CBDC โจทย์ใหม่ธนาคารกลางทั่วโลก ลดต้นทุนธุรกิจแสนล้านดอลลาร์

“สกุลเงินดิจิทัล” ที่ออกโดยธนาคารกลาง หรือเรียกว่า CBDC (central bank digital currency) กำลังเป็นที่สนใจของธนาคารกลางทั่วโลก รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำลังพัฒนา “บาทดิจิทัล” ที่จะมีการนำออกมาให้ประชาชนและภาคธุรกิจทดสอบการใช้งานในช่วงกลางปี 2022

โดย CBDC พัฒนาอยู่บนเทคโนโลยีบล็อกเชน ทำให้มีความปลอดภัยของข้อมูลและการทำธุรกรรมที่มีความสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมที่ลดลงมหาศาล

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า “เจ. พี. มอร์แกน” บริษัทด้านการเงินและการลงทุนระดับโลก ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ “โอลิเวอร์ ไวแมน” เปิดเผยผลวิจัยล่าสุดเมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่า การพัฒนาเครือข่ายสกุลเงินดิจิทัล “ซีบีดีซี” จะช่วยประหยัดต้นทุนการทำธุรกรรมให้กับภาคธุรกิจทั่วโลกได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี

รายงานดังกล่าววิเคราะห์ถึงผลกระทบเชิงบวกในการพัฒนาเครือข่ายเชื่อมโยงซีบีดีซีของธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยแสดงให้เห็นความเป็นไปได้ที่ซีบีดีซีจะเข้าไปช่วยให้การทำธุรกรรมระหว่างประเทศสะดวกรวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายลดลง

เนื่องจากปัจจุบันธนาคารในประเทศต่าง ๆ ต้องอาศัยธนาคารตัวแทนต่างประเทศ หรือตัวกลางอื่น ๆ ในการทำธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งมีค่าธรรมเนียมสูงและใช้เวลานาน เนื่องจากมีการข้ามเขตเวลา

รายงานประเมินว่า ภาคธุรกิจทั่วโลกต้องสูญเสียต้นทุนค่าธรรมเนียมราว 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี จากการทำธุรกรรมระหว่างประเทศรวม 23.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี แต่การพัฒนาเครือข่ายซีบีดีซีระหว่างประเทศจะช่วยลดขั้นตอนตัวกลาง ซึ่งจะทำให้ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมลดลง และเป็นผลดีต่อต้นทุนธุรกิจทั่วโลก

รายงานของ เจ. พี. มอร์แกนยังชี้ว่า “ภูมิภาคอาเซียน” จะเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากเครือข่ายเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ 7% ของการค้าโลก ทั้งเป็นที่ตั้งของบริษัทข้ามชาติหลายพันแห่ง

แต่การทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน กลับต้องเผชิญกับต้นทุนมหาศาล จากสกุลเงินของประเทศสมาชิกถึง 10 สกุลเงิน ซึ่งการโอนเงินไปยังหลายประเทศมีค่าธรรมเนียมค่อนข้างสูง เช่น ลาว และกัมพูชา ที่มีค่าใช้จ่ายในการโอนเงินระหว่างประเทศเฉลี่ยเกือบ 12% ขณะที่เมียนมาก็สูงกว่า 10% ตามข้อมูลของธนาคารโลก

รายงานยกตัวอย่างการโอนเงิน 100,000 บาท (ราว 2,950 ดอลลาร์สหรัฐ) จากไทยไปยังอินโดนีเซีย มีค่าธรรมเนียมสูงถึง 40 ดอลลาร์สหรัฐ โดยยังไม่รวมค่าธรรมเนียมอัตราแลกเปลี่ยน

ซึ่งหากมีการพัฒนาเครือข่ายซีบีดีซี จะสามารถลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามพรมแดนลงได้ถึง 35 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะช่วยประหยัดเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ เครือข่ายซีบีดีซียังจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ด้วยระบบ “ระเบียงเครือข่าย” (corridor network) ที่รองรับการทำธุรกรรมด้วยซีบีดีซีหลายสกุลเงิน และลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นออกไป

โดยเฉพาะขั้นตอนการแลกเปลี่ยนสกุลเงินเป็น “ดอลลาร์สหรัฐ” ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นสกุลเงินปลายทาง ซึ่งมีค่าธรรมเนียมและต้องใช้เวลาในการดำเนินการ แต่ระเบียงเครือข่ายดังกล่าวจะช่วยเปลี่ยนสกุลเงินต้นทางเป็นสกุลเงินปลายทางในรูปแบบดิจิทัลได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องแปลงเป็นดอลลาร์สหรัฐก่อน

ปัจจุบันมีหลายประเทศที่กำลังเริ่มพัฒนาซีบีดีซีตามสกุลเงินประจำชาติ ที่โดดเด่นคือ “จีน” ที่กำลังอยู่ในช่วงการทดสอบ “หยวนดิจิทัล” ซึ่งตั้งเป้าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการก่อนมหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว เดือน ก.พ. 2022 ขณะที่ธนาคารกลางของญี่ปุ่นก็เริ่มทดสอบ “เยนดิจิทัล” ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

ส่วนการสร้างระเบียงเครือข่ายซีเอ็มบีซีก็เริ่มมีการทดสอบแล้ว ด้วยความร่วมมือของธนาคารกลางหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และแอฟริกาใต้ ที่ร่วมมือทดสอบโครงการเครือข่ายการชำระเงินข้ามพรมแดนด้วยซีบีดีซีหลายสกุลเงิน หรือ “เอ็มซีบีดีซี” (mCBDC) เช่นเดียวกันกับ จีน ฮ่องกง ไทย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่กำลังดำเนินการทดสอบร่วมกันอีกโครงการ

“นาวีน มัลเลลา” หัวหน้าฝ่ายระบบคอยน์ของโอนิกซ์ (Onyx) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดการสินทรัพย์ดิจิทัลของ เจ. พี. มอร์แกน ระบุว่า “เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีสกุลเงินเป็นจำนวนมาก และมีระบบชำระเงินข้ามพรมแดนที่แตกต่างหลากหลาย จึงมีความเป็นไปได้สูงที่เครือข่ายเอ็มซีบีดีซีจะเริ่มเติบโตในเอเชียก่อน”

อย่างไรก็ตาม มัลเลลาเน้นย้ำว่า ข้อตกลงระหว่างธนาคารกลางมีความสำคัญมาก ทั้งเรื่องการเข้าถึงเครือข่าย การแก้ไขปัญหาข้อพิพาททางธุรกรรม รวมถึงกรอบการกำกับดูแลร่วมกัน ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานซีบีดีซีให้กับภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไปได้