรวม 1,000 ล้านบาท โดยพิจารณาตามระดับความเสียหาย ประกอบด้วย

มาตรการที่ 1 สำหรับลูกค้าปัจจุบันของ ธอส. ที่อยู่ระหว่างการใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (MRR -0.50%, MRR -1.00% หรือ MRR เป็นต้น) กรณีหลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติสามารถขอลดเงินงวด 50% จากเงินงวดที่ชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน

มาตรการที่ 2 สำหรับลูกค้ากู้ใหม่ หรือลูกค้าปัจจุบันของ ธอส. ที่หลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ สามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย วงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 หลักประกันคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3% ต่อปี นาน 1 ปี ปีที่ 2-3 อัตราดอกเบี้ย MRR -3.15% ต่อปี (ปัจจุบันเท่ากับ 3% ต่อปี) และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -1% ต่อปี

กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -0.50% ต่อปี พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมในรายการที่เกี่ยวข้องให้ทั้งหมด ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการกู้ทุกกรณีหลังจากนิติกรรมแล้วในรายการที่เกี่ยวข้อง

มาตรการที่ 3 ลูกค้าสถานะ NPL ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก และไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 7-18 อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ให้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 4 ลูกค้าสถานะ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก และผ่อนชำระเงินงวดเพียง 1,000 บาท (ตัดเงินต้นทั้งหมด) จากนั้นเดือนที่ 7-12 อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน บวกอีก 100 บาท และเมื่อผ่อนชำระครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกค้ากลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 5 ลูกค้าสถานะบัญชีปกติและสถานะ NPL ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือ (พิจารณาเป็นรายกรณี)

มาตรการที่ 6 ลูกค้าสถานะบัญชีปกติและสถานะ NPL หากที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น (พิจารณาเป็นรายกรณี)

มาตรการที่ 7 พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ รวมถึงกรณีน้ำท่วม หรือลมพายุ พิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าที่เป็นผู้ประสบภัยทุกรายอย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ โดยผู้เอาประกันยื่นเอกสารแจ้งความเสียหาย จ่ายตามความ เสียหายจริงตามภาพถ่าย รวมทุกภัยธรรมชาติไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี

และสำหรับลูกค้าที่มีกรมธรรม์ เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2562 เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติตามความเสียหายจริงจากหลักฐานภาพถ่าย แต่ไม่เกินภัยละ 30,000 บาทต่อปี

ทั้งนี้ ลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการตามมาตรการที่ 1-6 สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปถึงวันที่ 30 ธ.ค. 2565 และมาตรการที่ 7 ติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

EXIM BANK จัด “มาตรการ 2 เพิ่ม 3 ช่วย”

ด้านธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในหลายจังหวัดตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ ภายใต้กรอบการดำเนินการช่วยเหลือ “2 เพิ่ม 3 ช่วย” โดยเพิ่มวงเงินกู้ซ่อมเครื่องจักรหรือโรงงานสูงสุด 2 ล้านบาท เพิ่มวงเงินทุนหมุนเวียนชั่วคราวสูงสุด 20% ช่วยลดเงินต้นและดอกเบี้ย พร้อมช่วยคืนดอกเบี้ยจ่าย 2% ตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด รวมทั้งช่วยขยายระยะเวลาต่ออายุตั๋วสัญญา ให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจส่งออกหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกตลอดทั้ง Supply Chain ได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ “มาตรการ 2 เพิ่ม 3 ช่วย” สำหรับลูกค้า EXIM BANK ประกอบด้วย

  • เพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว สูงสุด 20% ของวงเงินประเภทหมุนเวียนเดิม ไม่เกิน 2 ล้านบาท โดยอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยเดิมของลูกค้า
  • เพิ่มวงเงินกู้ สูงสุด 2 ล้านบาท เพื่อซื้อหรือซ่อมแซมเครื่องจักรหรืออาคารโรงงานที่ได้รับความเสียหาย อัตราดอกเบี้ย Prime Rate ต่อปี ระยะเวลานาน 3 ปี ปลอดชำระเงินต้น (Grace Period) สูงสุด 3 เดือน
  • ช่วยลดการผ่อนชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยลง สูงสุด 50% เป็นระยะเวลาสูงสุด 1 ปี
  • ช่วยคืนเงิน 2% ของดอกเบี้ยจ่ายสะสมในระยะเวลาดังกล่าว โดยพิจารณาลูกค้าแต่ละรายตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด กรณีลูกค้าสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขใหม่ได้
  • ช่วยขยายระยะเวลาต่ออายุตั๋วสัญญาใช้เงินเกินเทอมที่ธนาคารคารอนุมัติ สูงสุด 180 วัน

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ย Prime Rate ปัจจุบันเท่ากับ 5.75% ต่อปี

ออมสิน ให้กู้ฉุกเฉินไม่เกิน 5 หมื่นบาท ไม่คิดดอกเบี้ยปีแรก

ฟากธนาคารออมสิน ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบภัย โดยให้ลูกหนี้สามารถพักชำระหนี้เงินต้น โดยเลือกชำระเฉพาะดอกเบี้ย 10%-100% และกรณี Flat Rate ลดการชำระเงินงวด 50% ตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด

ขณะเดียวกัน ธนาคารยังให้ประชาชนที่ประสบภัยกู้เงินฉุกเฉิน สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากเหตุน้ำท่วม/ภัยพิบัติ รายละไม่เกิน 50,000 บาท ไม่คิดดอกเบี้ยในปีแรก หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.85 ต่อเดือน (Flat Rate) ชำระเงินเป็นรายเดือน 3-5 ปี โดยปลอดชำระเงินงวด 3 เดือนแรก

นอกจากนี้ ยังให้สินเชื่อเคหะแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ เพิ่มเติมสำหรับลูกค้าเดิมและประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบเพื่อซ่อมแซมต่อเติมที่อยู่อาศัยส่วนที่เสียหายได้ถึง 100% ของราคาประเมิน โดยดอกเบี้ยปีที่ 1-3 = 3.49% (MRR -2.755%) และปีที่ 4 เป็นต้นไป = 4.99% ต่อปี (MRR -1.250%)

และสินเชื่อบุคคลแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายอเนกประสงค์ในการบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ วงเงินกู้สูงสุดไม่เกินรายละ 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-3 = 3.99% (MRR -2.255%) ปีที่ 2 = 4.99% (MRR -1.255%) ปีที่ 3 เป็นต้นไป = 5.745% และสินเชื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจของธนาคาร วงเงินกู้สูงสุด 10% ของวงเงินกู้เดิมแต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุด 5 ปี

โดยปลอดชำระเงินต้น 1 ปี อัตราดอกเบี้ยปีแรก 3.50% ปีที่ 2 เป็นต้นไป = MLR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยธนาคาร MRR = 6.245% และ MLR = 6.150% ต่อปี)