กองทุนพลังงานสะอาด โอกาสปั้นรีเทิร์นระยะยาว

พลังงานสะอาด

หลังการผ่านกฎหมาย Inflation Reduction Act ของสหรัฐเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ถือเป็นการปฏิวัติการใช้พลังงานครั้งใหญ่ของโลก และได้ปลุกกระแสความสนใจต่อการลงทุนด้านพลังงานสะอาดและรถยนต์ไฟฟ้าให้คึกคักอีกครั้ง

โดย “ชญานี จึงมานนท์” นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าว ทำให้กองทุน ETF เกี่ยวกับ renewable energy ขนาดใหญ่ และกองทุนรถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ กลับมามีเงินไหลเข้า 189.7 ล้านดอลลาร์

จากที่ช่วงก่อนมีเงินไหลออกราว 194 ล้านดอลลาร์ ซึ่งปัจจุบันกองทุนธีมพลังงานสะอาด รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 1.6 หมื่นล้านบาท มีเงินไหลออกสุทธิสะสม 200 ล้านบาท ผลตอบแทนเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ต้นปี -17% (ข้อมูล ณ 31 ส.ค. 2565)

“กองทุนที่ลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่ในประเทศไทย มักเป็นการลงทุนในอเมริกาและยุโรปเป็นหลัก โดยมีการลงทุนในเซ็กเตอร์หลัก ได้แก่ สาธารณูปโภค, เทคโนโลยี หรืออุตสาหกรรม ในด้านสไตล์การลงทุนส่วนใหญ่เน้นในกลุ่มหุ้นเติบโต และอาจเป็นการลงทุนในหุ้นที่มีมูลค่าตามราคาตลาด (market cap) ต่างกัน ซึ่งนำไปสู่ผลตอบแทนและความเสี่ยงที่ต่างกัน”

สำหรับกองทุนที่มีผลตอบแทนสูงสุดสะสมตั้งแต่ต้นปี 2565 ถึง ณ 6 ต.ค. (YTD) นำโดยกองทุน PRINCIPAL GCLEAN-A ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) พรินซิเพิล ผลตอบแทนสะสมสูงสุดที่ 6.41% (ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ 7.58%) ซึ่งเป็นกองทุนที่มีการลงทุนในสหรัฐ เป็นสัดส่วนหลัก รวมถึงลงทุนธุรกิจเกี่ยวข้องกับแผงโซลาร์และ renewable energy ราว 53%

ตามมาด้วยกองทุน T-GlobalEnergy ของ บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย) ผลตอบแทน YTD อยู่ที่ 5.81% (ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ 12.14%) และกองทุน T-ES-GGREEN จาก บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย) เช่นเดียวกัน ผลตอบแทน YTD อยู่ที่ -22.63% (ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ -11.23%) (ดูตารางประกอบ)

ตาราง กองทุนพลังงานสะอาด

“นักลงทุนที่สนใจกองทุนกลุ่มพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียนควรทราบว่าการลงทุนลักษณะนี้จะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละนโยบายหรือธีมที่กองทุนเลือกลงทุน ซึ่งอาจมีการกระจุกตัวในกลุ่มหุ้นเติบโต หรือมีความเสี่ยงสูงกว่าการลงทุนแบบกระจายการลงทุนในหลายธุรกิจ”

ขณะที่ “ปิยะภัทร์ ภัทรภูวดล” ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ (SCBAM) กล่าวว่า ภายใต้กฎหมาย Inflation Reduction Act สหรัฐได้มีการจัดสรรงบประมาณ วงเงินสูงถึง 3.69 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้สำหรับความมั่นคงด้านพลังงานและการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ภายในปี 2573 การปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะต้องลดลง 40% เมื่อเทียบกับระดับเมื่อปี 2548

โดยนโยบายสนับสนุนที่สำคัญจาก Inflation Reduction Act เช่น (1) เครดิตภาษีสำหรับโครงการพลังงานสะอาด รวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานลม, Energy Storage (2) เครดิตภาษีสำหรับภาคครัวเรือนที่มีการติดตั้งอุปกรณ์ เช่น Solar Rooftop (3) เครดิตภาษีสำหรับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (EV) สูงสุด 7,500 เหรียญ เป็นต้น

“นโยบายสำคัญของกฎหมาย Inflation Reduction Act จะช่วยจูงใจให้ผู้ประกอบการเร่งลงทุนโครงการด้านพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น และกระตุ้นให้ภาคครัวเรือนเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเช่นกัน”

ด้าน “ชยานนท์ รักกาญจนันท์” ประธานเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) ฟินโนมีนา กล่าวว่า การผ่านกฎหมาย Inflation Reduction Act ถือว่าได้สร้างความน่าสนใจเกี่ยวกับด้านพลังงานสะอาดให้มากขึ้น

แต่ว่ากฎหมายดังกล่าว จะเอื้อให้บริษัทที่มีการลงทุนในด้านนี้ ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ฉะนั้นหมายความว่า งบประมาณของบริษัทจะทุ่มไปลงทุนในพลังงานสะอาดมากขึ้น ซึ่งการลงทุนของบริษัทต่าง ๆ ในช่วงนี้สะท้อนว่า บริษัทจะมีต้นทุนการใช้จ่ายในระยะสั้นที่เพิ่มขึ้น

ประกอบกับในช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยแรง เพื่อสู้เงินเฟ้อ โอกาสที่จะเจอภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ยังมีอยู่ ทำให้ bottom line ของบริษัทที่ลงทุนด้านนี้ อาจจะไม่ค่อยสวยงาม กำไรอาจจะออกมาไม่ดีมากนัก

“หุ้นด้านพลังงานสะอาดก็อาจจะวิ่งได้ลำบากระดับหนึ่งในช่วงสั้น เพราะตอนนี้เป็นช่วงที่บริษัทกำลังลงทุน ฉะนั้น ในมุมนักลงทุนถ้าถามว่าเป็นจังหวะซื้อไหม ก็มองว่าเป็นจังหวะทยอยซื้อสะสมได้ แต่จะหวังให้หุ้นปรับขึ้นในระยะสั้น อาจจะยาก คงต้องรอบริษัทเหล่านี้กลับมาลงทุนตามปกติ”

อย่างไรก็ดี ภาพการลงทุนด้านพลังงานสะอาดในระยะยาวนั้น ประเทศแถบโซนยุโรปก็มีการนำกฎหมายคาร์บอนเครดิตเข้ามาใช้กับบริษัทต่างชาติที่จะเข้าไปลงทุน หรือหลาย ๆ ประเทศที่เป็นผู้คุมกฎหรือผู้คุมอำนาจส่วนใหญ่พยายามที่จะผลักดันโลกเข้าไปสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น จึงเป็นเทรนด์ของโลกที่ชัดเจน

“แน่นอนว่าจะต้องมีการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้อีกมากในระยะยาวแน่นอน แต่อย่างที่ย้ำว่าในระยะสั้น เราจะยังไม่เห็นการเติบโตมากนัก เพราะเป็นช่วงที่บริษัทกำลังลงทุนอย่างน้อยคงต้องรอ 1-2 ปีหลังจากนี้”

จากการผลักดันที่เป็นรูปธรรมของประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ การลงทุนด้านพลังงานสะอาด จึงเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง