แบงก์ตั้งรับ “หนี้เสีย” รอบใหม่ ดอกเบี้ยขาขึ้น-ทุบซ้ำธุรกิจ

หนี้เสียรอบใหม่

แบงก์เร่งเคลียร์พอร์ตตั้งรับ “หนี้เสีย” ระลอกใหม่ ttb analytics จับตาเอ็นพีแอลพลิก “ขาขึ้น” ปัจจัยเงินเฟ้อ-ต้นทุนพุ่ง-ดอกเบี้ยแพง ทุบซ้ำธุรกิจเอสเอ็มอี กลุ่มเปราะบาง ธปท.อัดมาตรการประคองลูกหนี้ถึงสิ้นปี’66 เผย 2 กลุ่มเสี่ยงตกชั้นเป็นหนี้เสีย แบงก์กรุงเทพเผยลูกหนี้เอสเอ็มอีเหนื่อยหนัก

หนี้เสียพลิก “ขาขึ้น”

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันที่มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูง ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น

โดยจากการศึกษาพบว่า ต้นทุนภาคธุรกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 10% แต่เฉพาะในภาคขนส่งเพิ่มขึ้นถึง 30% จากราคาน้ำมันที่แพง ซึ่งมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ จะส่งผลกระทบให้ “หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้” (เอ็นพีแอล) ในระบบธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มกลับมาเป็นขาขึ้นอีก

“ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นกระทบรายจ่าย ผลกำไรตึงตัวแน่นอน ก็อาจจะกระทบความสามารถในการชำระหนี้ ทั้งธุรกิจเอสเอ็มอี รวมถึงรายย่อย ต้องดูว่าที่มีการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว ลูกหนี้จะผ่อนต่อได้ไหม หรือจะไม่ไหวอีก คิดว่าแนวโน้มเอ็นพีแอลน่าจะกลับมาเป็นขาขึ้นอีก” นายนริศกล่าว

ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วถึงไตรมาสแรกปีนี้ คุณภาพสินเชื่อโดยรวมปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนจากตัวเลขเอ็นพีแอลปรับตัวลดลง จากระดับ 3.2-3.3% ลงมาเหลือ 2.98%

โดยประเภทสินเชื่อที่เอ็นพีแอลลดลงค่อนข้างมากคือ สินเชื่อภาคธุรกิจ ตัวเลขเอ็นพีแอลล่าสุดอยู่ที่ 3% ส่วนสินเชื่อรายย่อยปรับขึ้นเล็กน้อย 2.8% เรียกว่าค่อนข้างทรงตัว ขณะที่หนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) คือค้างชำระไม่เกิน 90 วัน ภาพรวมก็อยู่ที่ราว 6%

ธุรกิจบริการ-ก่อสร้างเสี่ยง

“พูดง่าย ๆ คือหนี้กลุ่มเอ็นพีแอลและกลุ่ม SM รวมกันอยู่ที่ประมาณ 9% ถือที่เป็นหนี้ที่มีความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม ระดับความรุนแรงไม่เท่ากันในแต่ละสินเชื่อ โดยกลุ่มภาคธุรกิจก็มีกลุ่มธุรกิจบริการที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 เอ็นพีแอลสูงขึ้นอยู่ที่ 4.2% และเป็นหนี้จัดชั้นจับตาเป็นพิเศษ 14% รวมแล้วประมาณ 18%

นอกจากนี้ ธุรกิจที่ต้องเฝ้าระวังคือ กลุ่มก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ ที่มีเอ็นพีแอลอยู่ 5.4% และเป็นหนี้ต้องจับตาเป็นพิเศษ 9.5% รวมกันก็เกือบ 15% ที่มีปัญหาเกิดจากการชะลอตัวช่วงโควิด”

นายนริศกล่าวว่า ขณะที่สินเชื่อรายย่อย กลุ่มสินเชื่อบ้าน เอ็นพีแอลปรับลงเหลือ 3.5% และเป็นหนี้ SM 4.7% ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อ เอ็นพีแอลปรับลดลงจาก 1.7% เหลือ 1.47% แต่ที่เป็นหนี้ SM ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 12% สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล เอ็นพีแอลปรับขึ้นเป็น 3.5% และเป็นหนี้ SM 5.3% ด้านสินเชื่อบัตรเครดิต เอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.8% และเป็นหนี้ SM อยู่ที่ 6.9%

แบงก์ตะลุมบอนแก้หนี้

นายนริศกล่าวว่า ในครึ่งปีหลังคงเห็นระบบธนาคารพาณิชย์พยายามปรับโครงสร้างหนี้ และบริหารจัดการเอ็นพีแอลเก่าที่ค้างอยู่ ในหลายรูปแบบทั้งการตัดหนี้สูญ ตัดขายหนี้เสีย และการโอนให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ เนื่องจากคาดว่าแนวโน้มเอ็นพีแอลมีโอกาสจะเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความเสี่ยงมากขึ้น จากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูง

“ขณะที่ระบบแบงก์พยายามจะจัดการหนี้เสียที่ค้างอยู่ในระบบ ดังนั้นมาตรการการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ยังจำเป็น เพื่อประคับประคองลูกหนี้ให้ไปต่อได้ เพียงแต่ต้องระวังเรื่องความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ

“โดยเฉพาะเรื่องเงินเฟ้อสูงขึ้น คือแม้ภาระผ่อนเท่าเดิม แต่เงินเฟ้อเข้ามา รายจ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้ลูกหนี้เหลือเงินมาผ่อนชำระหนี้น้อยลง ตรงนี้เป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตา เพราะภาคธุรกิจก็ต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเอสเอ็มอีก็ต้องดูว่าจะไปไหวไหม เพราะไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนได้” นายนริศกล่าว

สำหรับมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางของทาง ธปท.ก็ถือว่าเป็นการประคับประคองลูกหนี้ต่อ แต่ลดความแรงของมาตรการลง จากที่ใช้ยาแรงในช่วงวิกฤตโควิด ซึ่งก็เหมาะสมตามสถานการณ์

เคแบงก์ตั้งรับหนี้เสียไหลเพิ่ม

นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้สินเชื่อจับตาเป็นพิเศษ (stage 2) หรือ SM เพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มไหลเข้าไปสู่ stage 3 หรือเป็นเอ็นพีแอลมากขึ้น และคาดว่าแนวโน้มในปีนี้และปี 2566 จะมีเอ็นพีแอลไหลเข้าระบบธนาคารอีกจำนวนมาก จึงต้องหาวิธีการจัดการขายออก

ล่าสุดธนาคารได้ร่วมทุนกับกลุ่มบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) (JMT) จัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JK AMC) เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการบริหารหนี้เสียของธนาคาร

“กสิกรไทยมีแผนโอนขายหนี้เอ็นพีแอลให้ JK AMC ในปีนี้ มูลหนี้ 5 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นกลุ่มสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน เป็นหลัก เนื่องจากธนาคารบริหารไม่เก่ง ซึ่งสามารถตามกลับมาได้เพียง 40-57% และใช้เวลาค่อนข้างนาน 7-20 ปี จึงจะสามารถได้เงินกลับมา

“ขณะเดียวกันการขายหนี้ในครั้งนี้จะส่งผลให้เอ็นพีแอลและการตั้งสำรองในอนาคตของธนาคารลดลง ทำให้ธนาคารมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ได้” นายพัชรกล่าว

อุ้มลูกหนี้เปราะบางถึงปี’66

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า ภายใต้แนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่เท่ากัน ธปท.มีความเป็นห่วงกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งอยู่ในกลุ่มสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ธปท.จึงมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อยที่มีความเปราะบาง เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล รวมถึงสินเชื่อบุคคลดิจิทัลพีโลน

ประกอบด้วย 1.การขยายเวลาลดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำอยู่ที่ 5% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2566 ขยับเพิ่มเป็น 8% ปี 2567 โดยให้กลับสู่เกณฑ์ปกติที่ 10% ตั้งแต่ปี 2568 และต่อเวลามาตรการขยายการชำระหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลเป็น 1 ปี จากเกณฑ์ปกติ 6 เดือน ไปจนถึงสิ้นปี 2566 เพื่อช่วยลดภาระและรักษาสภาพคล่องให้ครัวเรือน

