กองทุนรวมไทยแนวโน้มหดตัว ปัจจัยลบกดดันฉุดเงินไหลออก

หุ้น ลงทุน

มอร์นิ่งสตาร์ ชี้กองทุนไทยแนวโน้มหดตัว ปัจจัยลบกดดัน ฉุดเงินไหลออกกองทุนไตรมาส 3 รวม 2.5 หมื่นล้านบาท รวมเงินไหลออก 9 เดือน 2.3 แสนล้านบาท ด้าน AUM 3.7 ล้านล้านบาท หดตัว 2.6% จากไตรมาส 2 และ 13.1% จากสิ้นปี 2563

วันที่ 18 ตุลาคม 2565 นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในช่วงที่เหลือของปีอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยทีแนวโน้มหดตัว เนื่องจากยังมีปัจจัยที่ยังกดดันทำเม็ดเงินไหลออกจากกองทุน โดยในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านกองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund) มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 3.7 ล้านล้านบาท หดตัว 2.6% จากไตรมาสก่อนหน้า และ 13.1% จากสิ้นปี 2563 ในไตรมาสนี้มีเงินไหลออกสุทธิต่อเนื่องอีก 2.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการไหลออกจากทั้งกลุ่มกองทุนหุ้น ตราสารหนี้ กองทุนผสม และกองทุนตราสารตลาดเงิน รวมเงินไหลออกสุทธิสะสม 9 เดือน 2.3 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ในช่วงไตรมาส 3 ตลาดการเงินการลงทุนทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลจากท่าทีที่ชัดเจนของธนาคารกลางสหรัฐที่มุ่งมั่นจะต่อสู้กับเงินเฟ้อที่สูง โดยได้มีการปรับดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และต่อสกุลเงินอื่นที่อ่อนค่า นำไปสู่ความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจในอนาคต

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอยู่ที่ 1.00% หรือปรับขึ้น 0.25% จากมุมมองของแบงก์ชาติถึงแนวโน้มการฟื้นตัวในด้านการบริโภคและการท่องเที่ยว และคาดเงินเฟ้อจากด้านอุปทานชะลอลงจากราคาน้ำมันที่ลดลงและปัญหาห่วงโซ่อุปทานบรรเทาลง ในขณะที่ด้านอุปสงค์ไม่ถือว่าสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อมากนัก

นางสาวชญานีกล่าวว่า ในช่วงไตรมาสที่ 2 ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงค่อนข้างแรงทำให้มีเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนหุ้นไทยหลังจากที่มีเงินไหลออกต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี แต่เมื่อเข้าไตรมาสที่ 3 ตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวขึ้น ทำให้กลับเป็นเงินไหลออกสุทธิอีกครั้ง

โดยดัชนี SET Index มีการปรับตัวขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และมีทิศทางย่อลงในเดือนกันยายน โดยไปปิดที่ 1,589.51 หรือเท่ากับผลตอบแทนรวม 3 เดือนที่ 2.3% หรือสะสมตั้งแต่ต้นปีที่ -1.6% ทำให้กองทุนหุ้นไทยกลับมามีเงินไหลออกสุทธิในเดือนสิงหาคมและกันยายน โดยรวมทั้งไตรมาสเป็นเงินไหลออกสุทธิเกือบ 4 พันล้านบาท หรือสะสม 9 เดือนไหลออกสุทธิ 7.1 พันล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีที่แล้ว 6.8%

“ในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมาแม้กองทุนหุ้นไทยโดยรวมได้รับความนิยมน้อยลง จากมูลค่าเงินไหลออกสุทธิต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 แต่หากแยกออกเป็นกองทุน active และกองทุน passive จะพบว่ามีการหดตัวจากเงินไหลออกที่ต่างกัน โดยในปี 2563 ที่กองทุนหุ้นไทยแสดงแนวโน้มการเติบโตช้าลง พบว่ากองทุน active มีเงินไหลออกสุทธิ 1.8 หมื่นล้านบาท คิดเป็น organic growth -2.9% ขณะที่กองทุนดัชนี SET 50 ยังมีเงินไหลเข้าสุทธิและมี organic growth ที่ 2.6% และยังคงมี growth ติดลบที่น้อยกว่ากองทุน active ต่อเนื่อง“ นางสาวชญานีกล่าว