เครดิตบูโรเปิดข้อมูล “หนี้ครัวเรือน-หนี้ธุรกิจ” โจทย์ท้าทายยุคดอกเบี้ยขาขึ้น-เศรษฐกิจฟื้นช้า เผยตัวเลขหนี้เสียท่วม 1.09 ล้านล้านบาท คนไทย 5.5 ล้านคนติดกับดัก “หนี้เสีย” หวั่นสินเชื่อช่วยกลุ่มเปราะบางช่วงโควิดของแบงก์รัฐเสี่ยงเป็นหนี้เสียถึง 50%
จี้แบงก์ชาติยกระดับมาตรการ “คลินิกแก้หนี้” เป็น “โรงพยาบาลสนามแก้หนี้” ชี้ผู้ประกอบการจิ๋วน่าเป็นห่วง 5 ธุรกิจค้างจ่ายหนี้เพิ่มขึ้น แม้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นแต่ไม่ทั่วถึง ห่วงกลุ่มเจนวาย วัยทำงานก่อหนี้สะสม-รายได้ไม่พอจ่ายหนี้สัดส่วนเพิ่มขึ้น
5.5 ล้านคนติดล็อก “หนี้เสีย”
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) หรือเครดิตบูโร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนไทยปัจจุบันอยู่ที่ 14.7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 88% ของจีดีพี (16.7 ล้านล้านบาท) แม้ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนได้ผ่านจุดเลวร้ายระดับ 90% ของจีดีพี
แต่ระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 80% ของจีดีพี ยังคงถือว่าอยู่ในระดับอันตราย ซึ่งสอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องการให้หนี้ครัวเรือนลงมาอยู่ในระดับ 70% ของจีดีพี แต่อาจจะต้องใช้เวลา 7-10 ปี ในการแก้ปัญหา เนื่องจากหนี้ครัวเรือนจะลดลงได้ ประเด็นสำคัญคือเศรษฐกิจต้องขยายตัวเร็ว และหนี้จะต้องโตช้ากว่า
ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลของ NCB ที่มีสมาชิกทั้งสถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) รวมทั้งสิ้น 126 ราย ทางข้อมูลเครดิตแห่งชาติจึงมีฐานข้อมูลหนี้ครัวเรือนอยู่ 13 ล้านล้านบาท ด้วยจำนวนลูกหนี้ 32 ล้านคน
โดยจากข้อมูล ณ ไตรมาส 3/65 พบว่า มีตัวเลขหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) คือค้างชำระเกิน 90 วัน อยู่ที่ 1.09 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8.4% ซึ่งเป็นจำนวนลูกหนี้ประมาณ 5-5.5 ล้านคน ซึ่งคือกลุ่มที่กู้แล้วผ่อนหนี้ไม่ได้ และไม่สามารถกู้เพิ่มได้
“สิ่งที่น่าจับตาคือกลุ่มลูกหนี้ที่ค้างชำระตั้งแต่ 1 เดือน แต่ยังไม่ถึง 3 เดือน ที่เรียกว่าเป็นสินเชื่อจับตาเป็นพิเศษ (SM) คือกลุ่มที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย แต่เกือบเป็นหนี้เสียมีประมาณ 3.1% ดังนั้นหากรวมกับตัวเลขเอ็นพีแอลกับ SM ก็จะเห็นโอกาสหนี้เสียกลายเป็น 11.5%”
โดยข้อมูลของ NCB จะครอบคลุมทั้งแบงก์และน็อนแบงก์ ทำให้ตัวเลขหนี้เสียแตกต่างจากที่ ธปท.ประกาศ ซึ่งเป็นหนี้เสียเฉพาะในส่วนของธนาคารพาณิชย์
จุดเสี่ยงหนี้บริโภค “กับดักหนี้”
นายสุรพลกล่าวว่า หากดูไส้ในหนี้ครัวเรือน 14.7 ล้านล้านบาท โดยประมาณ 28% มาจากหนี้ที่เกิดจากบริโภค กินใช้ เป็นหนี้ไม่มีหลักประกัน ซึ่งแบงก์ชาติเรียกว่าเป็น “กับดักหนี้” เพราะเป็นการก่อหนี้มาเพื่อการบริโภค เมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น มาเลเซีย หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่จะเป็นหนี้บ้าน หนี้รถ สำหรับหนี้ที่ไม่มีหลักหรือหนี้เพื่อการบริโภคจะมีประมาณ 10% เท่านั้น
“หนี้ครัวเรือนได้รับการถอดสลักไปแล้ว แต่ถ้าหากเกิด global pandemic อีกรอบ ซึ่งไทยตอนนี้พึ่งพาเครื่องยนต์การท่องเที่ยวตัวเดียว หากหยุดทำงาน เราจะสามารถส่งวัคซีนเศรษฐกิจลงไปได้อย่างไร ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจในปี’66 ภาพรวมยังไม่สดใส แม้ว่าฟื้นตัวแต่ก็มีความพร้อมที่จะไม่สดใสได้ตลอดเวลา ดังนั้นก็จะยิ่งกดดันต่อคุณภาพหนี้ได้ตลอดเวลา”
หวั่นหนี้โควิดแบงก์รัฐเสีย 50%
นายสุรพลกล่าวว่า ผลพวงจากในช่วงที่มีปัญหาการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลสนับสนุนให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ได้มีการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนกลุ่มฐานราก โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 1% และชำระหนี้ภายใน 1 ปี วงเงินเฉลี่ยตั้งแต่ 5,000-30,000บาท ทำให้ในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา กลุ่มฐานรากเป็นหนี้เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก
จากข้อมูลในช่วงที่เกิดโควิด-19 ระยะเวลา 2 ปี 9 เดือน สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมีการปล่อยสินเชื่อไปให้กับกลุ่มฐานรากแล้วกว่า 15 ล้านบัญชี หรือคิดเป็น 5-6 ล้านคน “มีคำถามว่าในจำนวนสินเชื่อส่วนบุคคลที่แบงก์รัฐปล่อยไปช่วงโควิดจะเกิดเป็นหนี้เสียเท่าไร ซึ่งหากดูสินเชื่อจะเริ่มครบกำหนดชำระ 1 ปี ซึ่งจะเริ่มครบปี 2566 ในกลุ่มที่ปล่อยสินเชื่อในช่วงปี 2563-2564
โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีความเสียหายหรือเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ประมาณครึ่งหนึ่ง หรือราว 50% ของสินเชื่อที่ปล่อย หรือกว่าล้านคนจะกลายเป็นหนี้เสีย อย่างไรก็ดี หากเศรษฐกิจสามารถกลับมาได้ ตัวเลขความเสียหายอาจจะไม่ถึง” นายสุรพลกล่าว
รายได้วูบ “แก้หนี้” ติดกับดัก
นายสุรพลสะท้อนว่า แม้ว่าสถาบันการเงินจะพยายามปรับโครงสร้างหนี้ แต่ก็จะเห็นว่าตัวเลขการปรับโครงสร้างหนี้ในช่วง 3-4 ไตรมาสที่่ผ่านมา ค่อนข้างอืด ไม่มีความคืบหน้า สาเหตุเพราะลูกหนี้มีรายได้ไม่พอชำระหนี้ แม้ว่าสัญญาณเศรษฐกิจเริ่มฟื้น นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมา แต่เป็นการฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึง
“ตัวเลขเอ็นพีแอลไม่ได้ลดลง เพราะปรับโครงสร้างหนี้แล้วก็ยังมีหนี้เสียกลับมา ซึ่งในปีหน้าแนวโน้มเอ็นพีแอลจะยังขยับขึ้นต่อ แต่ไม่ได้พุ่งถ้าไม่มีเหตุการณ์อะไร เพราะแม้ว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมา ซึ่งคนตัวใหญ่และกลางจะรอด แต่คนตัวเล็กและตัวจิ๋วไม่รอด เพราะเป็นกลุ่มที่แบกหนี้อยู่”
ผู้ประกอบการจิ๋วลำบาก
นายสุรพลกล่าวว่า สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ใช้ข้อมูลของ NCB อ้างอิงในส่วนของหนี้ภาคธุรกิจ โดยผู้ประกอบการรายเล็กยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนอยู่ 2-3 เรื่อง ทั้งต้นทุนค่าไฟฟ้าปี’66 ที่จะปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งคนตัวเล็กจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น หรือราคาด้านพลังงาน แม้จะมีรัฐมาอุดหนุนอยู่ แต่จะเห็นการส่งผ่านไปค่าใช้จ่ายมากขึ้น ภาวะของแพง ค่าแรงถูก จะทำให้คนมีเงินน้อยลง และยังจะเจอต้นทุนจากดอกเบี้ยขาขึ้น
