ธปท.อัดซอฟต์โลนแสนล้าน ปล่อยกู้เอสเอ็มอีสู้ดอกเบี้ยขาขึ้น

ธปท.

แบงก์ชาติอัดซอฟต์โลน 1 แสนล้าน ดีเดย์ 1 ก.ย.นี้ ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2 ปีแรก 2% ต่อปี โครงการ “สินเชื่อเพื่อการปรับตัว” ผลักดันธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้พยุงเอสเอ็มอีลงทุนสู้วิกฤต-ดอกเบี้ยขาขึ้น “กสิกรไทย-กรุงเทพ” เร่งสำรวจความต้องการ พร้อมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง KKP ประเมิน กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องถึงปีหน้าสกัดเงินเฟ้อ คาดแบงก์อั้นดอกเบี้ยเต็มที่ได้ 6 สัปดาห์ คลังสั่งแบงก์รัฐตรึงดอกเบี้ย-อุ้มลูกหนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลงมติ 6 ต่อ 1 เสียง ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0.75% หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำประวัติศาสตร์ 0.50% นานกว่า 2 ปี และถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปี โดย กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทำให้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษมีความจำเป็นลดลง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยให้สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ในสาขาธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าและครัวเรือนรายได้น้อยที่มีความอ่อนไหวต่อค่าครองชีพ คณะกรรมการเห็นว่าควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง

ธปท.อัดซอฟต์โลนแสนล้าน

ขณะที่ในวันเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งหนังสือเวียนลงวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ถึงธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) เรื่อง มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 (ฉบับที่ 3) โดยระบุว่า แม้ว่าสถานการณ์ภาพรวมจะคลี่คลายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาตามลำดับ แต่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ธปท.จึงปรับปรุงหลักเกณฑ์ “สินเชื่อฟื้นฟู” โดยเพิ่มประเภท “สินเชื่อเพื่อการปรับตัว” อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีความพร้อมต่อการปรับตัวและส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2565

แหล่งข่าวจากธนาคารกสิกรไทยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า “สินเชื่อเพื่อการปรับตัว” เป็นการนำวงเงินเหลือจากโครงการสินเชื่อฟื้นฟูที่เหลือราว 6 หมื่นล้านบาท และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ อีกราว 5 หมื่นล้านบาท รวมวงเงินคงเหลือกว่า 1 แสนล้านบาท มาดำเนินการ

ดอกเบี้ย 2 ปีแรก 2% ต่อปี

แหล่งข่าวกล่าวว่า เงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการจะเป็นลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องการปรับตัวและปรับธุรกิจ โดยนำเทคโนโลยีหรือดิจิทัลเข้ามาช่วย เช่น การปรับระบบหลังบ้าน ปรับสายการผลิต หรือซื้อเครื่องจักร เป็นต้น โดยวงเงินสินเชื่อแต่ละรายจะต้องไม่เกิน 150 ล้านบาท เมื่อรวมกับวงเงินซอฟต์โลนเดิม เช่น เดิมใช้วงเงินไปแล้ว 80 ล้านบาท จะเหลือวงเงินในส่วนสินเชื่อเพื่อการปรับตัว 70 ล้านบาท เป็นต้น

สำหรับระยะเวลาการชำระหนี้ 5 ปี หรือสอดคล้องกับระยะเวลาที่บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อได้ โดยแต่ละธนาคารอาจขยายเป็น 7-8 ปีได้ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปีแรก ไม่เกิน 5% ซึ่งในช่วง 2 ปีแรกของสัญญา ดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินมีหน้าที่ติดตามการใช้เงินสินเชื่อของผู้ประกอบการให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ไม่ให้นำเงินสินเชื่อมาชำระหนี้เดิมที่มีอยู่กับสถาบันการเงิน โดยสถาบันการเงินต้องนำส่งรูปแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน สำหรับสินเชื่อการปรับตัวให้ ธปท.รับรองก่อนการกู้ยืมเงินสินเชื่อเพื่อการปรับตัว

