บิ๊กตลาดทุนรุมค้านภาษีขายหุ้น หวั่นถอยหลัง 20 ปี ทำลายโอกาสลงทุน

3คน

ประเด็นร้อน ๆ เขย่าวงการตลาดทุนไทย ก่อนสิ้นปี และน่าจะร้อนต่อเนื่องไปถึงปี 2566 ก็คือ การที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้กระทรวงการคลังเดินหน้าจัดเก็บภาษีขายหุ้น (financial transaction tax : FTT) ที่ถูกยกเว้นมานานกว่า 30 ปี ด้วยเหตุผลเพื่อการพัฒนาตลาดทุน

มาถึงปัจจุบันนี้ ถูกมองว่าหมดความจำเป็นตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว และควรถูกเก็บภาษีอย่างเท่าเทียมกับผู้เสียภาษีอื่น ๆ แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ถึงความเหมาะสมกับช่วงเวลาที่จะเริ่มจัดเก็บ ล่าสุด สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) จัดเสวนาพิเศษ “ภาษีขายหุ้น…คุ้มหรือไม่” เพื่อสะท้อนมุมมองจากภาคตลาดทุนไปยังผู้มีอำนาจอีกครั้ง

IAA หวั่นตลาดหุ้นไทยถอยหลัง 20 ปี

โดย “ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) กล่าวว่า การเก็บภาษีขายหุ้น กระทบโดยตรงกับผู้ลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่มีสัดส่วนการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยเกิน 50% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ส่งคำสั่งซื้อขายด้วยความถี่สูง (high frequency trading : HFT) อาจหายไปเกือบ 80-90% ได้ ด้วยต้นทุนที่จะสูงขึ้นกว่า 200% หรือจากเดิมที่จ่ายค่าธรรมเนียมในการซื้อขายอยู่ประมาณ 0.03% จะเพิ่มเป็น 0.85%

“เราได้สำรวจ พูดคุยกับนักลงทุนกลุ่มนี้แล้ว พบว่าเกือบทั้งหมดยืนยันว่า คงรับไม่ไหวกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งปัญหาที่เราเป็นกังวลมาก คือเวลาที่สภาพคล่องหดไปแล้ว จะสร้างกลับคืนมายากมาก โดยเชื่อว่าจะกดดันสภาพคล่องในตลาดหุ้นไทยหดตัวเหลือแค่ 2-3 หมื่นล้านบาทต่อวัน จากปัจจุบันมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยอยู่ประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาทต่อวัน ถือเป็นการผลักตลาดหุ้นไทยถอยหลังกลับไปเมื่อสมัย 20 ปีที่แล้ว และยังส่งผลให้บริษัทใหญ่ไม่เข้ามาระดมทุน โดยหันไปจดทะเบียนในต่างประเทศแทน โดยเฉพาะคู่แข่งสำคัญอย่างตลาดหุ้นสิงคโปร์ เพราะเรื่องภาษีในตลาดทุนจูงใจกว่า”

“ไพบูลย์” กล่าวอีกว่า รัฐบาลคิดแค่จะเก็บเงินเข้ารัฐ แต่ลืมคิดถึงภาพใหญ่ในด้านความจำเป็นที่ต้องพัฒนาตลาดทุนไทยอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากตลาดหุ้นไทยยังไม่ไปถึงจุดสูงสุด ปัจจุบันมีแค่กว่า 800 บริษัทจดทะเบียนเท่านั้น ทั้งนี้ การที่ยิ่งมีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่ประเทศชาติจะได้ คือเรื่องความโปร่งใส และการจ่ายภาษีให้รัฐได้มากขึ้น

“เมื่อปี 2564 บจ.ไทยกว่า 800 บริษัท จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลกว่า 2 แสนล้านบาท จากจำนวน 2 ล้านนิติบุคคลของทั้งประเทศที่รัฐจัดเก็บภาษีได้แค่กว่า 7 แสนล้านบาท นอกจากนี้ นักลงทุนไทยยังจ่ายภาษีเงินปันผลอีกกว่า 60,000 ล้านบาท และเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อีก 7% ฉะนั้น นี่คือกลไกตลาดทุนที่รัฐบาลมองข้าม”

