สบน.กางแผนรับมือ เทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น โจทย์ท้าทายบริหารหนี้รัฐ

แพตริเซีย มงคลวนิช
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

จากช่วงวิกฤตโควิด-19 มาจนถึงวิกฤตพลังงานแพง ทำให้รัฐบาลมีภาระต้องกู้เงินจำนวนมาก และมองไปข้างหน้าหลายปัญหายังไม่คลี่คลาย แถมเป็นทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น แน่นอนว่า จะท้าทายการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐแน่นอน จะจัดการอย่างไร “แพตริเซีย มงคลวนิช” ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไว้ในโอกาสครบรอบ 20 ปี สบน.

โจทย์ท้าทายปี’66

โดย “แพตริเซีย” กล่าวว่า ตามแผนบริหารหนี้ในปีงบประมาณ 2566 ที่มีการก่อหนี้ใหม่ 1 ล้านล้านบาท หากเป็นไปตามแผน ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2566 หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 60.43% ของจีดีพี ซึ่งในส่วนของการค้ำประกันเงินกู้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 1.5 แสนล้านบาทนั้น ได้ใส่ไว้ในแผนกู้เงินแล้ว 3 หมื่นล้านบาท

ส่วนอีก 1.2 แสนล้านบาท จะบรรจุในแผนบริหารหนี้อีกครั้ง โดยยอมรับว่าหากกองทุนน้ำมันฯกู้เงินเต็มเพดานจะส่งผลให้หนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบฯ 2566 ไปอยู่ที่ 61.2% อย่างไรก็ดี แม้จะนับเป็นหนี้สาธารณะ แต่รัฐบาลไม่ได้รับภาระในการชำระหนี้ เพราะกองทุนจะเป็นผู้ชำระหนี้เอง

“พ.ร.ก.เขียนไว้ชัดว่า มีระยะเวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น เพราะเป็นเรื่องฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากเป็นวิกฤตพลังงาน นอกจากนี้ หากมีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น กองทุนต้องชดใช้ โดยทยอยชำระหนี้เหมือนกรณีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF)”

กู้ต่างประเทศ 3 หมื่นล้าน

นอกจากนี้ สบน.มีแผนการกู้เงินต่างประเทศ 3 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ใน 4 โครงการ โดยโครงการกรมทางหลวงจะขอกู้ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB), โครงการของกรมทางหลวงชนบทจะขอกู้จากธนาคารโลก, โครงการสถาบันซินโคตรอนจะขอกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA), และโครงการของกองทัพเรือจะขอกู้จากธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB)

บอนด์ออมทรัพย์ 1.5 แสนล้าน

นอกจากนี้ มีแผนออกพันธบัตรออมทรัพย์รวม 1.5 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะเปิดจำหน่ายลอตแรกภายในปี 2565 นี้ ไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะต้องดูจังหวะที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เป็นการแย่งสภาพคล่องของเอกชน นอกจากนี้ปีนี้ยังจะออกพันธบัตรรัฐบาลราว 1 ล้านล้านบาท (49%), Bond Switching ราว 1.4 แสนล้านบาท (6%), ตั๋วเงินคลัง (T-Bill) 5.4 แสนล้านบาท (24%), ตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) และ Term Loan อีก 2.82 แสนล้านบาท (13%)

ต้นทุนหนี้รัฐโดยเฉลี่ยลดลง

“แพตริเซีย” กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจและสังคมอยู่ในภาวะไม่ปกติจากวิกฤตโควิด โดยรัฐได้ออกพระราชกำหนดกู้เงินมา 2 ฉบับ รวม 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบ

ซึ่ง สบน.ได้จัดทำกลยุทธ์การบริหารหนี้ระยะปานกลาง เพื่อให้ครอบคลุมความเสี่ยงทางการเงินที่อาจเกิดขึ้น ทั้งด้านอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย และการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงปรับกลยุทธ์การระดมทุน ใช้เครื่องมือที่หลากหลายเพิ่มเติม

“เราใช้เครื่องมือระยะสั้นที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ ในสัดส่วนที่ยังคงสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยและด้านการปรับโครงสร้างหนี้ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุน ที่ต้องการสินทรัพย์สภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น ซึ่งช่วยให้ต้นทุนเฉลี่ยของหนี้รัฐบาลลดลงจาก 3.28% ในปีงบประมาณ 2562 เหลือ 2.34% ในเดือน ส.ค. 2565”

ปรับกลยุทธ์รับดอกเบี้ยขาขึ้น

ส่วนระยะต่อไปนั้นต้องเผชิญความท้าทาย 2 เรื่อง คือ 1.ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น โดย สบน.ได้มีการเปลี่ยนดอกเบี้ย จากลอยตัวไปเป็นคงที่แล้วกว่า 80% แต่อนาคตก็ยังต้องกู้เงินเพิ่มขึ้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าจะมีต้นทุนที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ

ซึ่งการบริหารจะต้องกระจายเครื่องมือให้ดี ดูแลนักลงทุนให้ครบทุกส่วน และต้องไม่ให้ต้นทุนในประเทศเพิ่มขึ้นสูงเกินไป เพราะจะเป็นภาระกับนักลงทุน หรือผู้กู้ทั้งประเทศ และ 2.งบชำระหนี้ ที่ต้องหารือกับสำนักงบประมาณ ถึงการจัดสรรงบชำระหนี้ภาครัฐให้มากขึ้น

กู้ได้อีก 1.7 ล้านล้านบาท

สำหรับเพดานหนี้จะสามารถกลับลงมาอยู่ระดับ 60% ได้เมื่อใดนั้น คงต้องดูว่าในอนาคตจะมีความต้องการใช้เงินอย่างไร ซึ่งภายใต้เพดาน 70% ยังมีช่องให้กู้ได้อีกราว 1.7 ล้านล้านบาท โดยหากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ซึ่งมีความต้องการใช้เงินอีก 1 ล้านล้านบาท ก็สามารถทำได้ แต่โครงการใช้เงินจะต้องชัดเจน

“ถามว่า มีความจำเป็นต้องปรับเพดานหนี้ลงหรือไม่ ก็ยังไม่จำเป็น ถ้าจะให้ตอบว่า จะปรับลงมาสู่ระดับ 60% ได้เมื่อไหร่ ก็ต้องรอทบทวนในอีก 3 ปี ซึ่งจะขึ้นกับสภาพเศรษฐกิจด้วย ถึงตอนนั้นอาจปรับมาเหลือ 65% หรือเหลือ 60% ก็ได้

อย่างไรก็ดี หนี้สาธารณะมีที่เป็นภาระงบประมาณจริง ๆ แค่ 50% ส่วนอีก 10% เป็นหนี้ที่ผู้อื่นเป็นคนดูแลและชำระคืน ถ้าเทียบกับในระดับโลก ดังนั้นสัดส่วนหนี้ของรัฐบาลที่มองว่ากู้เยอะเหลือเกิน แต่จริง ๆ แล้วก็ยังควบคุมได้อยู่ที่ 50%”ผู้อำนวยการ สบน.กล่าว