ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังตลาดคาดการณ์เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% พุธนี้

US dollar
(file photo) REUTERS/Mohamed Azakir

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ตลาดคาดการณ์เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% วันพุธนี้ (ตามเวลาสหรัฐ) หลังตัวเลขเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น แม้ว่าก่อนหน้านี้เฟดส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยแค่ 0.50% ก็ตาม

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 14 มิถุนายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/6) ที่ระดับ 34.96/898 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (13/6) ที่ระดับ 34.80/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

หลังนักเศรษฐศาสตร์ขอเจพีมอร์แกนและโกลด์แมน แซกส์ ต่างก็คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันพุธนี้ (15 มิ.ย.) ตามเวลาสหรัฐ หลังจากผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของชาวอเมริกันปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้เฟดสาขานิวยอร์กเปิดเผยผลสำรวจคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคสหรัฐประจำเดือน พ.ค.พบว่า ภาคครัวเรือนสหรัฐคาดว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างจาก 1,300 ครัวเรือนพบว่า ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะสั้นสำหรับช่วง 12 เดือนข้างหน้าปรับตัวขึ้น 0.3% สู่ระดับ 6.6% ส่วนตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะกลางสำหรับช่วง 3 ปีข้างหน้าทรงตัวที่ระดับ 3.9%

หลังจากมีการเปิดเผยผลสำรวจดังกล่าว นายมิเชล เฟโรลี นักเศรษฐศาสตร์ของเจพีมอร์แกน รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซกส์ ต่างก็คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันพุธนี้ แม้ว่าก่อนหน้านี้เฟดได้ส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุมเดือนนี้ก็ตาม

นักวิเคราะห์จากบริษัทอื่น ๆ ต่างก็คาดการณ์เช่นกันว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันนี้ 14-15 มิ.ย.นี้ หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 8.6% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.3%

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักมากกว่า 50% ในการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย. เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ให้น้ำหนักเพียง 5% ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.88-34.99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.96/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (14/6) ที่ระดับ 1.0422/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (13/6) ที่ระดับ 1.0460/62 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ค่าเงินยูโรยังได้รับแรงกดดัน หลังนายฟราน เชสโก เจียวาซซี ที่ปรึกษาเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดที่สุดของนายมาริโอ ดรากี นายกรัฐมนตรีอิตาลีเปิดเผยว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องในการควบคุมเงินเฟ้อ ในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ECB ส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือน ก.ค. และอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในเดือน ก.ย. เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นและขยายวงกว้างขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นอีก

การส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยของ ECB ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ของอิตาลีพุ่งขึ้นแตะ 4% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2557 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0397-1.0483 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0454/56 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/6) ที่ระดับ 133.89/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (13/6) ที่ระดับ 134.59/61 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังนายฮิโรคาซุ มัตสึโนะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเตือนว่า ญี่ปุ่นมีความกังวลเกี่ยวกับค่าเงินเยนที่ร่วงลงอย่างหนักและพร้อมรับมืออย่างเหมาะสมตามความจำเป็น

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 133.88-134.82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 134.21/23 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐ (14/6), ดัชนียอดขายปลีกสหรัฐ (15/6), อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ (15/6) ดัชนีภาคการผลิตฟิลาเดลเฟีย (16/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.70/-1.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.3/0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