ทรูลุยระดมทุน “หุ้นกู้” แสนล้าน ดีลควบรวม-พลิกเกมการเงิน

กลุ่มทรู

กลุ่มทรูยื่นไฟลิ่งระดมทุนขายหุ้นกู้ปี’66 อีกกว่าแสนล้าน หลัง กสทช.รับทราบควบรวมดีแทค “ทริสเรทติ้ง” ชี้บริษัทควบรวมใหม่มีสถานะ “แข็งแกร่ง” กว่า TRUE และเพิ่มประสิทธิภาพด้านต้นทุน หนุนแนวโน้ม “เครดิตเรตติ้ง” ขยับขึ้น

บล.กสิกรฯวิเคราะห์ดีลควบรวมช่วยให้กลุ่มทรู ที่แบกภาระหนี้สูงจะมีต้นทุนจ่ายดอกเบี้ยถูกลง อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนลดลงเพิ่มศักยภาพระดมทุนดีขึ้นแต่ผลกำไร “ทรูรวมดีแทค” ยังห่างไกล “เอไอเอส” ถึง 3 เท่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อ 20 ตุลาคม 2565 มีมติเสียข้างมาก 3 : 2 เสียง รับทราบการควบรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC พร้อมเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะ

ทรูมูฟยื่นไฟลิ่งหุ้นกู้แสนล้าน

ล่าสุดบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้แบรนด์ “ทรูมูฟ เอช” ได้ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เรื่องแผนการระดมทุนขายหุ้นกู้ในช่วงวันที่ 15-17 กุมภาพันธ์ 2566 โดยเป็นการออกภายใต้โครงการหุ้นกู้ของบริษัท ทรูมูฟ เอชฯปี 2566 วงเงิน 1.3 แสนล้านบาท

โดยบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ซึ่งจัดอันดับเครดิตของบริษัท และหุ้นกู้ TUC ณ วันที่ 7 ตุลาคม 2565 อยู่ที่ระดับ BBB+ พร้อมระบุว่า เมื่อพิจารณาจากรายได้ให้บริการสื่อสารไร้สาย บริษัทยังคงมีสถานะเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่อันดับสองของประเทศ ด้วยส่วนแบ่งตลาด 31.6% ในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่บริษัทยังคงมีหนี้สินอยู่ในระดับสูง โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 มีหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วประมาณ 2.78 แสนล้านบาท และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA อยู่ที่ระดับ 7.5 เท่า โดยหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปในช่วง 3 ปีข้างหน้า

บริษัทใหม่เครดิตขยับขึ้น

นอกจากนี้ ทริสฯได้ออกประกาศ “เครดิตพินิจ” สำหรับอันดับเครดิตทั้งหมดของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น และบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น หลังการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรูและดีแทคมีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยทริสฯมองว่าเมื่อการควบรวมกิจการเสร็จสิ้นลงแล้ว บริษัท ทรูมูฟ เอชฯ จะกลายเป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวม (NEWCO) ดังนั้นอันดับเครดิตก็จะเท่ากับอันดับเครดิตที่จัดให้แก่ NEWCO

โดยเครดิตพินิจมีแนวโน้มเป็น “บวก” สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งที่เห็นว่าบริษัทใหม่ที่จะเกิดจากการควบรวมในครั้งนี้ จะมีสถานะเครดิตที่ “แข็งแกร่งกว่า” สถานะเครดิตของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ทั้งมองว่าการควบรวมจะทำให้เกิดการผสานพลังทางธุรกิจ

รวมทั้งเกิดการขยายขนาดของธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการเพิ่มประสิทธิภาพด้านต้นทุน เมื่อพิจารณาในเชิงตัวเลขแล้วคาดว่า การควบรวมกิจการจะทำให้ NEWCO ครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดในด้านของรายได้ จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

อีกทั้งสถานะทางการเงินของ NEWCO ก็น่าจะแข็งแกร่งกว่าสถานะทางการเงินของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นในปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ โดยทริสเรทติ้งคาดว่า หลังจากการควบรวมแล้ว อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของ NEWCO จะอยู่ที่ระดับ 5-5.5 เท่า ซึ่งต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบ กับอัตราส่วนของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งอยู่ที่ระดับประมาณ 7 เท่า

ทรู-ดีแทค หนี้สินรวม 4 แสนล้าน

นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค ภายใต้บริษัทใหม่จะมีหนี้สินรวมกันค่อนข้างสูงกว่า 4 แสนล้านบาท เป็นหนี้จากทรู 3.7 แสนล้านบาท และหนี้จากดีแทคประมาณ 8 หมื่นล้านบาท

แต่ทั้งนี้เนื่องจากผลการควบรวมจะทำให้กระแสเงินสดปรับตัวดีขึ้น จากต้นทุนที่จะลดลงจากการควบรวมหรือมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกหลังควบรวมหนี้สินจะยังสูงอยู่ เพราะการลดภาระหนี้ต้องใช้เวลา

