KBank-JMT ลงขันหมื่นล้าน ตั้ง JK AMC รับซื้อหนี้เสีย 3 ปี แสนล้าน

KBank-JMT ลงขันหมื่นล้าน ตั้ง JK AMC

ธนาคารกสิกรไทย ผนึก เจเอ็มที จัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JK AMC) ทุนจดทะเบียน 1 หมื่นล้านบาท หวังรับซื้อหนี้เสียทะลักเข้าระบบจากพิษโควิด พร้อมตั้งเป้าปีแรกซื้อ 3 หมื่นล้านบาท ปี’68 เพิ่มเป็น 1 แสนล้านบาท ดันเป็นผู้นำอันดับ 1 ธุรกิจบริหารสินทรัพย์

วันที่ 29 มิถุนายน 2565 นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้สินเชื่อจับตาเป็นพิเศษ (Stage 2) หรือ SM เพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มไหลเข้าไปสู่ Stage 3 หรือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มากขึ้น และคาดว่าแนวโน้มในปีนี้และปี 2566 จะมีเอ็นพีแอลไหลเข้าระบบธนาคารอีกจำนวนมาก จึงต้องหาวิธีการจัดการขายออกด้วย

ทั้งนี้ วิธีการบริหารจัดการเอ็นพีแอลจะมีด้วยกัน 3 วิธี คือ 1.ธนาคารทำเอง เช่น ปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ย เป็นต้น 2.ตัดขายให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) และ 3.ตั้งบริษัทร่วมทุนบริหาร จึงเป็นที่มาของการร่วมลงทุนกับกลุ่มบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) (JMT) จัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JK AMC) ขึ้นมา ซึ่งเป็นอีกทางเลือกในการบริหารหนี้เสียของธนาคารเพิ่มเติม

พัชร สมะลาภา
พัชร สมะลาภา

สำหรับการขายหนี้เสียให้ JK AMC นอกจากธนาคารจะได้รับเงินจากการขายหนี้แล้ว ธนาคารจะได้รับส่วนแบ่งจากผลกำไรของการบริหารหนี้จาก JK AMC ด้วย ในฐานะผู้ถือหุ้น JK AMC ในสัดส่วน 50% ซึ่งธนาคารลงทุนผ่านบริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด (KVISION)

ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยมีแผนโอนขายหนี้เอ็นพีแอล ให้ JK AMC ในปีนี้จำนวน 5 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน เป็นหลัก เนื่องจากธนาคารบริหารไม่เก่ง ซึ่งสามารถตามกลับมาได้เพียง 40-57% และใช้เวลาค่อนข้างนาน 7-20 ปีจึงจะสามารถได้เงินกลับมา ขณะดียวกัน การขายหนี้ในครั้งนี้ จะส่งผลให้เอ็นพีแอลและการตั้งสำรองในอนาคตของธนาคารลดลง ทำให้ธนาคารมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ได้

“เราเริ่มมองว่าหนี้ที่มีอยู่ของธนาคารหากสามารถเอามาบริหารจัดการได้ เราก็จะมีเงินมาปล่อยสินเชื่อต่อ เพราะถ้าปล่อยไว้นานเราไม่สามารถเอาเงินไปทำอะไรได้ และเราไม่รู้ว่าหนี้เสียขาเข้าใหม่จะเยอะเท่าไร หากมาเยอะเราก็ต้องขายให้เร็ว ซึ่งเรามองว่าปีนี้และปีหน้าน่าจะมีหนี้ไหลเข้ามาแน่ เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ธุรกิจอยู่ไม่รอด เราจึงพยายามขายให้ JK มากที่สุด”

นายปิยะ พงษ์อัชฌา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เจ มาร์ท และกรรมการ บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส กล่าวว่า เศรษฐกิจที่การฟื้นตัวยังคงมีความเปราะบาง ทำให้สถานการณ์หนี้ด้อยคุณภาพมีโอกาสเพิ่มขึ้น จะเห็นว่าแนวโน้มหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาปัจจุบันอยู่ที่ 14.3 ล้านล้านบาท หรือสัดส่วนประมาณ 90% ของจีดีพี