หนุนแบงก์ช่วยลูกค้าปรับตัว

แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารได้มีการสำรวจความต้องการของลูกค้าที่จะใช้สินเชื่อนี้แล้ว แต่ยังไม่สามารถประเมินว่าจะมีลูกค้าให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการนี้มากน้อยระดับใด

ขณะที่นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ตอนนี้ธนาคารเริ่มคุยกับลูกค้าเพื่อเสนอ “สินเชื่อเพื่อการปรับตัว” มีทั้งที่สนใจ และไม่สนใจ เนื่องจากบางรายปรับตัวไปก่อนแล้ว หรือบางรายก็ไม่พร้อมปรับตัว ซึ่ง ธปท.ต้องการให้ธนาคารช่วยลูกค้าในการปรับตัว และให้องค์ความรู้เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

โดยที่ผ่านมาธนาคารได้เสนอลูกค้า เช่น กลุ่มโรงงาน ที่ใช้พลังงานจำนวนมาก แนะนำให้เปลี่ยนเป็นระบบพลังงานโซลาร์ เพื่อลดค่าใช้จ่าย หรือการเปลี่ยนเครื่องจักรที่มีระบบดิจิทัล กลุ่มโรงแรมการเปลี่ยนตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ หรือโรงพยาบาลนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการพูดคุยกับคนไข้ เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้เป็นการปรับตัวของธุรกิจก็สามารถมาใช้วงเงินดังกล่าวได้ โดยที่ธนาคารจะต้องทำโปรดักต์โปรแกรมของลูกค้าแต่ละรายเสนอ ธปท.เพื่อขอวงเงินสินเชื่อต่อไป

“ธปท.ไม่ได้แค่ต้องการให้ปล่อยสินเชื่อเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้ธนาคารช่วยลูกค้าปรับตัว ให้ความรู้เรื่องการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ การหาตลาดใหม่ ซึ่งธนาคารก็พยามดำเนินการต่อเนื่อง ที่ผ่านมาเราก็ปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลนและสินเชื่อฟื้นฟูค่อนข้างมากกว่า 10% ของวงเงินโครงการที่ปล่อยได้”

ทั้งนี้ ธปท.รายงานความคืบหน้าโครงการสินเชื่อฟื้นฟู ณ วันที่ 1 ส.ค. 2565 อนุมัติไปแล้ว 184,113 ล้านบาท จากจำนวนลูกค้า 54,772 ราย ขณะที่ “พักทรัพย์ พักหนี้” มีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอนแล้ว 50,517 ล้านบาท จำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 367 ราย

แบงก์พาณิชย์ยื้อเวลาขึ้น ดบ.

ด้านนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดแถลงหลังจาก กนง.มีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ 0.75% ว่า ธนาคารพาณิชย์มีนโยบายที่จะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ แต่การปรับขึ้นคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จะสามารถชะลอได้แค่ไหน ต้องรอดูว่าปฏิกิริยาของตลาดเงินว่าการตรึงดอกเบี้ยทั้งสองขาจะมีเงินไหลออกจากเงินฝากหรือไม่ ซึ่งแต่ละธนาคารมีพอร์ตที่แตกต่างกัน บางธนาคารอาจมีความละเอียดอ่อนในเรื่องเงินฝาก ต้นทุนการเงิน

แต่จุดสำคัญคือ การดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนสามารถสร้างสมดุลระหว่างรายรับและรายจ่ายได้ และประคับประคองให้กลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

โดยจำนวนลูกหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือจากผลกระทบโควิด-19 ทั้งมาตรการช่วยเหลือแบบเร่งด่วน และเฉพาะเจาะจง ในเดือน ก.ค. 2563 มีลูกค้าเข้าร่วมมาตรการสูงถึง 6.1 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้รวม 4.2 ล้านล้านบาท หลังสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น ล่าสุด ณ เดือน พ.ค. 2565 ลูกค้าภายใต้มาตรการลดลงเหลือ 1.6 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้เกือบ 2 ล้านล้านบาท

