ดอลลาร์ยังแข็งค่า จับตาตัวเลขการจ้างงานสหรัฐ

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์ยังแข็งค่า จับตาตัวเลขการจ้างงานสหรัฐที่ลดลงอาจทำให้เฟดชะลอความแรงในการปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ รวมถึงการประกาศมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ของสหรัฐต่อต่อรัสเซีย ขณะที่ปัจจัยในประเทศธปท.ยันเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่อง

ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 3-7 ตุลาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันจันทร์ (3/10) ที่ระดับ 37.85/87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30/9) ที่ระดับ 37.77/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงต้นค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนจากการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐ ที่ออกมาสูงกว่าคาด

ซึ่งสอดคล้องถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดที่ยังส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยสูงและแรงต่อเนื่อง โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น 4.9% ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบรายปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.7% จากระดับ 4.7% ในเดือนกรกฎาคม

สหรัฐประกาศมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่อรัสเซีย

ในขณะเดียวกัน สหรัฐได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่อรัสเซีย หลังจากรัสเซียประกาศผนวกดินแดน 4 แคว้นของยูเครน โดยสหรัฐมุ่งเน้นคว่ำบาตรประชาชนและบริษัทจำนวนหลายร้อยราย ซึ่งรวมถึงบุคคลในกองทัพและภาคอุตสาหกรรม และสมาชิกสภานิติบัญญัติของรัสเซีย

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้เริ่มปรับตัวอ่อนค่าลงในวันอังคาร (4/10) หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ โดยดัชนีภาคการผลิตที่ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี โดยสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 50.9 ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 52.3 จากระดับ 52.8 ในเดือนสิงหาคม

โดยดัชนีภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากคำสั่งซื้อใหม่ที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ต่อด้วยในวันพุธ (5/10) สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ลดลง 1.1 ล้านตำแหน่ง สู่ระดับ 10.1 ล้านตำแหน่งในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 11.1 ล้านตำแหน่ง

ทั้งนี้การปรับตัวลงของ JOLTS อาจจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอความแรงในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน อย่างไรก็ดี ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้เริ่มปรับตัวแข็งค่าขึ้นในวันพฤหัสบดี (6/10) แตะระดับ 112 อีกครั้งโดยได้รับแรงหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐที่เพิ่มขึ้น 208,000 ตำแหน่งในเดือนกันยายนสูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 200,000 ตำแหน่ง จากระดับ 185,000 ตำแหน่งในเดือนสิงหาคม ขณะที่ภาคบริการมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 238,000 ตำแหน่งในเดือนกันยายน ส่วนภาคการผลิตมีการจ้างงานลดลง 30,000 ตำแหน่ง

ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่า

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 4 ในการประชุมเดือนพฤศจิกายน หลังจากเจ้าหน้าที่เฟดได้ออกมาให้ความเห็นหนุนเฟดให้ขึ้นดอกเบี้ยเชิงรุกเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่ยังสูง

โดยนายนีล แคชแครี ประธานเฟดสาขามินเนอาโพลิสกล่าวว่า เฟดไม่มีแนวโน้มที่จะชะลอการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้ จนกว่าจะมีหลักฐานบ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานได้ชะลอตัวลงแล้ว ซึ่งขณะนี้แทบไม่มีหลักฐานแสดงว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว ขณะเดียวกันเขากล่าวว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน แต่การที่เฟดจะทำการเปลี่ยนแปลงนโยบายเพียงเพื่อจะช่วยเหลือตลาดนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นโดยง่าย

ขณะที่นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์คาดการณ์ว่า คณะกรรมการเฟดอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1.25% ก่อนสิ้นปี 2565 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่สูงมาก ทั้งนี้คาดว่า ตลาดจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนกันยายนในวันนี้ โดยคาดการณ์ว่าตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 265,000 ตำแหน่งในเดือนกันยายน หลังจากพุ่งขึ้น 315,000 ตำแหน่งในเดือนสิงหาคม และคาดว่าอัตราว่างงานเดือนกันยายนจะทรงตัวที่ระดับ 3.7%

แบงก์ชาติชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 5/2565 วันที่ 28 กันยายน 2565 มีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากปัจจุบันที่ 0.75% สู่ระดับ 1.00% โดยให้มีผลทันที

นายปิติ ดิษยทัต เลขาธิการ กนง.ระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับสูงจากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่่ผ่านมาแม้แรงกดดันด้านอุปทานจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มคลี่คลายคณะกรรมการเห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่เหมาะสม

ด้านนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทอ่อนค่าทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว มาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยไม่สามารถกำหนดได้ โดย ธปท.ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด และมีการเข้าไปดูแลในตอนที่มีความผันผวนสูงผิดปกติ เนื่องจากไม่อยากให้ไปกระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 37.15-38.15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (19/8) ที่ระดับ 37.41/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (3/10) ที่ระดับ 0.9824/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30/9) ที่ระดับ 0.9838/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พุ่งแตะ 10% ในเดือนกันยายนเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากระดับ 9.1% ในเดือนสิงหาคม สูงกว่าระดับคาดการณ์เฉลี่ยในผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ระดับ 9.7% และสูงกว่าระดับคาดการณ์ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 และดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่รวมราคาพลังงานและอาหาร พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.8% ในเดือนกันยายน

นอกจากนั้นแล้ว ค่าเงินยูโรยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลของนักลงทุนที่คาดว่า เศรษฐกิจในสหภาพยุโรปที่กำลังพบปัญหาเงินเฟ้อที่สูงในเศรษฐกิจที่กำลังพบกับปัญหาพลังงานด้วยนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่การปรับดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อนั้นจะทำให้เศรษฐกิจในสหภาพยุโรปหดตัว โดย ECB อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมรอบถัดไปในเดือนตุลาคมและธันวาคม

วิกฤตพลังงานในสหภาพยุโรป

อย่างไรก็ตาม ตลาดมีความกังวลว่า การปรับดอกเบี้ยดังกล่าวเพื่อคลายปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงรวมทั้งวิกฤตพลังงานในสหภาพยุโรปอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในอนาคต ทั้งนี้ โดยตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินยูโรยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยมีกรอบระหว่าง 0.9751-0.9999 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (19/8) ที่ระดับ 0.9800/04 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงิน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (3/10) ที่ระดับ 144.78/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30/9) ที่ระดับ 144.28/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายชูนิชิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นพร้อมดำเนินการ “อย่างเด็ดขาด” ในตลาดปริวรรตเงินตรา หากค่าเงินเยนยังคงผันผวนรุนแรงต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นการส่งสัญญาณเตือนนักลงทุนต่อการเข้าแทรกแซงค่าเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นในอนาคต

ในระหว่างสัปดาห์ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้เปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินประจำเดือนกรกฎาคม โดยระบุว่า กรรมการ BOJ มีความเห็นตรงกันว่า BOJ จะต้องดำเนินการตรวจสอบว่า การร่วงลงอย่างหนักหน่วงของเงินเยนในช่วงที่ผ่านมานั้น จะส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้ออย่างไร

กรรมการรายหนึ่งของ BOJ กล่าวว่า แรงกดดันช่วงขาลงของเงินเยนอาจจะบรรเทาลง เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่้มที่จะถ่วงเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยระยะยาวทั่วโลก สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน่า BOJ ได้คาดการณ์ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารสดนั้น อาจจะปรับตัวขึ้นในปีนี้ แต่อัตราการปรับขึ้นจะชะลอตัวลงตามทิศทางราคาพลังงาน

ทั้งนี้ ในการประชุมเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการ BOJ มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ พร้อมกับปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้ เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานพุ่งขึ้นและเงินเยนอ่อนค่าลง ทั้งนี้ ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 143.20-145.30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (19/8) ที่ระดับ 144.84/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