ไทยรั้งท้าย อันดับระบบบำนาญดีที่สุดในโลก ปี 2022

วัยเกษียณ เงินทอง บำนาญ

ผลสำรวจต่างประเทศเผย ไอซ์แลนด์ ระบบบำนาญดีที่สุดในโลก ขณะที่ไทย อันดับระบบบำนาญรั้งท้าย แนะนำให้วางแผนการเงินเพื่อการเกษียณให้ดีที่สุด

วันที่ 14 ตุลาคม 2565 บริษัท Mercer บริษัทให้คำปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ และการบริหารสินทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายงานการสำรวจ Mercer CFA Institute Global Pension Index (MCGPI) ครั้งที่ 14 ซึ่งร่วมกับสถาบัน CFA Institute สถาบันผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ในการสำรวจคุณภาพของระบบบำนาญใน 44 ประเทศ

ผลการสำรวจ เปิดเผยว่า ประเทศไอซ์แลนด์ (Iceland) เป็นประเทศที่มีระบบบำนาญที่ดีที่สุดในโลก โดยได้คะแนนที่ 84.7 คะแนน จัดอยู่ในระดับ A ขณะเดียวกัน ยังมีประเทศอื่น ๆ ที่ถูกจัดอันดับระบบบำนาญอยู่ในระดับ A อีก 2 ประเทศคือ เนเธอร์แลนด์ (Netherlands) ได้คะแนนที่ 84.6 คะแนน และเดนมาร์ก (Denmark) ได้คะแนนที่ 82.0 คะแนน

ขณะที่ประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับประเทศที่มีระบบบำนาญดีที่สุดในโลก เป็นอันดับที่ 44 จากทั้งหมด 44 ประเทศ โดยได้รับคะแนนที่ 41.7 คะแนน จัดอยู่ในระดับ D และเป็นอันดับสุดท้ายในระดับเอเชียอีกด้วย โดยสิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับระบบบำนาญดีที่สุดในบรรดาประเทศทวีปเอเชีย (อันดับ 9 ของโลก ด้วยคะแนน 74.1 คะแนน)

ผลการสำรวจมีการระบุถึงรูปแบบกองทุนบำนาญขององค์กรในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงจากกองทุนแบบกำหนดผลประโยชน์ทดแทน (Defined Benefit-DB) เป็นกองทุนแบบกำหนดเงินสมทบ (Defined Contribution-DC) ซึ่งทำให้ผู้คนต้องวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณกันมากขึ้น

Dr. David Knox Senior Partner ของ Mercer ระบุว่า แต่ละคนมีความรับผิดชอบเรื่องการออมเพื่อการเกษียณมากขึ้นเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ทั้งอัตราเงินเฟ้อที่สูง และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้กำหนดนโยบายต้องทำทุกอย่างเพื่อให้มั่นใจว่าโครงการเกษียณอายุได้รับการสนับสนุน พัฒนา และควบคุมดูแลอย่างดี

การสำรวจ MCGPI เป็นการสำรวจเกี่ยวกับระบบบำนาญจาก 44 ประเทศทั่วโลก ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 65 ของประชากรโลก เน้นข้อบกพร่องบางประการในแต่ละระบบ และแนะนำด้านที่เป็นไปได้ของการปฏิรูปที่จะช่วยให้สวัสดิการหลังเกษียณมีความเพียงพอและยั่งยืนมากขึ้น โดยสำรวจจาก 3 ด้านหลักคือ

  1. ความเพียงพอของบำนาญ (Adequacy) ในแง่ทรัพย์สิน ผลตอบแทน สิทธิประโยชน์ และการสนับสนุนจากภาครัฐ
  2. ความยั่งยืนของระบบบำนาญหลังเกษียณ (Sustainability) โดยเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจ และหนี้สาธารณะ
  3. ความครบถ้วน มั่นคงของระบบ (Integrity) ตั้งแต่ระเบียบและข้อกฎหมาย ความคุ้มครอง และการสื่อสารต่าง ๆ เกี่ยวกับระบบ