BBL-KBANK นำร่องช่วยลูกหนี้

หลังจากนั้น ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ได้ประกาศช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งการขยายเวลาชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย รวมหนี้ พร้อมขยายวงเงินบัตรเครดิตจาก 1.5 เท่า เป็น 2 เท่าของรายได้

นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ก็ประกาศต่อยอดโครงการรวมใจไม่ทิ้งกัน ออกมาตรการมาช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบางทั้งลูกค้าบุคคล ลูกค้าธุรกิจ ที่มีวงเงินสินเชื่อแต่ละผลิตภัณฑ์ไม่เกิน 2 ล้านบาท และไม่มีสถานะเป็น NPL ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ด้วยมาตรการลดยอดผ่อนชำระต่อเดือน 10% และมาตรการผ่อนชำระขั้นต่ำ 5% สำหรับบัตรเครดิตและบัตรเงินด่วน เป็นระยะเวลา 12 เดือน ซึ่งลูกค้าที่ต้องการเข้าร่วมมาตรการสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ธนาคารได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.-30 ธ.ค. 2565

ผู้ว่าการยันไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยแรง

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ “JKN-CNBC” ถึงประเด็นการปรับดอกเบี้ยของไทยว่า ไม่จำเป็นที่ธนาคารกลางจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงมาก เนื่องจากกว่าที่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาด ก็จะเป็นในช่วงปลายปี

“การปรับขึ้น 0.25% เป็น 0.75% เป็นแนวทางที่ค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากประเทศอยู่ในวัฏจักรเศรษฐกิจที่แตกต่างกันมาก กับประเทศที่มีการเร่งปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นสูง”

ผู้ว่าการ ธปท.ระบุว่า ในขณะที่ประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ก้าวหน้ามากกว่ากำลังดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้นและในอัตราที่เร็วขึ้น แต่วิธีการที่ค่อยเป็นค่อยไปและวัดผลได้ของไทยจะช่วยให้มั่นใจได้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศจะดำเนินต่อไปไม่สะดุด

นอกจากนี้ ดร.เศรษฐพุฒิยังระบุด้วยว่า การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญทางเศรษฐกิจของไทย เศรษฐกิจของประเทศต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ธปท.คาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยราว 8 ล้านคน

ปรับโครงสร้างหนี้รอบสอง

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท. เป็นการยอมรับว่า เศรษฐกิจฟื้นและความเสี่ยงของเงินเฟ้อจริง เพียงแต่มีกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางที่ต้องดูแล ซึ่งภาพการออกมาสื่อสารของ รมว.คลัง ธปท. และสมาคมธนาคารไทย ทำให้มองได้ว่า “แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย แต่ไม่อยากให้ดอกเบี้ยขึ้น”

“ดังนั้นจึงมีคำถามว่า แล้วกระบวนการส่งผ่านของนโยบายการเงินคืออะไร เพราะช่องทางที่สำคัญคือแบงก์ แต่ธนาคารพาณิชย์ก็คงรู้ว่า กลุ่มเปราะบาง ที่เป็นครัวเรือนหรือเอสเอ็มอี ก็คงรับมือดอกเบี้ยขึ้นไม่ไหว ถ้าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยก็คงปรับรายใหญ่ และพยายามไม่ไปแตะรายย่อย เพื่อลดผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง”

ช่วงนี้ก็มีประเด็นว่า อาจมีลูกหนี้ที่อยู่ในมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงิน ซึ่งต้องเริ่มกลับมาชำระปกติ บางส่วนอาจจะยังไม่ไหว ตรงนี้แบงก์ชาติคงต้องเข้าไปดูว่าจะจัดการอย่างไร เพื่อให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ และช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ ว่าจะสามารถปรับโครงสร้างหนี้อีกรอบได้หรือไม่