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการศึกษาข้อมูลบัญชี “ลูกหนี้ธุรกิจ” จากฐานข้อมูลสถิติของ NCB จำนวน 1.75 ล้านบัญชี ระบุว่าภาคธุรกิจได้ผ่านช่วงที่แย่ที่สุดจากผลกระทบโควิด-19 แล้ว โดยยอดคงค้างหนี้ธุรกิจที่ค้างชำระเกิน 90 วัน ที่ปรับตัวลงจาก 506,193.52 ล้านบาท ในไตรมาส 3/63 มาอยู่ที่ระดับ 441,319.55 ล้านบาท ในไตรมาส 1/65
5 ธุรกิจค้างจ่ายหนี้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจขนาดจิ๋วยังเป็นกลุ่มที่เปราะบางต่อการฟื้นตัว โดยกลุ่มธุรกิจไมโคร (วงเงินสินเชื่อ 5-20 ล้านบาท) และซูเปอร์ไมโคร (วงเงินสินเชื่อต่ำกว่า 5 ล้านบาท) ประสบปัญหามีหนี้ค้างชำระระยะสั้นระหว่าง 1-30 วัน และมากกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 90 วัน ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/2564
ทั้งนี้ พบว่ากลุ่มธุรกิจไมโคร มีสัดส่วนยอดหนี้ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน 18.4% และธุรกิจซูเปอร์ไมโคร มีสัดส่วนยอดหนี้ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน 34.8% สวนทางกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลาง ซึ่งมีสัญญาณการฟื้นตัวของคุณภาพหนี้ค่อนข้างชัดเจนตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1/64 ตามอานิสงส์จากการทยอยฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและมาตรการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ
สำหรับธุรกิจจิ๋วที่ยังมีการฟื้นตัวไม่ชัดเจน ส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจขายส่งและขายปลีก ซ่อมยานยนต์และจักรยาน ก่อสร้าง ภาคการผลิต รวมไปถึงภาคการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า
ลูกหนี้ดีไหลเป็น NPL เพิ่มขึ้น
นายสุรพลกล่าวว่า ในจำนวนหนี้เสีย 1.09 ล้านล้านบาท กลุ่มที่เป็นห่วงที่สุดคือกลุ่มที่เป็นหนี้เสียจากผลกระทบโควิด-19 คือคนที่ชำระหนี้ดีมาโดยตลอดก่อนปี 2562 แต่พอมาเจอสถานการณ์โควิด-19 และมาในปี 2565 กลายเป็นหนี้เอ็นพีแอล ซึ่งกลุ่มนี้มีทิศทางที่เพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะกลุ่มหนี้บุคคลธรรมดาที่ในเดือน ก.ย. 65 มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.2 ล้านคน (4.7 ล้านบัญชี) มูลหนี้ 4 แสนล้านบาท จากเมื่อเดือน ม.ค. 65 มีจำนวนเพียง 1.9 ล้านคน (2.3 ล้านบัญชี) มูลหนี้ 2 แสนล้านบาท
“คนที่เป็นหนี้ 5.5 ล้านคน โดยมีประมาณ 3.2 ล้านคน ที่โดนผลกระทบจากโควิด ไม่ใช่เป็นหนี้เสียเพราะนิสัย ดังนั้นหากเรามีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มนี้ เชื่อว่าจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจและหมุนเวียนเศรษฐกิจให้ดีขึ้น และควรเป็นกลุ่มเป้าหมายอันดับแรกที่จะช่วยเขา เช่น ทัวร์ไกด์ภูเก็ต เป็นต้น เพราะคงไม่สามารถช่วยได้ทุกคน แต่ต้องหาวิธีการทำให้การปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จในเวลา 3-5 วัน
จี้แบงก์ชาติตั้ง รพ.สนามแก้หนี้
นายสุรพลกล่าวว่า แม้ว่า ธปท.จะมีโครงการ “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้” แต่จะเห็นว่ายอดลงทะเบียนแก้หนี้มีเพียง 1.5 แสนคน แต่ลูกหนี้ที่มีปัญหามากกว่า 3 ล้านคน ซึ่งสเกลแตกต่างกันค่อนข้างเยอะ ดังนั้น ธปท.ในฐานะตัวกลางประสานงานระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ จะทำให้คนนับล้านเข้าสู่กระบวนการแก้หนี้ได้อย่างไร