“ขณะที่มองว่าตลาดสื่อสารการแข่งขันรุนแรงมากในช่วงที่ผ่านมา ทั้งตลาดมือถือและเน็ตบ้าน โดยเฉพาะเมื่อเอไอเอสใช้จังหวะที่ทรูและดีแทคกำลังวุ่นควบรวม ออกโปรโมชั่นแย่งลูกค้าตลาดมือถือ ทำให้ทรูและดีแทคไม่มีทางเลือกต้องออกโปรโมชั่นมาสู้ ส่วนตลาดเน็ตบ้านเอไอเอสก็เป็นผู้เริ่มทำสงครามราคาเพื่อหวังกดดันให้ JAS ขาย 3BB”

ประเมินปี 2566 อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (DE) ภายใต้บริษัทใหม่จะปรับลดลงมาเหลือ 4 เท่า จากเดิมอยู่ที่ระดับ 5 เท่า แต่ยังเป็นระดับที่สูงกว่ามากเมื่อเทียบคู่แข่งอย่างเอไอเอส ที่มีระดับ DE แค่ 1.5 เท่า ดังนั้นต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายปีในการปรับโครงสร้างเพื่อทำให้ผลประกอบการและสถานะทางการเงินเข้มแข็งใกล้เคียงกับเอไอเอส

กำไรทรู-ดีแทคห่าง AIS 3 เท่า

นายพิสุทธิ์กล่าวต่อว่า ช่วงแรกคาดการณ์กำไรสิ้นปี 2566 ของทรูและดีแทคอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท เป็นกำไรของทรู 4,000 ล้านบาท และกำไรของดีแทค 6,000 ล้านบาท ซึ่งยังห่างคู่แข่งอย่างเอไอเอสกว่า 3 เท่า ที่จะมีกำไรกว่า 30,000 ล้านบาท

แต่สำหรับกำไรงวดไตรมาส 3/2565 ทั้งกลุ่มสื่อสารจะออกมาแย่หมดเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) โดยคาดการณ์กำไร ADVANC จะติดลบ 13% กำไร DTAC ติดลบ 50% และ TRUE ขาดทุนเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าเป็นขาดทุน 2,000 ล้านบาท สาเหตุมาจากเรื่องการแข่งขันเป็นหลัก เพราะไม่คิดว่าเงินเฟ้อจะมีผลมาก เนื่องจากสามารถส่งผ่านไปให้กับผู้บริโภคได้

โดยประเมินกำไรกลุ่มสื่อสารปี 2565 จะอยู่ที่ประมาณ 26,000 ล้านบาท ลดลง 3.70% YOY โดยคาดว่า ADVANC จะมีกำไร 28,000 ล้านบาท DTAC มีกำไร 3,000 ล้านบาท และ TRUE จะขาดทุนกว่า 6,000 ล้านบาท

“มุมมองต่ออุตสาหกรรมสื่อสาร ด้วยจำนวนผู้เล่นที่ลดลง เชื่อว่าความแข็งแกร่งของผู้ประกอบการก็จะเพิ่มสูงขึ้น จึงเชื่อว่าหน่วยงานกำกับดูแลก็จะสามารถควบคุมเรื่องการแข่งขันไม่ให้เกิดการฮั้วราคา หรือปรับราคาขึ้นเพื่อเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคได้ ดังนั้นก็จะเป็นจุดสมดุลระหว่างธุรกิจ ผู้บริโภค และการพัฒนาประเทศ”

ต้นทุนดอกเบี้ยถูกลง

นายพิสุทธิ์กล่าวต่อว่า ส่วนแนวโน้มการระดมทุนผ่านหุ้นกู้ ถ้าสังเกตจะเห็นว่ากลุ่มทรูออกหุ้นกู้ใหม่มูลค่าเกือบแสนล้านทุกปี โดยประมาณ 80% เป็นการรีไฟแนนซ์เพื่อนำเงินไปชำระคืนหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดอายุ (roll over) ส่วนที่เหลืออีก 20% ต้องกู้เงินเพิ่มเนื่องจากผลประกอบการที่ติดลบ

อย่างไรก็ดี ปัญหานี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังจากที่ควบรวมแล้ว โดยสัดส่วน 80% ยังต้องรีไฟแนนซ์อยู่ แต่สัดส่วนเงินกู้ 20% เชื่อว่าจะลดลงเรื่อย ๆ จากกระแสเงินสดที่สร้างได้จะทยอยลดหนี้ ทำให้การออกหุ้นกู้เพื่อรีไฟแนนซ์ หลังจากนั้นก็จะทยอยลดลงเรื่อย ๆ ตามมาได้ แต่อาจยังไม่ได้ประเมินระยะเวลาตรงส่วนนี้ เพราะมองว่าความสามารถในการระดมทุนผ่านตลาดหุ้นกู้ของทรูยังสูงอยู่และจะดีขึ้น เพราะขนาดยังไม่ควบรวมดีแทค อัตราดอกเบี้ยที่จ่ายให้นักลงทุนผู้ซื้อหุ้นกู้ก็ต่ำลงทุกปี

และเชื่อว่าหลังจากการควบรวมกันแล้ว อัตราดอกเบี้ยจะลดลงไปอีก เพราะวันนี้้เครดิตเรตติ้งของทรูอยู่ที่ BBB+ ส่วนดีแทค A- ทำให้เมื่อควบรวมกันแล้วเครดิตเรตติ้งต้องวิ่งเข้าหาระดับ A ดังนั้นทำให้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้นักลงทุนจะถูกลง

“ฉะนั้นเมื่อกระแสเงินสดดีขึ้น ดอกเบี้ยจ่ายถูกลง กำไรก็จะดีขึ้นตาม จึงไม่ได้เป็นห่วงถ้าการควบรวมสำเร็จ” นายพิสุทธิ์กล่าว

ผลตอบแทนสูงกว่าความเสี่ยง

นายพิสุทธิ์กล่าวอีกว่า นักลงทุนที่ถือหุ้นกู้ทรูตอนนี้ ถ้าการควบรวมผ่านไปได้ถือว่าโชคดี เพราะว่าได้หุ้นกู้ที่ดอกเบี้ย BBB+ แต่พอควบรวมแนวโน้มเรตติ้งดีขึ้น ดังนั้นเท่ากับผลตอบแทนมากกว่าความเสี่ยง และเชื่อว่าหุ้นกู้ออกใหม่อัตราดอกเบี้ยเมื่อเทียบกับอัตราตลาดจะต่ำลง

ดังนั้นใครที่มีของในมือจะรู้สึกว่าคิดถูกที่ลงทุน และเชื่อว่าความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้น่าจะต่ำลงค่อนข้างมาก โดยมองว่าปีหน้าแม้ทั่วโลกจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่เศรษฐกิจไทยน่าจะแข็งแกร่ง ฉะนั้นสภาพคล่องในประเทศยังดีอยู่ ความสามารถในการระดมทุนผ่านตลาดหุ้นกู้ก็น่าจะยังทำได้ดี

หุ้นกู้คงค้างเกือบ 3 แสนล้าน

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน ระบุว่า ปัจจุบันกลุ่มทรูมียอดหนี้สินคงค้างในส่วน “หุ้นกู้” รวมประมาณ 281,000 ล้านบาท โดยเป็นในส่วนของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 175,000 ล้านบาท และบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด จำนวน 106,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในช่วงวันที่ 7-9 พ.ย. 2565 บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นก็จะเปิดขายหุ้นกู้ TRUE สำหรับนักลงทุนทั่วไปจำนวน 4 ชุด อายุหุ้นกู้ตั้งแต่ 2 ปี-5 ปี 9 เดือน อัตราดอกเบี้ยระหว่าง 3.40-5.15% โดยหุ้นกู้ TRUE ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ “BBB+” แนวโน้มอันดับเครดิต “บวก” จากทริสเรทติ้ง

ปีหน้าสงครามราคาไม่รุนแรง

นอกจากนี้ นายพิสุทธิ์ประเมินว่าตลาดสื่อสารปี 2566 หากการควบรวมกิจการผ่านไปได้ทั้ง 2 กรณี ไม่ว่าจะเป็นทรูและดีแทค หรือเอไอเอสกับ 3BB ซึ่งจะเป็นปีของการรวมบริษัท อาจจะเริ่มเห็นต้นทุนธุรกิจที่ลดลง แต่ยังไม่ถึงจุดที่ดีที่สุด โดยคาดว่าอาจต้องใช้เวลาอีก 2 ปี ที่น่าจะเห็นต้นทุนที่ดีที่สุด ช่วงปี 2567-2568

แม้ตลาดเชื่อว่าจะเกิดสงครามราคากันรุนแรง แต่กสิกรฯเชื่อว่าสงครามราคาจะไม่แย่ไปกว่านี้แล้ว โดยจะเริ่มมีทิศทางคงที่หรือจะดีขึ้น โดยกสิกรฯมองว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะดีกว่าปีนี้ ภาวะเงินเฟ้อน่าจะพีกปีนี้ และเริ่มลดลงในปีหน้า จำนวนนักท่องเที่ยวจะวิ่งเข้าใกล้ช่วงก่อนโควิด ดังนั้น 3 ปัจจัยนี้เชื่อว่าปีหน้าตลาดสื่อสารจะเริ่มฟื้นตัวแบบอ่อน ๆ เติบโตประมาณ 3%

ทั้งนี้อาจไม่ดีมากเท่ากับอุตสาหกรรมอื่นที่โตระดับ 10% แต่ถือว่าจะดีกว่าปีนี้ และผลกำไรของบริษัทจะขึ้นอยู่กับความรวดเร็วและประสิทธิภาพในการรวมโครงข่ายทั้งมือถือและเน็ตบ้าน โดยเชื่อว่าปีหน้ากำไรกลุ่มสื่อสารจะเติบโตขึ้น 20% รายได้โตขึ้นประมาณ 5%