แบงก์เพิ่มดีกรีปล่อยกู้ “สีเขียว” ค่าไฟฟ้าแพงปลุกธุรกิจลงทุนโซลาร์รูฟ

ปล่อยกู้

แบงก์เดินหน้าปล่อยกู้หนุน “ธุรกิจสีเขียว” จัดโปรแกรมสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษซัพพอร์ตเต็มที่ “กสิกรไทย” ตั้งเป้าปี’66 ปล่อยกู้ 5 หมื่นล้านบาท ชี้เทรนด์ค่าไฟฟ้าแพง ปลุกธุรกิจตื่นตัวเร่งติดตั้งโซลาร์รูฟ “ทีทีบี” ลุยตีกรอบ “ธุรกิจต้องห้าม” เลิกให้สินเชื่อ ขณะที่ “แบงก์กรุงเทพ” เผยเอสเอ็มอีหลายกลุ่มสนใจปรับธุรกิจ ฟาก “แบงก์กรุงศรี” ตั้งแท่นปล่อยกู้ ESG 1 แสนล้านบาท ภายในปี 2573

นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในปี 2566 ธนาคารตั้งเป้าหมายสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการปรับพอร์ตธุรกิจสู่เศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้น วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท จากปีนี้ 2.5 หมื่นล้านบาท โดยจะขยายเพิ่มอีก 2 กลุ่มธุรกิจ จากปีนี้ที่โฟกัส 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และกลุ่มเหมืองถ่านหิน

กฤษณ์ จิตต์แจ้ง
กฤษณ์ จิตต์แจ้ง

“ธนาคารจะมีการวางแผนไกด์ไลน์ และเข้าไปพูดคุยกับลูกค้าในการปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน พร้อมกับข้อเสนอพิเศษแรงจูงใจ (incentive) ผ่านแคมเปญ และอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อให้ลูกค้ามีความสนใจในการเปลี่ยนผ่าน” นายกฤษณ์กล่าว

ด้านนายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มความต้องการสินเชื่อเพื่อปรับตัวไปสู่ธุรกิจสีเขียวเพิ่มมากขึ้น และคาดว่าในอนาคตจะทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไปตามทิศทางตลาดโลก ที่หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยธนาคารได้ทยอยพูดคุยกับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

“สำหรับลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี แม้ว่าปัจจุบันการปล่อยสินเชื่อสีเขียวจำนวนยังไม่มาก เนื่องจากผู้ประกอบการอยู่ระหว่างการประคองตัวจากผลกระทบโควิด-19 จึงต้องการสภาพคล่องและหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจก่อนจะมีการปรับเปลี่ยนเป็นธุรกิจสีเขียว

แต่เริ่มเห็นสัญญาณลูกค้าให้ความสนใจ ปรับเปลี่ยนหลังคา หรือการติดตั้งโซลาร์รูฟเพื่อประหยัดค่าไฟฟ้า ซึ่งแนวโน้มในปี 2566 ค่าใช้จ่ายทางด้านไฟฟ้าจะเพิ่มสูงขึ้นตามการปรับค่าไฟที่เพิ่มขึ้น 6-7 บาทต่อหน่วย ทำให้ผู้ประกอบการจะหันมาสนใจมากขึ้น” นายชัยยศกล่าว

นายชัยยศ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ มาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมาปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่สีเขียวมากขึ้น นอกจากสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ชอฟต์โลน) ในส่วนของสินเชื่อเพื่อการปรับตัวของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำ 2% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 150 ล้านบาท

ธนาคารกสิกรไทยก็มีการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงให้ลูกค้ากลุ่มนี้ เช่น คิดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) เฉลี่ยอยู่ที่ 3-4% ต่อปี หรือหากลูกค้ามีความเสี่ยงเพิ่มจะคิดอัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ยสูงกว่า 4% ต่อปี หรือหากเป็นลูกค้ารายย่อยที่ติดตั้งโซลาร์รูฟบนหลังคาบ้านจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงเฉลี่ย 0.25% ต่อปี เป็นต้น

นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) กล่าวว่า ในปี 2565 ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อสีเขียวไปแล้วมูลค่ารวมมากกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนธุรกิจหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน

หรือการป้องกันมลพิษและจัดการของเสีย โดยสนับสนุนสินเชื่อทั้งลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และเอสเอ็มอี เช่น การจัดทำโปรแกรมสินเชื่อสำหรับการติดตั้งโซลาร์รูฟ ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ และกู้ได้ 100% ของมูลค่าโครงการ

โดยมีลูกค้าจำนวนมากที่สนใจจะเข้าร่วมในโปรแกรมนี้ และยังมีการสนับสนุนสินเชื่อสีเขียวภายใต้แนวคิด sustainable banking ในหลากหลายอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น สถานพยาบาล, เคมี, พลังงาน และ ขนส่ง เป็นต้น

ศรัณย์ ภู่พัฒน์
ศรัณย์ ภู่พัฒน์

นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อต้องห้ามที่ธนาคารไม่สนับสนุน ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสินเชื่อที่มีผลกระทบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ สินเชื่อกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำและการสำรวจเหมืองถ่านหิน สินเชื่อโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน สินเชื่อธุรกิจทรายน้ำมัน เป็นต้น

“ธนาคารเป็นสถาบันการเงินที่ช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจมุ่งไปสู่ความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด financial well-being ผ่านผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย โดยทีทีบีเป็นธนาคารแรกของไทยที่ออก green bond และ blue bond และยังมีสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนด้วยดอกเบี้ยพิเศษ”

นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารได้พูดคุยกับลูกค้าเอสเอ็มอี ในเรื่องการเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่ธุรกิจสีเขียวมากขึ้น ภายใต้การสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว (green financing) ที่มีอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ถูกกว่าสินเชื่อปกติทั่วไป รวมถึงเสนอผ่านสินเชื่อเพื่อการปรับตัวของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อัตราดอกเบี้ยต่ำ 2% ต่อปี ให้วงเงินกู้สูงสุด 150 ล้านบาท

โดยเห็นแนวโน้มความต้องการสินเชื่อสีเขียวมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งคาดว่าจะเห็นการปล่อยสินเชื่อชัดเจนขึ้นในปี 2566-2567

“ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีเริ่มให้ความสนใจในการติดตั้งโซลาร์รูฟบนหลังคาโรงงาน การเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อประหยัดพลังงาน รวมถึงมีอีกหลายองค์กรให้ความสนใจ เช่น ปั๊มน้ำมัน ซึ่งช่วยเรื่องต้นทุนที่ปรับลดลง และสามารถคืนทุนได้ภายใน 4-5 ปี” นายศิริเดชกล่าว

นางสาวดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SMEs ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารให้ความสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน และมุ่งให้ความรู้เรื่อง ESG (environmental, social, governance) กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

โดยธนาคารมีการกำหนดเป้าหมายการสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืนอยู่ที่ 50,000-100,000 ล้านบาท ภายในปี 2573

นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสนับสนุนทางด้าน green financing ทั้งในส่วนของสินเชื่อโซลาร์รูฟท็อป และสินเชื่อเพื่อการปรับตัว