“ข้อเสนอของผมคือ 1.ควรจะขยายคลินิกแก้หนี้ ให้เป็น โรงพยาบาลสนามแก้หนี้ ซึ่งปัจจุบันสามารถแก้หนี้เฉพาะหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีเพียง 6-7 หมื่นคนเท่านั้น 2.ธปท.จะต้องทำหน้าที่บทบาทตัวกลางในการแก้หนี้ เชื่อว่าจะช่วยให้สามารถแก้หนี้ได้ดีขึ้น เพราะเจ้าหนี้เกรงใจ เพราะตอนนี้ ธปท.แค่ประกาศเชิญชวนให้มาร่วมโครงการ และการเจรจาระหว่างเจ้าหนี้-ลูกหนี้จะต้องเป็นระบบดิจิทัล
3.ควรจัดตั้งศูนย์แก้ไขหนี้ระดับจังหวัด 4.การจัดทำสัญญามาตรฐานกลาง (term sheet) ในการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเหมือนในปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้งที่แก้หนี้จะมีการจัดทำสัญญามาตรฐานกลาง ทั้งตารางการชำระหนี้ ยอดเงินคงเหลือ และรายได้ที่มี เช่น ในปี 2566 ชำระแต่ดอกเบี้ยก่อนได้หรือไม่ และพักเงินต้นไว้ และเงินที่ได้มานำมาตัดชำหนี้ส่วนเงินต้นด้วย”
“กลุ่มลูกหนี้ 3.2 ล้านคน เราควรเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้กับเขาก่อนเลย เพราะเป็นกลุ่มลูกหนี้ดี และมาเสียในปี’65 จากโควิด แต่การจะปรับโครงสร้างหนี้ให้สำเร็จได้ ลูกหนี้จะต้องมีรายได้ก่อน ซึ่ง ธปท.ก็สื่อสารว่าเศรษฐกิจจะสามารถกลับมาเติบโตเทียบเท่าก่อนโควิด-19 ในช่วงปลายปีนี้”
Gen Y ก่อหนี้สะสมฉุดเศรษฐกิจ
นายสุรพลกล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าหนี้ครัวเรือนทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบุคคล (พีโลน) สินเชื่อรถ สินเชื่อบ้าน รวมถึงบัตรเครดิต ผู้บริโภคกลุ่มเจนวาย (อายุ 25-42 ปี) คือกลุ่มที่เป็นฐานลูกค้าใหญ่ ขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มที่มีปัญหาในการชำระหนี้มากที่สุด และมีแนวโน้มหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งในแง่ของจำนวนบัญชีและวงเงินหนี้
และจากข้อมูลพบว่า ขณะนี้ปัญหาหนี้เสียของกลุ่มเจนวายเริ่มก่อตัวมากขึ้นในสินเชื่อบุคคล ซึ่งเป็นการก่อหนี้เพื่อการบริโภค และกำลังเห็นสัญญาณว่าปัญหาจะลามไปที่สินเชื่อรถ และสินเชื่อบ้านเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มวัยทำงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้รายได้ลดลง อย่างไรก็ตาม กลุ่มเจนวายคือกลุ่มมนุษย์แรงงานที่จะมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ถ้ากลุ่มนี้กลายเป็นหนี้เสียก็จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น
“กลุ่มลูกหนี้เจนวาย เป็นกลุ่มที่มีการก่อหนี้ตลอดเวลา และมีการก่อหนี้สะสมมาโดยตลอด และภายหลังจากเกิดปัญหาโควิด-19 ทำให้เกิด income shock ทำให้ปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ต่าง ๆ ที่ก่อไว้ได้ ส่งผลให้ตัวเลขหนี้เสียของกลุ่มเจนวายเพิ่มขึ้นชัดเจน”
เตือนภัย Buy Now Pay Later
นายสุรพลกล่าวว่า ประเภทสินเชื่อที่น่าเป็นกังวลมากที่สุดก็คือ “สินเชื่อส่วนบุคคล” ยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาท ณ ไตรมาส 3/65 ตัวเลขเอ็นพีแอลอยู่ที่ราว 10.3% และตัวเลขที่กำลังจะเสีย (SM) อีก 2.9% รวม 2 ตัวนี้จะเพิ่มเป็น 13.2% ซึ่งถือเป็นระดับที่สูง และผลิตภัณฑ์ที่กำลังจะสร้างปัญหาในอนาคตคือบริการ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” (Buy Now Pay Later)
