เอ็มดี บสย.กางภารกิจปี’66 เติมทุน-แก้หนี้ อุ้ม SMEs หลังโควิด

สิทธิกร ดิเรกสุนทร
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

ใกล้ครบขวบปีในการเข้ามานั่งเป็นผู้บริหารเบอร์หนึ่งขององค์กร “สิทธิกร ดิเรกสุนทร” กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดยเป็นการเข้ามารับตำแหน่งในช่วงที่ต้องเผชิญความท้าทายจากภาวะที่ลูกค้า ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กำลังยากลำบากจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ค้ำ-เติมทุนลูกค้าฝ่าวิกฤตโควิด

“สิทธิกร” เปิดเผยว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บสย.เข้าไปดูแลเอสเอ็มอีในช่วงที่วิกฤตโควิดรุนแรง คิดเป็นวงเงินสินเชื่อกว่า 240,000 ล้านบาท ขณะที่ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-ต.ค.) บสย.ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่เอสเอ็มอีแล้ว 128,581 ล้านบาท

โดยมีผู้ประกอบการได้รับสินเชื่อ 78,510 ราย คิดเป็นจำนวนหนังสือค้ำประกัน (LG) 82,461 ฉบับ ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบ 140,958 ล้านบาท รักษาการจ้างงาน 893,073 ตำแหน่ง และสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกว่า 531,039 ล้านบาท

“10 เดือนแรก บสย.ค้ำประกันสินเชื่อช่วยเอสเอ็มอีแล้ว 128,581 ล้านบาท และคาดว่าปลายปีนี้ จะสามารถทำได้ถึง 140,000 ล้านบาท” ทั้งนี้ สำหรับ 4 อันดับแรกของเอสเอ็มอีที่ บสย.ได้อนุมัติค้ำประกันไปมากที่สุด ประกอบด้วย 1.กลุ่มบริการ ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นส่วนที่สำคัญกับระบบเศรษฐกิจ เพราะซัพพลายเชนมีขนาดใหญ่มาก

อาทิ สายการบิน สนามบิน แท็กซี่ ร้านอาหาร เป็นต้น โดยมีสัดส่วนการค้ำประกันถึง 60% 2.ภาคการเกษตร ที่เติบโตมากขึ้นตั้งแต่ช่วงโควิดจนถึงปัจจุบัน จึงมีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น 3.ภาคการผลิตและการค้า และ 4.กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม

เร่งแก้หนี้ช่วยเอสเอ็มอีอยู่รอด

ขณะที่อีกภารกิจที่สำคัญ คือ การจัดการหนี้ ซึ่ง บสย.ได้มีมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ “บสย.พร้อมช่วย” ผ่อนน้อย เบาแรง หรือมาตรการ 3 สี ม่วง เหลือง เขียว ช่วยแก้หนี้ และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งมีลูกหนี้ บสย.ลงทะเบียนแล้ว 9,809 ราย ได้รับการประนอมหนี้ 4,785 ราย คิดเป็นสัดส่วน 49% หรือราว 2,058 ล้านบาท คาดว่าถึงสิ้นปีนี้จะช่วยลูกหนี้ได้กว่า 7,000 ราย

“บสย.พร้อมช่วย เป็นการปรับลด ก่อนตัดดอก เน้นให้ผู้ประกอบการอยู่รอด เน้นไม่ฟ้อง โดยหากผู้ประกอบการมีปัญหา ก็ปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินก่อน แต่หากปรับไม่ได้ ก็ส่งมาเคลมกับ บสย. เราก็จะมีมาตรการพร้อมช่วย 3 สี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้กลุ่มไมโคร โดยมาตรการสีเขียว ได้รับความนิยมมากที่สุด มีลูกค้าใช้บริการแล้ว 79% คิดดอกเบี้ย 0% ผ่อนนาน 7 ปี ตัดเงินต้นทั้งจำนวน โดยชำระครั้งแรกเพียง 10% วงเงินหนี้ต่อราย”

ของขวัญปีใหม่เพื่อลูกค้า บสย.

“สิทธิกร” กล่าวอีกว่า บสย.ยังเตรียมของขวัญปีใหม่เตรียมไว้ให้เอสเอ็มอี โดยจะยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้ลูกค้า ตั้งแต่ 500-3,000 บาท ขึ้นอยู่กับวงเงินที่ต้องการขอสินเชื่อ

ขณะที่ลูกหนี้ของ บสย. ตามมาตรการ 3 สี จะได้รับส่วนลดเพิ่มขึ้นอีก เช่น ลูกหนี้ที่ใช้มาตรการสีเขียว ดอกเบี้ย 0% ผ่อนยาว 7 ปี หากเข้ามาขอใช้บริการ บสย.จะลดค่างวดให้เหลือ 20% เช่น หากผ่อน 10,000 บาทต่องวด ก็ชำระหนี้เพียง 2,000 บาท นาน 6 เดือน เป็นต้น

ค้ำประกันสินเชื่อ BCG Model

ขณะที่แผนการดำเนินงานในปี 2566 บสย.มีแผนจะเปิดตัวนวัตกรรมค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อรองรับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ทำธุรกิจบนหลักการการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า นำกลับมาใช้ประโยชน์ สร้างระบบเศรษฐกิจสีเขียวมาใช้ นอกจากนี้ ช่วงปี 2566-2567 บสย.ยังมีภารกิจที่ต้องบริหารจัดการหนี้ที่ธนาคารพาณิชย์จะส่งเข้ามาเคลม และอาจจะมีการขายหนี้ออกไปด้วย

“เราไม่ได้กังวลเรื่องหนี้ โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของ บสย.ในปัจจุบัน ไม่ได้สูงมาก อยู่ที่ประมาณ 8-9% แต่เป็นความท้าทายว่าจะจัดการอย่างไร ซึ่งในช่วงปี 2566-2567 ต้องบริหารจัดการให้ดี”

เสริฟ 2 โปรดักต์ใหม่กว่า 1 หมื่นล้าน

นอกจากนี้ เอ็มดี บสย.กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ บสย.อยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะกรรมการ บสย.พิจารณาอนุมัติโครงการค้ำประกันสินเชื่อ 2 ผลิตภัณฑ์ด้วยกัน ได้แก่ 1.การค้ำประกันสินเชื่อรายสถาบันการเงิน หรือ Bilateral 7 (B1 7) วงเงิน 11,000 ล้านบาท

สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วไปที่ต้องการสินเชื่อแต่ขาดหลักประกัน ค่าธรรมเนียมค้ำประกันระหว่าง 2-3.25% ตามระดับความเสี่ยง ซึ่งจะร่วมกับสถาบันการเงิน 5 แห่งแบบเฉพาะราย ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย

และ 2.การค้ำประกันสินเชื่อ RBP (Risk Based Pricing Product) คิดค่าธรรมเนียมตามระดับความเสี่ยงของเอสเอ็มอี ซึ่งจะเป็นบริการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มซัพพลายเชน วงเงิน 500 ล้านบาท

“ผลิตภัณฑ์ที่เราออกแบบ ส่วนใหญ่จะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ไม่มีสภาพคล่องอย่างภาคท่องเที่ยว อาจจะเช่าตึกแถว ขายอาหารอยู่ แต่ไม่มีหลักทรัพย์ในการยื่นขอวงเงินสินเชื่อ ดังนั้น การใช้หนังสือค้ำประกันของ บสย. ก็จะเป็นส่วนช่วยให้เขาไม่ต้องไปหาที่ดิน รถยนต์ มาเป็นหลักทรัพย์” ผู้จัดการทั่วไป บสย.กล่าว