
สบน.เผยเศรษฐกิจโตเกินคาด หนุนหนี้สาธารณะลดลง สิ้นปีงบ’65 อยู่ที่ระดับ 60.41% พร้อมขอตัวเลขจีดีพีสภาพัฒน์ทบทวนสัดส่วนหนี้สาธารณะปีงบ’66 เล็งปรับปรุงแผนบริหารหนี้ ธ.ค.นี้ เพิ่มวงเงินกู้กองทุนน้ำมันอีก 1.2 แสนล้านบาท เชื่อสัดส่วนหนี้สาธารณะยังต่ำกว่าเป้าเดิมที่คาดไว้ 60.43%
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า หลังจากปรับจีดีพีตามการคำนวณตัวเลขเศรษฐกิจของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ส่งผลให้ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 หนี้สาธารณะอยู่ที่ระดับ 60.41% ต่อจีดีพี ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 60.56% ต่อจีดีพี เนื่องจากเศรษฐกิจเติบโตกว่าที่คาด ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ 2566 นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างขอตัวเลขจีดีพีจากสภาพัฒน์
อย่างไรก็ดี คาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ 2566 จะต่ำกว่าประมาณการเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 60.43% เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น ซึ่งในช่วงเดือนธันวาคมนี้ ก็จะมีการทำแผนปรับปรุงหนี้สาธารณะอีกครั้ง โดยจะมีการเพิ่มวงเงินการกู้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปอีก 1.2 แสนล้านบาท ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565
“แม้จะมีการเพิ่มสัดส่วนการกู้เงินจากกองทุนน้ำมันเข้าไปอีก ก็ยังคาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ 2566 ยังต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากการขยายตัวเศรษฐกิจที่โตขึ้น และยังคาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้า ตามแผนการกู้เงินระยะปานกลาง สัดส่วนหนี้สาธารณะจะดีขึ้น คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 63% ต่อจีดีพี จากเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 64.2% ต่อจีดีพี”
ทั้งนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะที่อยู่ระดับ 60.41% คิดเป็นยอดหนี้รวมอยู่ที่ 10.37 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรัฐบาลกู้โดยตรง 8.49 ล้านล้านบาท, รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายของกองทุนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน (FIDF) 672,613 ล้านบาท, รัฐวิสาหกิจ 955,633 ล้านบาท, รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน รัฐบาลค้ำประกัน 248,108 ล้านบาท, และหน่วยงานของรัฐ 6,522 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังไม่เกินกรอบเพดานที่กำหนดไว้ 70%
“หากพิจารณาจากมูลหนี้สาธารณะทั้งหมดแล้ว รัฐบาลยังมีช่องที่จะสามารถกู้เงินได้อีก 1.7 ล้านล้านบาท แต่การกู้เงินนั้นจะต้องมีแผนการใช้เงินที่ชัดเจน อาทิ กู้เพื่อการลงทุน และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ถ้าไม่มีแผนการลงทุนที่ชัดเจนก็ไม่ควรกู้ และหากต้องกู้ก็ต้องออกเป็นพระราชกำหนด”