เครดิตบูโรหวั่น ปี 2566 ปล่อยกู้บ้านยากขึ้น

ปี 2566 หวั่นกู้บ้านยากขึ้น

เครดิตบูโรเปิดข้อมูลหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับอันตราย สินเชื่อที่อยู่อาศัยเริ่มมีปัญหาค้างชำระ 1-4 งวด หวั่นปี 2566 คนที่จะได้รับอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะยากขึ้น 

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) หรือเครดิตบูโร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ประเด็นตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 14.7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 88% ของจีดีพี (16.7 ล้านล้านบาท) แม้ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนได้ผ่านจุดเลวร้ายระดับ 90% ของจีดีพี แต่ระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 80% ของจีดีพี ยังคงถือว่าอยู่ในระดับอันตราย

ซึ่งสอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องการให้หนี้ครัวเรือนลงมาอยู่ในระดับ 70% ของจีดีพี แต่อาจจะต้องใช้เวลา 7-10 ปี ในการแก้ปัญหา เนื่องจากหนี้ครัวเรือนจะลดลงได้ ประเด็นสำคัญคือเศรษฐกิจต้องขยายตัวเร็ว และหนี้จะต้องโตช้ากว่า

นายสุรพลยังกล่าวถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ซึ่งปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 2.7 แสนสัญญา (หลัง) ซึ่งจากมาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ของ ธปท.ที่กำลังจะครบอายุในไตรมาสที่ 4 นี้ ทำให้จะเห็นการเร่งกู้และเร่งปล่อยสินเชื่อ โดยคาดว่าภายในปี 2565 จะมียอดการปล่อยสินเชื่อทั้งสิ้นราว 3.2 แสนสัญญา (หลัง) ซึ่งกลุ่มคนที่จะได้รับสินเชื่อจะอยู่ในกลุ่ม Gen Y วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็นคอนโดมิเนียม

โดยปัจจุบันสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีหนี้เสียราว 4% และมีหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษอีก 2% ซึ่งสิ่งที่ NCB กังวลคือสินเชื่อที่อยู่อาศัย บัญชีที่เริ่มมีปัญหาค้างชำระ 1-4 งวด ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Gen Y ที่ตอนนี้มีสัญญาที่เป็นหนี้เสียแล้ว 1.2 แสนสัญญา (หลัง) ซึ่งมองไปข้างหน้าในปี 2566 คนที่จะได้รับอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะยากขึ้น ซึ่งจะต้องเป็นกลุ่มที่มีรายได้ 5 หมื่นบาทต่อเดือน