ดังนั้น การจัดตั้ง JK AMC โดยถือหุ้นในสัดส่วนเท่ากันอยู่ที่ 50% ระหว่างธนาคารกสิกรไทยและ JMT เพื่อมาดูแลปัญหาหนี้เอ็นพีแอล ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ที่ส่งเสริมการร่วมมือกันระหว่างสถาบันการเงินและบริษัท AMC มาเป็นเครื่องมือในการดูแลหนี้เสีย และให้ประชาชนสามารถกลับมาเป็นลูกค้าปกติได้

“ภายหลังความร่วมมือในแง่ในเชิงการเติบโตโดยปกติของ JMT จะมีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิอยู่ที่ 30% แต่ภายหลังจากร่วมมือครั้งนี้ จะเพิ่มการเติบโตแบบ J Curve จะต้องเติบโตไม่ต่ำกว่า 50% และพอร์ตรับซื้อหนี้เริ่มแรกเริ่ม 3 หมื่นล้านบาท และภายใน 2-3 ปีจะเพิ่มเป็น 1 แสนล้านบาท และเชื่อว่าจุดแข็งที่เรามีอยู่ จะช่วยลดต้นทุนในการทำงาน และยังช่วยเพิ่มโอกาสให้ลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือผ่านข้อเสนอการชำระหนี้ที่เหมาะสม เมื่อปรับตัวดีขึ้นก็จะสามารถกลับมาขอสินเชื่อในระบบต่อไป และสามารถไปถึงเป้าหมาย โดยภายในปี 68 จะขึ้นเป็นอันดับ 1 ของ AMC จากปริมาณการลงทุน”

นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า JK AMC มีเงินทุนเริ่มต้นในการจัดตั้งบริษัทจำนวน 10,000 ล้านบาท โดยมีความสามารถรับซื้อหนี้มาบริหารจัดการได้ราว 3 เท่า หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และเบื้องต้นในเดือน มิ.ย.นี้ จะเริ่มโอนซื้อหนี้เสียทั้งที่มีหลักประกัน (Secure) และไม่มีหลักประกัน (Unsecure) จากธนาคารกสิกรไทยได้ 3 หมื่นล้านบาท รวมถึงสถาบันการเงิน หรือบริษัทอื่นๆ มาบริหารจัดการ และวางแผนภายใน 3 ปี ตั้งเป้ารับซื้อหนี้อยู่ 1 แสนล้านบาท โดยสามารถก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ของธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้

สำหรับกลยุทธ์ที่จะทำให้ JK สามารถไปถึงเป้าหมายทางธุรกิจได้คือ 1.ความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารหนี้ของ JMT และ JMT ยังมีบริษัทในกลุ่มที่จะช่วยให้ JK AMC มีต้นทุนที่แข่งขันได้ 2.การใช้ช่องทางต่าง ๆ ของธนาคารช่วยประชาสัมพันธ์ทรัพย์ NPA ไปสู่ลูกค้าที่สนใจ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงผู้ซื้อทรัพย์ NPA ทั่วประเทศ และ 3.โอกาสเพิ่มมูลค่าธุรกิจอื่นๆ ให้ครบวงจร เช่น การรับปรับปรุงบ้านให้กับผู้ซื้อทรัพย์ด้อยคุณภาพ และราคาที่สมเหตุสมผล การช่วยเหลือลูกค้าที่มีประวัติเครดิตที่ดี เป็นต้น โดยบริษัท JK AMC ได้ถูกจัดตั้งอย่างเป็นทางการ


“การรับซื้อหนี้เราจะใช้ราคามาตรฐาน ไม่สูงหรือต่ำเกินไป และ JK มีเป้าหมายรับซื้อจากสถาบันการเงินอื่น โดยเราประเมินแนวโน้มหนี้เสีย แม้ว่าจะทรงตัวในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา โดยสินเชื่อรายย่อยทรงตัวอยู่ที่ 2.9% แต่ไตรมาสที่ 3 เริ่มทยอยปรับขึ้น และตัวที่เห็นชัดจะเป็นกลุ่ม Stage 2 ที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 7% คาดว่าจะทยอยไหลเข้ามาในปีนี้และปีหน้า”