
“ยูโอบี-ซิตี้แบงก์” โอนกิจการรายย่อย-ย้ายพนักงาน 3 พันคนใน “ไทย-มาเลย์” เรียบร้อยแล้ว ตั้งเป้าโอนครบ 4 ประเทศใน 12-18 เดือน ขยายฐานลูกค้าเป็น 5.3 ล้านราย ตั้งเป้าเพิ่มอีก 2 เท่าใน 3-5 ปี สัดส่วนรายได้ธุรกิจรายย่อยในไทยโตก้าวกระโดดเป็น 70% จาก 54%
นายตัน ชุน ฮิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากเมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อนุมัติการเข้าซื้อกิจการ ซึ่งยูโอบีได้ดำเนินการเข้าซื้อกิจการธนาคารลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ปในมาเลเซียและไทยอย่างเสร็จสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา
ส่วนในอินโดนีเซียและเวียดนามคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 ซึ่งยูโอบีจะยังคงให้ความสำคัญกับการโอนย้ายธุรกิจธนาคารลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ปให้เป็นไปอย่างราบรื่น ในทั้ง 4 ประเทศ โดยหวังว่าการโอนย้ายลูกค้าทั้งระบบจะแล้วเสร็จในอีก 12-18 เดือนข้างหน้า
สำหรับกิจการธนาคารลูกค้ารายย่อยนี้ ประกอบด้วย กลุ่มลูกค้าสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันและมีหลักประกัน ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง และธุรกิจเงินฝากรายย่อย ซึ่งจะส่งผลให้สัดส่วนรายย่อยของธนาคารเพิ่มขึ้นจาก 7% เป็น 21% และสินเชื่อที่อยู่อาศัยและรายใหญ่จะอยู่ที่ 40% ขณะเดียวกันจะทำให้รายได้จากรายย่อยเพิ่มจาก 54% เพิ่มเป็น 70%
“หลังเสร็จสิ้นกระบวนการเข้าซื้อกิจการแล้ว คาดว่าขนาดธุรกิจธนาคารลูกค้ารายย่อย ในทั้ง 4 ประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า มีการให้บริการลูกค้า 5.3 ล้านคน และเสริมทีมงานให้แกร่งขึ้นด้วยพนักงานอีก 5,000 คน โดยเป็นพนักงานคนไทยกว่า 1,800 คน หรือเกือบ 100% ทำให้ธนาคารก้าวขึ้นเป็นธนาคารที่ลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนใช้บริการเป็นอันดับแรก”
นายยุทธชัย เตยะราชกุล Head of Personal Financial Services ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า ยูโอบีจะขึ้นเป็น 1 ใน 6 ของธุรกิจรายย่อยในไทย จากเดิมอยู่ที่ 10 และเป็น 1 ใน 3 ของธุรกิจบัตรเครดิต จากเดิมอยู่ที่ 8
โดยมีเป้าหมายการเติบโตภายใน 3-5 ปี ฐานลูกค้าจะขยายเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปัจจุบันมีอยู่ 5.3 ล้านราย (4 ประเทศ) จะเพิ่มมากกว่า 10 ล้านคน และพยายามจะลดช่องว่างระหว่างธุรกิจรายย่อยในอันดับ 5 ที่ปัจจุบันมีสินทรัพย์กว่า 2 ล้านล้านบาท เทียบกับยูโอบีที่มีสินทรัพย์ราว 8 แสนล้านบาท
“ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ภายหลังรับโอนกิจการ ในแง่เปอร์เซ็นต์อาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ในเชิงมูลค่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากพอร์ตมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยซิตี้แบงก์จะมีหนี้เสียต่ำกว่าระบบ 20% อย่างไรก็ดี จากปัจจัยที่ยูโอบีเน้นลูกค้าระดับกลาง และมีความระมัดระวังในการทำธุรกิจ ประกอบกับการตัดหนี้สูญเร็วของซิตี้แบงก์ที่ 120 วัน และยูโอบี 180 วัน”
นางวีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล Head of Retail and Brand ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากโอนกิจการจะเข้าสู่ “The Most Preferred Retail Bank” ธนาคารมีกลยุทธ์เดินหน้าบริการทุกเซ็กเมนต์อย่างยั่งยืนและระยะยาว ไม่เน้นการขายผลิตภัณฑ์ และมุ่งเน้นการเติบโตในกลุ่มลูกค้ามั่งคั่งในอาเซียนที่มีการเติบโตค่อนข้างสูง และรุกลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ผ่านแอปพลิเคชั่น UOB TMRW แพลตฟอร์มธนาคารดิจิทัล
“ภายใน 12 เดือนลูกค้าบัตรเครดิต และสินเชื่อที่ไม่หลักประกัน จะยังคงได้รับบริการจากธนาคารซิตี้แบงก์ต่อเนื่อง ไม่สะดุด ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ เช่น การฝาก โอนเงิน หรือวงเงินสินเชื่อผ่านสาขามากกว่า 150 แห่ง ภายใต้อัตราค่าธรรมเนียมตามประกาศของ ธปท. ซึ่งลูกค้าจะไม่กระทบต่อการโอนย้ายกิจการครั้งนี้”
ด้านซิตี้แบงก์ได้ประกาศเสร็จสิ้นการขายธุรกิจธนาคารกลุ่มลูกค้าบุคคล รวมถึงธุรกิจบัตรเครดิต ซึ่งรวมถึงการโอนย้ายพนักงานที่เกี่ยวข้องกว่า 3,000 คนในไทยและมาเลเซีย ให้กับกลุ่มยูโอบี โดยการทำธุรกรรมทั้งหมดที่ดำเนินการเสร็จสิ้นอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ คาดว่าจะส่งผลให้เกิดผลประโยชน์ด้านเงินทุนแก่ซิตี้มากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