พร้อมกับปรับปรุงโปรแกรมการจ่ายหนี้ของโครงการคลินิกแก้หนี้ เพิ่มทางเลือกในการผ่อนชำระเพื่อจูงใจให้ลูกหนี้ที่ยังมีกำลังในการชำระหนี้สามารถจบหนี้ได้เร็วขึ้น และเตรียมการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ในไตรมาส 3 เพิ่มช่องทางให้ลูกหนี้ขอรับความช่วยเหลือ

นอกจากมาตรการเสริมในกลุ่มเปราะบางที่จะทำแล้ว ธปท.ยังคงผลักดันผ่านมาตรการที่ยังมีผลอยู่ ประกอบด้วย การปรับโครงสร้างหนี้เดิม การเติมเงินใหม่ให้กับภาคธุรกิจ ทั้งมาตรการแก้หนี้ระยะยาว ที่ช่วยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนไปจนถึงสิ้นปี 2566

รวมถึงโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ และการเพิ่มสภาพคล่องภายใต้มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อรองรับการฟื้นตัวและการปรับตัวของธุรกิจ ซึ่งจะสามารถใช้เม็ดเงินที่เหลืออยู่ได้จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2566

หนี้เสียเพิ่ม-แบงก์ถกตั้ง AMC

นางสาวสุวรรณีกล่าวว่า ตอนนี้มีธนาคารพาณิชย์และบริษัท บริหารสินทรัพย์ (AMC) เข้ามาอนุญาตจัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ร่วมทุน (JVAMC) เพียง 1 ราย ซึ่ง ธปท.ได้อนุมัติไปแล้ว ขณะที่มีอีกหลายรายเข้ามาหารือในรายละเอียดเงื่อนไข

กลไก JVAMC จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยเสริมการบริหารจัดการเอ็นพีแอล ร่วมกับมาตรการของ ธปท.ในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ยังไม่ฟื้นตัว และได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น

โดยที่ผ่านมา ธปท.ประเมินศักยภาพของ AMC แล้วว่าจะสามารถรองรับเอ็นพีแอลได้ไม่มาก เพราะต้องใช้เงินทุนรับซื้อหนี้ จึงมีแนวทางให้จัดตั้งเป็น JVAMC ร่วมกับแบงก์ เพื่อให้มีสายป่านในการจัดการกับสถานการณ์เอ็นพีแอลที่ทยอยเพิ่มขึ้น

2 กลุ่มเสี่ยงตกชั้นหนี้เสีย

นางสาวสุวรรณีกล่าวเพิ่มเติมว่า จากมาตรการช่วยเหลือของ ธปท.ส่งผลให้เอ็นพีแอลในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ระยะข้างหน้าก็เริ่มเห็นสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ 2 กลุ่มที่มีโอกาสไหลเป็นหนี้เอ็นพีแอล ได้แก่ 1.กลุ่มพักชำระหนี้ ซึ่งธนาคารไม่สามารถติดต่อลูกค้าได้ และ 2.กลุ่มปรับโครงสร้างหนี้หลายครั้ง

อย่างไรก็ตาม ธปท.เชื่อว่ามาตรการที่มีอยู่จะช่วยไม่ให้เกิดหน้าผาเอ็นพีแอล (NPL cliff) เนื่องจาก ธปท.และสถาบันการเงินมีมาตรการช่วยเหลือทั้งก่อนและหลังเป็นเอ็นพีแอล

จากข้อมูลผลประกอบการไตรมาสที่ 1/65 เอ็นพีแอลของระบบสถาบันการเงินขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่ง ธปท.ได้เข้าดูเป็นรายธนาคารเพื่อสำรวจว่าเป็นลูกหนี้กลุ่มไหน และมีมาตรการอะไรมารองรับ ซึ่งพบว่าเอ็นพีแอลในกลุ่มลูกหนี้รายย่อยไม่สูง โดยเอ็นพีแอลไตรมาสแรกอยู่ที่ 2.78% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 สูงถึง 3.23% ขณะที่หนี้จับตาเป็นพิเศษ (SM) ไม่ได้ขยับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 6-7%

ดอกเบี้ยขาขึ้นสะเทือนลูกหนี้ชักดาบ

นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางเอ็นพีแอลปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการที่สูงขึ้น และแนวโน้มดอกเบี้ยที่สูงขึ้น แต่รายได้เท่าเดิม จะกระทบต่อกำลังการบริโภคและการชำระหนี้ของประชาชน