ซึ่งขณะนี้มีผู้ให้บริการออกมาโปรโมตการทำตลาด เพราะดอกเบี้ยจูงใจผู้ประกอบการ 25% ต่อปี สูงกว่าบัตรเครดิตที่อยู่ 16% ต่อปี ทำให้หลายบริษัทให้ความสนใจทำธุรกิจนี้ ซึ่งยิ่งเป็นการกระตุ้นการก่อหนี้เพื่อการบริโภค จับจ่ายซื้อสินค้าไม่จำเป็นมากยิ่งขึ้น
“หากดูในต่างประเทศมีรายงานออกมาว่า ถ้าจะเปิดให้สินเชื่อในลักษณะนี้จะต้องควบคุมให้ดี เพราะขณะนี้บริการประเภท Buy Now Pay Later กำลังเป็นปัญหาหนี้เสียสูงมาก แต่ประเทศไทยกำลังโปรโมต ซึ่งปัญหาของโปรดักต์นี้คือ ดอกเบี้ย หากเพดานดอกเบี้ย 15% ต่อปี ก็ถือว่าช่วยกลุ่มคนไม่มีสภาพคล่อง แต่ตอนนี้ใช้อัตราดอกเบี้ยส่วนบุคคลสูงถึง 25% ต่อปี”
กลุ่มเจนวาย (อายุ 25-42 ปี) มีปัญหาการจ่ายหนี้ไม่ไหวกลายเป็นเอ็นพีแอลมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้กลุ่มเจนวายกลายเป็นหนี้เสียสินเชื่อพีโลน 2.98 ล้านบัญชี (มูลหนี้1.18 แสนล้านบาท) จากสิ้นปี 2563 มีจำนวน 1.81 บัญชี (มูลหนี้ 7.99 แสนล้านบาท)
ปี’66 ปล่อยกู้บ้านยากขึ้น
นายสุรพลกล่าวว่า ส่วนสินเชื่อรถยนต์ในปี 2566 จะค่อนข้างเหนื่อย ส่วนหนึ่งมาจากแรงกดดันการควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่มีการกำหนดเพดานดอกเบี้ยรถใหม่ 10% ต่อปี รถใช้แล้ว 15% ต่อปี และรถจักรยานยนต์ 23% ต่อปี โดยในช่วง 9 เดือนแรกมีการอนุมัติสินเชื่อใหม่ 1.08 ล้านบัญชี โดยเป็นกลุ่มเจนวายประมาณ 6 แสนสัญญา และกลุ่มเจนเอ็กซ์ราว 4 แสนสัญญา ขณะเดียวกันเจนวายก็เป็นกลุ่มที่มีปัญหาในการชำระสินค้ามากที่สุด โดยปัจจุบันตัวเลขหนี้เสียของสินเชื่อรถอยู่ที่ 6.5%
สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 2.7 แสนสัญญา (หลัง) ซึ่งจากมาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ของ ธปท.ที่กำลังจะครบอายุในไตรมาสที่ 4 นี้ ทำให้จะเห็นการเร่งกู้และเร่งปล่อยสินเชื่อ โดยคาดว่าภายในปี 2565 จะมียอดการปล่อยสินเชื่อทั้งสิ้นราว 3.2 แสนสัญญา (หลัง) ซึ่งกลุ่มคนที่จะได้รับสินเชื่อจะอยู่ในกลุ่ม Gen Y วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็นคอนโดมิเนียม
โดยปัจจุบันสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีหนี้เสียราว 4% และมีหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษอีก 2% ซึ่งสิ่งที่ NCB กังวล คือสินเชื่อที่อยู่อาศัย บัญชีที่เริ่มมีปัญหาค้างชำระ 1-4 งวด ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Gen Y ที่ตอนนี้มีสัญญาที่เป็นหนี้เสียแล้ว 1.2 แสนสัญญา (หลัง) ซึ่งมองไปข้างหน้าในปี 2566 คนที่จะได้รับอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะยากขึ้น ซึ่งจะต้องเป็นกลุ่มที่มีรายได้ 5 หมื่นบาทต่อเดือน
ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิต ปีนี้มีฐานบัตรใหม่ราว 1.5 ล้านใบ คาดว่าสิ้นปีจะอยู่ที่ 2 ล้านใบ ปัจจุบันอัตราหนี้เสียอยู่ที่ระดับ 12.2% โดยตัวเลขหนี้เสียเริ่มลดลง เนื่องจากมาตรการของ ธปท.ที่ลดการผ่อนชำระขั้นต่ำจาก 10% ปัจจุบันเหลืออยู่ 3% ทำให้สินเชื่อประเภทนี้ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะชำระเลี้ยงค่างวดกันไปได้