เคแบงก์ ไพรเวตแบงกิ้ง ลุยบริหารทรัพย์สิน “กงสีเจ้าสัว” 790 ครอบครัว

เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง ลุยบริหารกงสีเจ้าสัว หนุนพอร์ตสินทรัพย์ AUM แตะ 1 ล้านล้าน

เคแบงก์ ไพรเวตแบงกิ้ง ลุยบริการ “บริหารสินทรัพย์ครอบครัว” พร้อมยกระดับ “Family Office” มอง กฎหมาย FATCA-ภาษีที่ดิน กระตุ้น “เศรษฐี-เจ้าสัวไทย” เร่งใช้บริการ 

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Excutive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่สร้างปัจจัยเสี่ยงโลกที่มีมากขึ้น ทั้งความเสียงเฉพาะ และความเสี่ยงเชิงระบบ รวมถึงการเปลี่ยนทางด้านกฎหมาย

เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสรรพากรไทยและรัฐบาลสหรัฐ (FATCA) ภายใต้ข้อตกลง Common Reporting Standard หรือ CRS ซึ่งจะมีผลเดือนกันยายน 2566

และจากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ครอบครัวมีความตระหนักและให้ความสนใจในการวางแผนทางการเงินมากขึ้น ทั้งการจัดการเรื่องภาษี โครงสร้างธุรกิจทั้งในและต่างประเทศที่เรื่องของผลประโยชน์ทางภาษีจะหมดลง เช่น กองทรัสต์ หรือการส่งต่อให้กับลูกหลานรุ่นต่อไป รวมถึงการบริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เพิ่มพูนขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีครอบครัวที่ให้ความสนใจวางแผนทางการเงินสัดส่วน 70% แต่จะเห็นว่าลงมือปฏิบัติจริงเพียง 30% เท่านั้น

ดังนั้น ภายหลังจากธนาคารได้ให้บริการ “การบริหารสินทรัพย์ครอบครัว” หรือ “Family Wealth Planning Service” ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้น โดยหากดูตัวเลขลูกค้าที่มีความมั่งคั่ง (Wealth Management) ในกลุ่ม Private Banking ที่มีเงินฝากและการลงทุน (AUM) อยู่ที่ 50 ล้านบาท คาดว่าในระบบมีอยู่กว่า 2-2.5 หมื่นราย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นลูกค้าของกสิกรไทยประมาณ 1.2 หมื่นราย

สะท้อนว่า ลูกค้าที่เหลือสามารถเข้ามาใช้บริการ รวมถึงฐานลูกค้ากลุ่ม Wisdom ที่มีกว่า 2-3 แสนรายก็สามารถใช้บริการ Family Wealth Planning Service ได้เช่นกัน

“ทำไมบริการ Family Wealth Planning ถึงมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ก็เพราะว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาโลกเราถูกปกคลุมด้วยความเสี่ยงมากขึ้น ตอนนี้ปัญหาที่ครอบครัวมั่งคั่งจะเข้ามาปรึกษามาก ๆ ช่วงนี้ก็เป็นเรื่องภาษีที่มีเกณฑ์ใหม่ ๆ ออกมา

อย่าง เรื่อง FATCA ที่จะบังคับให้มีการเปิดเผยทรัพย์สินที่นำไปไว้ที่ต่างประเทศ ทำให้ต้องมีการเสียภาษีเพิ่ม ซึ่งทำให้ต้องมีการบริหารจัดการด้านภาษีเพิ่มเติมไม่ว่าลูกค้าจะนำทรัพย์สินกลับมาในไทย หรือยังเก็บไว้ที่เดิม ไปพร้อม ๆ กับดูแลเรื่องการบริหารจัดการด้านรายได้ต่าง ๆ ซึ่งเป็นแนวทางการบริการของเราในการดูแลใน 3 ด้านหลัก คือ การเก็บรักษา, การสร้างการเติบโต และการส่งต่อ”

นายพีระพัฒน์ เหรียญประยูร Managing Director, Wealth Planning and Non Capital Market Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า นอกจากบริการ Family Wealth Planning Service กสิกรไทยเปิดบริการ “Family Office” หรือ สำนักงานครอบครัว โดยให้บริการลูกค้าครอบครัวครอบคลุม 6 ด้านด้วยกัน ประกอบด้วย

1.งานจดทะเบียนที่ดิน 2.งานเอกสารทางกฎหมาย 3.งานจดทะเบียนบริษัท 4.งานติดตามทวงถามหนี้ 5.งานติดตามทรัพย์ และ 6.บริการจัดเก็บเอกสารสำคัญ ซึ่งบริการทั้งหมดนี้ กสิกรไทยจะร่วมกับพันธมิตร (Partner) ผู้เชียวชาญทางด้านกฎหมายมาช่วยเหลือและให้บริการลูกค้า โดยมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่ชัดเจนจากบริษัทพันธมิตร ซึ่งในส่วนของกสิกรไทยไม่ได้มีเรียกเก็บค่าธรรมเนียมลูกค้า

ทั้งนี้ จากการดำเนินงานด้าน Family Wealth Planning Service ปัจจุบันมีลูกค้าที่ใช้บริการบริหารสินทรัพย์ครอบครัวกว่า 4,000 ราย หรือประมาณ 790 ครอบครัว คิดเป็นการเติบโต 10% จากปีก่อน โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) รวมอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 36% ของฐานลูกค้าทั้งหมด จากปัจจุบันมีฐานลูกค้าทั้งสิ้น 1.2 หมื่นราย มีจำนวน AUM รวมทั้งสิ้น 9 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มความต้องการของลูกค้าที่ต้องการวางแผนทางการเงินมากขึ้น KBank Private Banking ตั้งเป้าภายในปี 2568 จะเพิ่มสัดส่วนลูกค้าให้ครอบคลุม 40% ของฐานลูกค้าทั้งหมด โดยในปี 2566 เชื่อว่ามีโอกาสได้เห็น AUM ภายใต้แผนการบริหารสินทรัพย์ครอบครัวเพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนล้านบาท และสินทรัพย์ AUM รวมทั้งหมดแตะ 1 ล้านล้านบาทได้


“บริการ Family Wealth Planning Service หรือ การเปิดสำนักงานครอบครัว จะเป็นแม่เหล็กที่จะดึงดูดลูกค้าใหม่ให้เข้ามาใช้บริการนอกเหนือจากฐานลูกค้าเก่า เพราะจะเห็นว่ากลุ่มลูกค้ามั่งคั่งแม้ว่าจะมีสินทรัพย์ราว 9 แสนล้านบาท แต่ลูกค้ากลุ่มนี้ยังมีสินทรัพย์ที่เป็น Non Asset อีกมากกว่า เช่น ที่ดิน ตึก หรือหุ้น ซึ่งเป็นทรัพย์ที่เรายังไม่เห็นที่คาดว่าจะมีสูงถึง 2-3 เท่า จึงเป็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจนี้”