แบงก์แบกต้นทุน 6 สัปดาห์

ทั้งนี้ จากการส่งสัญญาณของสมาคมธนาคารไทย คาดว่าแบงก์จะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ตระกูล “M” (MLR/ MRR/MOR) แต่น่าจะไปปรับเฉพาะดอกเบี้ยที่คิดจากรายใหญ่แทน ขณะที่บางแบงก์ก็ส่งสัญญาณว่า ถ้า กนง.ขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบ แบงก์ก็คงอั้นไม่ไหวเหมือนกัน

“แบงก์ก็น่าจะตรึงดอกเบี้ยไปได้อีกระยะ จนถึงการประชุม กนง.รอบหน้าในวันที่ 28 ก.ย. ก็ประมาณ 6 สัปดาห์ รอบนั้นก็คงขึ้นอีก 0.25% แล้วแบงก์พาณิชย์ก็คงปรับขึ้นดอกเบี้ย เพราะจริง ๆ แล้วทันทีที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ต้นทุนของแบงก์จะเพิ่มขึ้นทันที เพราะในตลาดการเงินดอกเบี้ยขึ้นไปแล้ว ดังนั้นก็ต้องแบกต้นทุนไป 6 สัปดาห์”

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า หากจะส่งผ่านนโยบายการเงินให้ได้ผล วิธีที่เหมาะสมกว่าการให้แบงก์ตรึงดอกเบี้ยก็คือ การปล่อยให้แบงก์ขึ้นดอกเบี้ยไปตามกลไกตลาด แล้วมีมาตรการเข้าไปช่วยกลุ่มเปราะบางเป็นการเฉพาะจะดีกว่า เพียงแต่ปัญหาจะอยู่ที่การจำแนกกลุ่มเปราะบางที่อาจจะทำได้ไม่หมด

กนง.ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า แนวโน้มการปรับดอกเบี้ยของ กนง.คาดว่าจะปรับขึ้นทุกครั้งในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือของปี คือรอบเดือน ก.ย. และเดือน พ.ย. รวมถึงปีหน้าก็น่าจะยังต้องขึ้นอยู่ เพราะตอนนี้เงินเฟ้ออยู่ที่ 7% และเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 3% ซึ่งตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อต้องลงมาอยู่ที่ 2%

“ถ้าบอกว่าเศรษฐกิจจะอยู่ในภาวะเงินเฟ้อค้างอยู่แถว ๆ 2% คิดว่าแบงก์ชาติคงทยอยขึ้นไปเรื่อย ๆ ครั้งละ 0.25% ไปจนกระทั่งดอกเบี้ยไปใกล้ 2%”

ดร.พิพัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากแบงก์ชาติจะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง แต่มองว่าจะไม่กระทบในแง่การขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ เพราะการขึ้นดอกเบี้ยตอนนี้กว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจจะใช้เวลาถึง 4 ไตรมาส ขณะเดียวกันตอนนี้เศรษฐกิจไทยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการเปิดเมือง การมีนักท่องเที่ยวกลับมาสูงกว่าที่คาดมากกว่า ทำให้ปีนี้เศรษฐกิจโตกว่า 3% ได้สบาย ๆ และสำนักวิจัยต่าง ๆ อาจปรับเพิ่มตัวเลขจีดีพี ส่วนปีหน้าปัจจัยเสี่ยงก็ไม่ได้มาจากดอกเบี้ย แต่มาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก

คลังประชุมแบงก์รัฐอุ้มลูกค้า

ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้เรียกสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ทุกแห่งประชุม เมื่อวันที่ 11 ส.ค. เพื่อหารือมาตรการดูแลประชาชน หลัง กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยนายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า รมว.คลังได้ให้นโยบายแบงก์รัฐออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม อาทิ การไกล่เกลี่ยหนี้ การออกสินเชื่อใหม่ และ การพัฒนาศักยภาพของลูกค้า พร้อมเน้นย้ำให้แต่ละแบงก์ตรึงดอกเบี้ยนานที่สุด