วิกฤตค่าครองชีพอังกฤษ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” หนี้เสียท่วม

อังกฤษ

จากภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งทำลายสถิติในหลายประเทศ ส่งผลให้เกิด “วิกฤตค่าครองชีพ” ที่ผู้บริโภคต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากขึ้น สินเชื่อรายย่อยจึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภค แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนก็สร้างความเสี่ยงที่ผู้กู้ยืมจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ และอาจกลายเป็นปัญหา “หนี้เสีย”

โดยอัตราเงินเฟ้ออังกฤษเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา พุ่ง 9.1% แตะระดับสูงสุดรอบ 40 ปี โดยสิ่งที่ทำให้ภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก มาจากราคาพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซ ค่าเชื้อเพลิงควบคู่กับการขนส่ง รวมถึงราคาอาหารและเครื่องดื่ไม่มีแอลกอฮอล์ที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง กดดันให้วิกฤตค่าครองชีพรุนแรงขึ้น

นอกจากนี้ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คาดว่าดัชนีเงินเฟ้อของประเทศมีโอกาสจะพุ่งสูงกว่า 11% ในเดือน ต.ค.นี้

เงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องกดดันให้ธนาคารกลางอังกฤษ ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 5 ติดต่อกันเมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ระดับ 1.25% สูงสุดในรอบ 13 ปี

โดยผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติแห่งสหราชอาณาจักร (ยูเค) ระบุว่า ชาวอังกฤษราว 68% ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในชีวิตประจำวัน และ 52% ระบุว่า ลดการปริมาณการใช้ก๊าซและไฟฟ้าในครัวเรือน หลังจากที่ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น

วิกฤตค่าครองชีพยังนำมาซึ่ง “ภาระหนี้สิน” ที่ไม่สามารถจัดการได้ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้บริการ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” (Buy Now, Pay Later : BNPL) โดยเดอะการ์เดียนรายงานผลการสำรวจของธนาคารบาร์เคลย์ส ร่วมกับองค์กรการกุศลสเต็ปเชนจ์ พบว่า ชาวอังกฤษที่ใช้บริการ BNPL ราว 31% กำลังประสบปัญหาจากการก่อหนี้เกินความสามารถในการชดใช้หนี้สิน และเสี่ยงที่กลายเป็น “หนี้เสีย”

ก่อนหน้านี้บริการสินเชื่อแบบ “ซื้อก่อน จ่ายที่หลัง” หรือ BNPL เป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมและเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงการแพร่ระบาดรุนแรงของโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้อีคอมเมิร์ซได้รับประโยชน์อย่างมากจากการที่ผู้คนไม่สามารถออกจากบ้านไปช็อปปิ้งได้ และหันมาใช้บริการ BNPL ที่นำเสนอสินเชื่อระยะสั้นในการผ่อนจ่ายซื้อสินค้า โดยไม่มีดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียม ซึ่งผู้ให้บริการ BNPL จะทำเงินผ่านคอมมิชชั่นจากผู้ขายสินค้า

แต่วิกฤตค่าครองชีพสูงในขณะนี้ส่งผลให้ภาคครัวเรือนในอังกฤษ และยุโรป มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเผชิญกับภาวะ “วงจรหนี้ไม่สิ้นสุด” ที่ต้องมีการกู้เงินใหม่เพื่อนำมาชดใช้หนี้สินเก่า และอาจนำมาซึ่งการสูญเสียความสามารถในการชำระหนี้จนกลายเป็น “หนี้เสีย” ในที่สุด

ทั้งความพยายามลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและความเสี่ยงที่จะไม่สามารถชำระหนี้ของผู้บริโภค กลายเป็นแรงกดดันอย่างหนักต่อผู้ให้บริการ BNPL ที่ถูกจับจ้องจากสายตาของนักลงทุนมากขึ้น ถึงความสามารถในการทำกำไรและการดำเนินธุรกิจที่ทำให้กระแสเงินสดหมดไปเรื่อย ๆ

อย่างล่าสุดในกรณีของ “คลาร์นา” (Klarna) สตาร์ตอัพฟินเทคจากสวีเดน ผู้ให้บริการ BNPL รายใหญ่ของยุโรป โดยรอยเตอร์สรายงานว่า คลาร์นาได้รับการประเมินมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการเจรจาระดมทุนรอบใหม่ ซึ่งลดลงอย่างมากจากการประเมินมูลค่า 45,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021

ขณะที่ผู้ให้บริการ BNPL คู่แข่งอย่าง “แอฟเฟิร์ม” (Affirm) ก็มีมูลค่าบริษัทลดลงถึง 80% นับจากเมื่อต้นปี 2022 เป็นภาพสะท้อนให้เห็นการบริโภคของภาคครัวเรือนทั้งในอังกฤษและยุโรปที่อ่อนแอลงจากสถานการณ์ค่าครองชีพที่พุ่งสูง

พร้อมกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เริ่มลดลงในอุตสาหกรรมสินเชื่อขนาดเล็กที่ชะลอความร้อนแรงลงจากปีที่แล้ว และอาจทำให้หลายรายต้องออกจากตลาดการแข่งขันไปในที่สุด