เช่นเดียวกับธุรกิจที่กำลังจะฟื้นตัว เมื่อมาเจอดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ภาระการผ่อน และต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้น กลุ่มนี้อาจจะไหลเป็นเอ็นพีแอลเข้าธนาคารใหม่

ล่าสุดบริษัทได้ประมูลทรัพย์หนี้เอสเอ็มอีและรายย่อย จากธนาคารกรุงศรีอยุธยาในวงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่โดยภาพรวมยอมรับว่าในครึ่งปีแรกน้อยกว่าปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถาบันการเงินดึงทรัพย์กลับ เพราะไม่ได้ราคาที่ต้องการ

“ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น เงินเฟ้อเร่งตัวสูง ทุกคนได้รับผลกระทบหมด เมื่อเงินน้อยลงก็ไม่มีจ่ายหนี้ ก็อาจจะมีการชักดาบเกิดขึ้นได้ ธุรกิจจะฟื้น ๆ มาเจอดอกเบี้ยแพงทรุดลงไปอีกแน่นอน”

แบงก์ขุดหนี้เสียค้างเก่าโละขาย

นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มหนี้เอ็นพีแอลในไตรมาสที่ 2 ยังมีสัญญาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากลูกหนี้ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวหลังโควิด-19 คลี่คลาย

แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวจากภาวะสงคราม เงินเฟ้อสูง และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งหากสถานการณ์ลากยาวจะกระทบกลุ่ม K shaped ขาล่าง โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อจับตาเป็นพิเศษ (SM) ที่อาจไหลมาเป็นหนี้เอ็นพีแอล เพราะเป็นกลุ่มเปราะบางอยู่แล้ว ทำให้ในระบบจะมีซัพพลายเอ็นพีแอลเข้ามาอีก

สำหรับ SAM ภาพรวมในครึ่งปีแรกได้เข้าร่วมประมูลหนี้มูลค่ากว่า 4-5 หมื่นล้านบาท และจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่าง ๆ คาดว่าในครึ่งหลังสถาบันการเงินจะมีการนำทรัพย์ออกมาขายอีกไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี ทรัพย์ที่สถาบันการเงินเทขายออกมาพบว่า ส่วนหนึ่งเป็นทรัพย์ลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นหนี้เสียมานานมากแล้ว มีการนำออกมาโละขายมากขึ้น เช่น กลุ่มโรงงาน นอกจากทรัพย์ธุรกิจเอสเอ็มอีและสินเชื่อบ้าน ซึ่งหลังจากนี้คงเห็นการระบายทรัพย์ออกมาต่อเนื่อง

BBL อัดสภาพคล่อง-ยืดหนี้

นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ยอมรับว่าลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ค่อนข้างเหนื่อย เนื่องจากเจอปัญหาต้นทุนสินค้าสูงขึ้น และดอกเบี้ยที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น ภายใต้ตลาดที่กำลังซื้อหดตัวลงจากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นเต็มที่ ทำให้ลูกค้าที่มีหนี้อยู่เดิมแย่ลง ส่วนรายที่ไม่กระทบจากโควิด-19 ก็เริ่มทยอยมีผลกระทบแล้ว

ดังนั้น วิธีการบริหารจัดการช่วยเหลือลูกค้าก่อนจะตกชั้นเป็นหนี้เอ็นพีแอล โดยช่วยเสริมสภาพคล่องผ่านวงเงินสินเชื่อหมุนเวียน (O/D) เช่น เดิมใช้ 100 บาท อาจจะไม่เพียงพอ เพราะต้นทุนสินค้าแพงขึ้น หรือกลุ่มธุรกิจโรงแรม

ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาบ้าง แต่รายที่ยังไม่ฟื้นตัว ธนาคารจะปรับขยายเวลาการผ่อนชำระหนี้ให้ตามความสามารถและกระแสเงินสด หรือการปรับลดดอกเบี้ยจะมีการพิจารณาเป็นรายกรณี

“ธุรกิจตอนนี้ไม่ง่าย และแบงก์เองก็ไม่ง่าย แต่ต้องช่วยเหลือกันไป โดยพิจารณาตามอาการ หากต้องการสภาพคล่อง เราก็พิจารณา O/D ให้ หรือไม่ไหวก็ปรับโครงสร้างหนี้กันไป”