แบงก์เกาะติดหนี้เสีย สินเชื่อเอสเอ็มอีหวั่นตกชั้นเพิ่ม

หนี้

แบงก์เกาะติดหนี้เสียเอสเอ็มอี-SM พุ่งหวั่นตกชั้นเพิ่ม “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ชี้หลายอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้น/ฟื้นช้า ระบุแบงก์ยังต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก – ตัดขายหนี้ ขณะที่แบงก์ชาติยอมรับพิษโควิดที่ผ่านมาทำเอสเอ็มอีบางส่วนไปไม่รอดต้องปิดกิจการ

รวมถึงเข้าปรับโครงสร้างหนี้จำนวนมาก “กสิกรไทย” เผยลูกค้าไปไม่ไหวปิดกิจการร่วม 1 พันราย เข้าพักทรัพย์พักหนี้ 1.8 หมื่นล้านบาท ฟาก “ทิสโก้” เผยกลุ่มลูกหนี้ดีลเลอร์เจอผลกระทบปัญหาชิปขาดปัจจุบันเริ่มเข้าที่แล้ว

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ปีนี้ ประเด็นคุณภาพสินเชื่อยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอยู่ แม้ว่าตัวเลขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารพาณิชย์ไม่ได้อยู่ในระดับสูง

แต่จะพบว่าสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ในหลายกลุ่มมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ เช่น ภาคการผลิต ค้าปลีก เป็นต้น หรือกลุ่มที่ฟื้นตัวช้า เช่น เกษตร อสังหาริมทรัพย์ และบริการ จึงเป็นโจทย์ที่ต้องติดตาม

“สินเชื่อที่อยู่ในโครงการช่วยเหลือคิดเป็นสัดส่วน 12.6% ของสินเชื่อทั้งหมด เป็นสิ่งที่ธนาคารต้องบริหารจัดการ โดยระยะข้างหน้า แบงก์คงจะมีการปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุกเพื่อดูแลคุณภาพหนี้ ซึ่งจะเห็นตัวเลขการปรับโครงสร้างหนี้ในแต่ละไตรมาสสูงกว่าในอดีต รวมถึงตัดขายหนี้ให้กับบริษัท บริหารสินทรัพย์ (AMC)” นางสาวธัญญลักษณ์กล่าว

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า มีธุรกิจเอสเอ็มอี และธุรกิจขนาดเล็ก (small SMEs) ที่ปิดกิจการจากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะธุรกิจในภาคการท่องเที่ยว และภาคบริการ แต่ในภาพรวมยังไม่พบสัญญาณผิดปกติ ในแง่การปิดกิจการ หรือเป็นหนี้เสียแบบก้าวกระโดด

ตาราง หนี NPL and SM

“ธปท.สนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบ smooth take off จะช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีปรับตัวดีขึ้นรวมถึงมาตรการช่วยเหลือที่มีอยู่ ทั้งในส่วนการฟื้นฟู การปรับตัว และปรับโครงสร้างอย่างยั่งยืน จะช่วยประคับประคองธุรกิจได้ เนื่องจากลูกหนี้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ แต่ได้รับผลกระทบจากโควิด” นายรณดลกล่าว

นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ตอนนี้มีลูกค้าเอสเอ็มอีเข้ามาขอปรับโครงสร้างหนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน และคาดว่าตัวเลขจะมีทิศทางเพิ่มขึ้นมาจากมาตรการช่วยเหลือเดิมทยอยครบกำหนด ทำให้ลูกค้าที่ยังไม่ฟื้นตัวจำเป็นต้องเข้ามาตรการช่วยเหลือต่อ ซึ่งคาดว่าแนวโน้มเอ็นพีแอล ในปีนี้จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าทุกปี

สำหรับลูกค้าที่ปรับโครงสร้างหนี้กระจายทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่ถูกกระทบจากโควิด การถูกดิสรัปต์จากเทคโนโลยีไม่สามารถปรับตัวได้ ซึ่งบางรายมีการปรับโครงสร้างมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่สามารถไปต่อได้ จำเป็นต้องปิดกิจการ ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1,000 ราย ทั้งรายเล็กและรายกลาง

ขณะเดียวกัน มีธุรกิจภาคบริการ-โรงแรม อยู่ระหว่างเจรจาขอเข้าโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เพิ่มเติมอีกราว 3,000 ล้านบาท แม้ว่าการท่องเที่ยวจะทยอยฟื้นตัวดีขึ้น แต่การฟื้นตัวจะกลับเข้าสู่ปกติอาจต้องใช้เวลาอีก 2 ปี ผู้ประกอบการบางรายอาจไม่ไหว และการเข้าโครงการเป็นทางเลือกที่ดี

เพราะได้รับดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำเพียง 1% และยังคงความเป็นเจ้าของสินทรัพย์อยู่ โดยปัจจุบันมีลูกค้าเข้าพักทรัพย์ พักหนี้แล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท คาดว่าภายในสิ้นปี 2565 น่าจะอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท ถือว่ากสิกรไทยเป็นอันดับ 1 ที่ใช้วงเงินในโครงการนี้

“แนวโน้มเอ็นพีแอลปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้น การขอปรับโครงสร้างมีมากขึ้น เพราะมาตรการเริ่มทยอยหมดลง แต่กลุ่มที่ไปต่อไม่ไหวก็มี ก็ค่อย ๆ ปิด เรายังต้องลุ้นเอสเอ็มอี เพราะมองว่ายังไม่ถึงจุดต่ำสุด” นายชัยยศกล่าว

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า พอร์ตสินเชื่อกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีของทิสโก้ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มดีลเลอร์รถยนต์ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบบ้างในช่วงที่ชิปขาดแคลน ทำให้ขาดสภาพคล่อง แต่ปัจจุบันสถานการณ์ทยอยกลับมาเป็นปกติแล้ว


แต่หากลูกค้ารายใดไม่ไหว ธนาคารก็มีมาตรการช่วยเหลือ เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น กลุ่มโรงแรมที่พักและภาคบริการที่มีปัญหาประมาณ 3-4 ราย ก็ให้ปรับโครงสร้างหนี้ จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย “ลูกค้าเราหากปรับโครงสร้างไปแล้ว 1-2 ครั้งไม่ไหว เราก็ช่วยเหลือผ่านมาตรการที่มีอยู่ และช่วยประคองสภาพคล่อง ยืดเวลาชำระ ” นายศักดิ์ชัยกล่าว