GULF เทกโอเวอร์ THCOM เตรียมทุ่มกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซื้อหุ้นทั้งหมด

GULF หุ้น กัลฟ์

กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ บอร์ดเคาะมติทุ่มเงินกว่า 10,873.33 ล้านบาท ปิดดีลเข้าซื้อหุ้น THCOM จาก INTUCH สัดส่วน 41.13% วงเงิน 4,472 ล้านบาท ที่เหลือทำเทนเดอร์อีก 58.87% วงเงินรวม 6,400 ล้านบาท จับตาออกหุ้นกู้ใหม่-ขอวงเงินสินเชื่อก้อนใหญ่

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวานนี้ (7 พ.ย. 65) มีมติอนุมัติให้บริษัทและ/หรือ บริษัท กัลฟ์ เวนเชอร์ส จำกัด

ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท (รวมเรียกกลุ่มบริษัท) เข้าซื้อหุ้นสามัญในบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM จากบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH และซื้อหุ้นสามัญส่วนที่เหลือทั้งหมดของ THCOM โดยการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ THCOM และ/หรือโดยการซื้อขายหุ้นสามัญ THCOM ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

โดยจะดำเนินการซื้อหุ้นสามัญ THCOM จาก INTUCH จำนวนทั้งสิ้น 450,870,934 หุ้น (คิดเป็น 41.13%  ของหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ THCOM) ในราคาหุ้นละ 9.92 บาท คิดเป็นจำนวนเงินรวมประมาณ 4,472.64 ล้านบาท ทั้งนี้กลุ่มบริษัทคาดว่าจะเข้าลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับ INTUCH โดยไม่ชักช้าภายหลังจากที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท

และภายหลังจากการเข้าซื้อหุ้นสามัญ THCOM จาก INTUCH เสร็จสิ้น กลุ่มบริษัทจะดำเนินการซื้อหุ้นสามัญส่วนที่เหลือทั้งหมดของ THCOM โดยการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ THCOM จำนวนทั้งสิ้น 645,231,020 หุ้น (คิดเป็น 58.87% ของหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ THCOM) ) ในราคาเดียวกันกับราคาซื้อหุ้นสามัญ THCOM จาก INTUCH ในราคาหุ้นละ 9.92 บาท) โดยคิดเป็นจำนวนเงินรวมประมาณ 6,400.69 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองธุรกรรมดังกล่าวคิดเป็นมูลค่ารวม 10,873.33 ล้านบาท

ในเบื้องต้นการซื้อหุ้นสามัญ THCOM จาก INTUCH จะเกิดขึ้นต่อเมื่อเงื่อนไขบังคับก่อนที่สำคัญได้สำเร็จเสร็จสิ้น หรือได้รับการยกเว้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนโดยกลุ่มบริษัท ซึ่งคาดว่าเงื่อนไขบังคับก่อนทั้งหมดน่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1ของปี 2566 และภายหลังจากที่เงื่อนไขบังคับก่อนสำเร็จเสร็จสิ้นลง หรือได้รับการยกเว้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนโดยกลุ่มบริษัทฯทางกลุ่มบริษัทจะเข้าซื้อหุ้นสามัญ THCOM ทั้งหมดที่ INTUCH ถืออยู่และจะดำเนินการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ THCOM จากผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ ของ THCOM ตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องของสำนักงาน ก.ล.ต.

ปัจจุบันผู้ซื้อกับผู้ขายมีความสัมพันธ์ในฐานะที่ GULF เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน INTUCH โดยถือหุ้นใน INTUCH สัดส่วย 46.443% แต่ธุรกรรมการซื้อขายหุ้นไม่เข้าข่ายเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัท ตามประกาศรายการที่เกี่ยวโยงกัน

โดยหากภายหลังการเข้าทำธุรกรรมการซื้อขายหุ้น มีผู้ถือหุ้น THCOM ขายหุ้นสามัญให้แก่กลุ่มบริษัทฯในสัดส่วนที่ทำให้กลุ่มบริษัทฯ มีอำนาจควบคุมใน THCOM นั้น THCOM ก็จะมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัท

ทั้งนี้คาดว่าเงินทุนที่ใช้สำหรับธุรกรรมการซื้อขายหุ้นนั้นจะเป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในกิจการ และ/หรือวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และ/หรือการออกหุ้นกู้ และ/หรือตราสารหนี้อื่น ๆ

สำหรับดีลนี้คาดผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทฯอย่างมาก เพราะมีความน่าสนใจและเหมาะสมกับบริษัทฯ ในหลายมิติ ทั้งด้านยุทธศาสตร์ การเติบโต และเพิ่มศักยภาพการต่อยอดไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบด้วย

1.เป็นการลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี ซึ่งมีโอกาสในการพัฒนาธุรกิจได้หลายรูปแบบอย่างต่อเนื่อง

2.เป็นบริษัทไทยที่ประกอบธุรกิจในหลากหลายประเทศ ไม่ได้อิงรายได้จากภายในประเทศ (Local based) เพียงอย่างเดียว

3.มีโอกาสในการต่อยอดไปสู่ธุรกิจ New Space ที่มีศักยภาพการเติบโตในอนาคต

อนึ่ง THCOM ก่อตั้งเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2534 โดยเป็นผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมภายใต้สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศระหว่าง THCOM กับกระทรวงคมนาคม (ปัจจุบันอำนาจการดูแลสัญญานี้ได้ถูกโอนไปอยู่ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) (สัญญาสัมปทานฯ) เป็นระยะเวลา 30 ปี ซึ่งสัญญาสัมปทานฯ ดังกล่าวได้สิ้นสุดลงแล้ว เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564

โดยมีหน้าที่ภายใต้สัญญาสัมปทานฯในการจัดสร้างจัดส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรเพื่อให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียม และต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่กระทรวงดิจิทัลฯในอัตราร้อยละของรายได้ค่าบริการช่องสัญญาณดาวเทียมที่ได้รับหรืออย่างน้อยเท่ากับจำนวนเงินขั้นต่ำที่ระบุไว้ในสัญญา และต้องส่งมอบดาวเทียม สถานีควบคุมดาวเทียม

รวมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจดังกล่าว ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงดิจิทัลฯ เมื่อได้ดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งเรียบร้อยแล้ว โดย THCOM ได้เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2537 สัญญาสัมปทานฯ ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 10 กันยายน 2564 โดย THCOM ได้ส่งมอบการครอบครองดาวเทียมและทรัพย์สินทั้งหมดตามสัญญาสัมปทานฯ คืนให้แก่กระทรวงดิจิทัลฯ ครบถ้วนแล้ว ณ วันสิ้นสุดสัญญา

โดยกระทรวงดิจิทัลฯ ได้มอบสิทธิในการบริหารจัดการดาวเทียมภายใต้สัญญาสัมปทานฯ ให้กับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) หลังจากการสิ้นสุดของสัญญาสัมปทานฯ บริษัทย่อยของ THCOM ได้เข้าทำข้อตกลงเพื่อซื้อแบนด์วิธบางส่วนบนดาวเทียมไทยคม 4 และดาวเทียมไทยคม 6 กับ NT เพื่อไปให้บริการลูกค้ารายย่อย ดังนั้น นับตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2564 ทาง THCOM จึงสามารถให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมบนดาวเทียมไทยคม 4 และดาวเทียมไทยคม 6 กับลูกค้าบางส่วนของ THCOM ได้ต่อไป