กังวล “เฟด” สกัดเงินเฟ้อแรง ฉุดโลกถดถอย-EIC อัพเศรษฐกิจไทยโตเพิ่ม

เงินเฟ้อ

เศรษฐกิจโลกส่อถดถอย-หวั่นเฟดเอาเงินเฟ้อไม่อยู่ “กอบศักดิ์” ห่วงธนาคารกลางสหรัฐใช้ยาแรง กระทบ “คนตกงาน-บริษัทเจ๊ง” ทั่วโลก ขณะที่ “อีไอซี” เชื่อเฟดขึ้นดอกเบี้ยแค่ 0.50% แต่ขึ้นทุกครั้งในรอบการประชุมที่เหลือของปีนี้ คาด กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในไตรมาส 3 จากนั้นจะพิจารณาตามภาวะเศรษฐกิจ ด้าน “ผู้ว่าการแบงก์ชาติ” ยันขึ้นดอกเบี้ยไม่อิงตามเฟด

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า อีไอซีประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประชุมรอบนี้ ไม่น่าจะปรับดอกเบี้ยถึง 0.75% ตามตลาดคาดการณ์ แต่น่าจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.50% โดยเพิ่มจาก 2 ครั้ง เป็น 3 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยขึ้นไปสูงกว่า 3% ในช่วงปลายปีนี้

อย่างไรก็ดี จากการสำรวจข้อมูลพบว่า ที่ผ่านมา การที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยมา 16 ครั้ง เกิดเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) ถึง 12 ครั้ง ซึ่งอีไอซีได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้ จาก 3.4% เหลือ 3.2% สะท้อนภาพเศรษฐกิจโลกแย่กว่าเดิม และโอกาสจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกมีมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจโลกตึงตัว เป็นวัฏจักรเศรษฐกิจชะลอตัว

โดยประเทศที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยมากสุด จะเป็นยุโรปกับสหรัฐ ส่วนจีนที่มีนโยบายล็อกดาวน์ ซึ่งเป็นความไม่แน่นอน และจีนเป็นผู้บริโภคและผู้ผลิตเจ้าใหญ่ของโลก หากไม่บริโภคและไม่ผลิต ผลกระทบจะลามไปจนเกิดการชะลอตัวและถดถอยได้

ขณะที่เศรษฐกิจไทย อีไอซีได้ปรับประมาณการการเติบโตปีนี้เพิ่มขึ้นจาก 2.7% เป็น 2.9% โดยแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปจะมาจากภาคท่องเที่ยวและภาคบริการ ตามการเปิดประเทศและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงเร่งตัวสูง โดยจะสูงสุด (พีก) ในไตรมาส 3/2565 ที่กว่า 7% และหลังจากนั้นจะทยอยปรับลดลงตามราคาน้ำมันที่ปรับลดลง จากการผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

ดร.สมประวิณกล่าวว่า อีไอซีประมาณการอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีในปีนี้อยู่ที่ 5.9% จากเดิม 4.9% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 24 ปี และจากทิศทางเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับอัตราดอกเบี้ยภายในไตรมาส 3/2565 โดยคาดว่าจะขึ้น 0.25% ต่อปี และหลังจากนั้นจะพิจารณาตามสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้เอื้อให้ไทยขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเหมือนสหรัฐ เพราะตลาดแรงงานไม่เข้มแข็ง และเชื่อว่าไทยยังคงต้องการดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

“การทำนโยบายการเงินค่อนข้างยาก แต่ไม่คิดว่า กนง.จะมีการประชุมนัดพิเศษ ทั้งนี้ การส่งสัญญาณของ ธปท.ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณว่าจะถอนคันเร่ง โดยจะขึ้นก่อน 0.25% และดูสภาวะเงินเฟ้อว่าเป็นอย่างไร”

ดร.สมประวิณกล่าวด้วยว่า อีไอซีประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในไตรมาส 2-3 ในกรอบ 34.50-35.50 บาทต่อดอลลาร์ และไตรมาส 4 เงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้น จากเงินเฟ้อที่พีกและดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเป็นบวกตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะอยู่ที่ 7.4 ล้านคน โดยคาดการณ์กรอบเงินบาท ณ สิ้นปีที่ 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ระบุว่า เฟดอาจจะต้องใช้ยาแรง เพื่อกดให้เงินเฟ้อลงมา คือ ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพื่อกดให้เงินเฟ้อลงมาให้ได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็หมายความว่า คนนับสิบล้านคนจะต้องตกงาน สูญเสียบ้าน มีปัญหาครอบครัว บริษัทหลายแสนแห่งจะต้องปิดกิจการ ไม่นับ emerging markets อีกหลายประเทศที่จะเกิดวิกฤต กระทบคนไปอีกหลายร้อยล้านคนทั่วโลก

“ทั้งหมดมาจาก ‘เฟดที่พลาดแล้วพลาดอีก’ จนนำไปสู่ความเสียหายดังกล่าว มาลุ้นกันครับว่าเฟดจะตัดสินใจอย่างไร ตลาดจะเหวี่ยงแค่ไหน ทั้งหุ้น พันธบัตร ค่าเงินประเทศต่าง ๆ เพราะโค้งนี้คือโค้งสำคัญ ที่เดิมพันคือความเป็นอยู่ของทุกคน” ดร.กอบศักดิ์ระบุ

ด้าน ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทย ควรจะเป็นบริบทของไทย ไม่เกี่ยวกับเฟด ซึ่งการปรับควรเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเงินเฟ้อสหรัฐมาจากอุปสงค์ แต่ของไทยมาจากอุปทาน และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็ช้ากว่า อย่างไรก็ดี การขึ้นดอกเบี้ยของไทยช้าเกินไปก็ไม่ดี