ธปท.ลุยทดสอบ Wholesale CBDC ชี้ Game Changer ธุรกรรมโอนเงินต่างประเทศ

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ธปท.เล็งขยาย Use Case ทดสอบ Wholesale CBDC หลังเป็น 1 ใน 10 ธนาคารกลางมีโปรเจ็กต์ทดสอบ หวังช่วยลดต้นทุน-ระยะเวลาการทำธุรกรรม มองเป็น Game Changer เปลี่ยนธุรกรรม Cross Border ลั่น Retail CBDC เชื่อใช้เวลามากกว่า 5 ปี

วันที่ 29 ตุลาคม 2565 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการนำสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) มองว่า ตัวที่มีความหวังและจะเข้ามาเปลี่ยนแปลง หรือ Game Changer คือ สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางในระดับสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) ภายใต้โครงการ “Multiple Central Bank Digital Currency Bridge (mBridge)” ที่พัฒนาต่อยอดจากโครงการ Inthanon-LionRock ระยะที่ 2 ในปี 2564

โดยโครงการ “mBridge” เป็นการพยายามสร้างแพลตฟอร์มที่มี CBDC แลกเปลี่ยนกัน เพื่อลดต้นทุนและเวลาในการทำธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศ (Cross Border Payment) จากเดิมใช้เวลาในการโอนเงิน 3-5 วัน เหลือเพียงหลักวินาที

โดยล่าสุดมีธนาคารพาณิชย์เข้าร่วมทดสอบ 20 แห่งจาก 4 ประเทศ ได้แก่ ธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority: HKMA) ธนาคารกลางแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (Central Bank of the United Arab Emirates: CBUAE) และสถาบันศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Digital Currency Institute of the People’s Bank of China: PBC DCI) ภายใต้การทดสอบในธุรกรรม 3 ประเภท

“ในระยะต่อไปจะเป็นการเพิ่ม Use Case เพื่อให้เกิดการใช้จริง และการเชื่อมระบบจากปัจจุบันมีธนาคารกลาง 10 แห่งที่ทำเรื่อง CBDC โดยมีการทดสอบ Protocol อยู่ 3 โปรเจ็กต์ ได้แก่ Dunbar ที่มีธนาคารกลางสิงคโปร์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้ และโครงการ Jura ที่มีธนาคารกลางฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์

ซึ่งเราเป็น 1 ใน 10 ธนาคารกลางที่ทำเรื่องนี้อยู่ ซึ่งเรามีการเซ็ตไกด์ไลน์ คืออยากให้ระบบสามารถเชื่อมต่อกันได้ โดยเป็นระบบเพย์เมนต์อีกอันที่นอกเหนือจากระบบการโอนผ่าน SWIFT ซึ่งจะเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่การจะไปถึงจุดนั้นอาจจะไม่ง่าย เพราะอาจจะมีปัญหาระหว่างทาง ซึ่งปัญหาเชิงเทคนิคแก้ได้ แต่เรื่อง Governance หรือกฎเกณฑ์ของแต่ละที่มีความแตกต่างกัน เช่น พวก FX หรือ Regulator Frame Work ซึ่งจะทำให้เข้ากันอาจจะยาก แต่ก็มีหลายธนาคารที่ให้ความสนใจเข้ามาดู โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการให้ภาคธุรกิจใช้จริงเป็นการทั่วไปได้ภายใน 5 ปีข้างหน้า”

สำหรับการพัฒนา CBDC ในส่วนของรายย่อย ธปท.ต้องพิจารณาจากโจทย์ที่จะต้องตอบให้ชัดเจนควบคู่กับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น ซึ่งหากพิจารณาดู Wholesale CBDC พบว่าตอบโจทย์ในเรื่องของการโอนเงินระหว่างประเทศ หรือ Cross Border ชัดเจน ส่วนผลข้างเคียงมีน้อย

ขณะที่ Retail CBDC ธปท.ยังคงเดินหน้าเต็มที่ แต่เป็นโปรเจ็กต์เพื่อการเรียนรู้ (Project to Lean) ไม่ใช่โปรเจ็กต์เพื่อการให้บริการ (Project to Launch) เพราะหากดูในเรื่องของการตอบโจทย์ พบว่ามีประโยชน์น้อย เพราะปัจจุบันเรามีบริการพร้อมเพย์ที่มีพื้นฐานค่อนข้างดี ส่วนผลข้างเคียงจะพบว่ามีผู้เกี่ยวข้องค่อนข้างเยอะ

อย่างไรก็ตาม ภายในสิ้นปีจะมีการทดสอบ โดยมีธนาคารเข้าร่วม 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non Bank) อีก 1 แห่ง ได้แก่ บริษัท ทูซีทูพี (2C2P) และพนักงานและคนทั่วไปอีกรวมจำนวน 1 หมื่นคน

โดยเบื้องต้นจะดูในเรื่องของเบสิกก่อน เช่น เทคนิค ประสบการณ์คนใช้ ซึ่งทดสอบในวงจำกัด (Foundation track) และพัฒนาทางด้านนวัตกรรม (Innovation track) ต่อไป เช่น การใส่เงื่อนไข หรือนวัตกรรมเพิ่มเติม ยกตัวอย่าง ภาครัฐโอนเงินให้ แต่เงินนั้นสามารถใช้ได้เฉพาะสินค้าประเภทนี้ และห้ามซื้อสินค้าประเภทอื่น หรือ การสั่งของและโอนเงินหลังจากของได้ส่งเรียบร้อยแล้ว หรือการใส่ Smart Contact เข้าไป เพราะหากทำแค่เฉพาะการโอนเงิน หรือ payment เท่านั้น จะไม่เป็น Game Changer

“โดยภาพรวมของ CBDC มองว่า ในส่วนของ Wholesale CBDC ระยะต่อไปจะเป็นการเพิ่ม Use Case แต่ในส่วนของ Retail CBDC มองว่าคงอีกไกลกว่าจะมีการนำมาใช้ ซึ่งไม่ได้เฉพาะประเทศไทย แต่ในต่างประเทศก็มองว่าใช้เวลามากกว่า 5 ปี”