นายกสมาคม IAA กล่าวด้วยว่า ไม่เชื่อว่า รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละกว่า 16,000 ล้านบาท โดยตัวเลขดังกล่าวน่าจะคำนวณจากช่วงโควิดที่สภาพคล่องสูงมาก เทรดกันวันละ 1 แสนล้านบาท ซึ่งต่างจากปี 2565 ที่สภาพคล่องหายไปกว่า 50% จึงอยากแนะนำให้ผู้ที่คำนวณตัวเลขรายได้ไปคิดใหม่ ด้วยตัวเลขฐานของปีนี้แทน รวมไปถึงต้องคิดด้วยว่า

ถ้านักลงทุนต่างชาติหายไปแล้ว วอลุ่มเทรดจะลดลงไปอีกแค่ไหนด้วย ไม่เช่นนั้นจะเหมือนกับการเอาปืนมายิงเท้าตัวเอง

“ดร.นิเวศน์” ชี้เสี่ยงเสียโอกาสพัฒนาตลาด

ขณะที่ “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” นักลงทุนรายใหญ่ ต้นแบบนักลงทุนเน้นคุณค่า (VI) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยถือเป็นดารา เพราะหลายประเทศอิจฉา เนื่องจากมีสภาพคล่องสูง มีข้อได้เปรียบเรื่องภาษี มีบริษัทจดทะเบียนที่เข้มแข็ง จึงเป็นที่น่าสนใจลงทุน ทำให้มีโฟลว์ต่างชาติไหลเข้ามาซื้อหุ้นไทยค่อนข้างมาก ฉะนั้น การที่รัฐจัดเก็บภาษีขายหุ้น ถือเป็นความเสี่ยงใหญ่ แม้จะยังไม่รู้ว่าจะมีผลกระทบมากเท่าไร แต่ถ้าจัดเก็บแล้วมูลค่าการซื้อขายลดลงไป เมื่อมีบริษัทที่ต้องการเข้าเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ในมูลค่าสูง ๆ หลายหมื่นล้านบาท เพื่อลงทุนโครงการในอนาคต ก็อาจมีปัญหาการระดมทุนได้ เพราะไม่มีสภาพคล่องรองรับ ขณะที่ตลาดทุนในโลกยุคใหม่ก็เปิดเสรี ทำให้บริษัทต่าง ๆ สามารถเลือกออกไประดมทุนในต่างประเทศได้

“รัฐบาลควรใช้ตลาดทุนเป็นหัวหอกในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้บริษัทเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการสร้างการเติบโตและเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุด และในอนาคตก็ควรนำรัฐวิสาหกิจที่ยังไม่เข้าตลาดหุ้นเข้ามาไอพีโอ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตเร็วขึ้นด้วย และในเมื่อเรามีของดีอยู่กับตัวแล้วจะไปเสี่ยงทำให้ตลาดเงียบเหงาทำไม ซึ่งช่วงที่ตลาดเหงา ๆ บริษัทดี ๆ เขาก็ไม่ค่อยเข้ามาไอพีโอ เราจะเสียโอกาสตรงนี้ไป”

TDRI อัดปิดโอกาสคนรุ่นใหม่ลงทุน

“ดร.นณริฏ พิศลยบุตร” นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีขายหุ้นมีผลเสียมากกว่าผลดี เนื่องจากเป็นการดึงเงินออกจากตลาดทุน ซึ่งตามประมาณการปีละ 16,000 ล้านบาท ถือเป็นเม็ดเงินที่ค่อนข้างสูง แต่ก็คาดว่าภาษีขายหุ้นที่ภาครัฐจะจัดเก็บคงทำได้แค่ 8,000-10,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งน้อยกว่าที่รัฐบาลประเมินไว้ เนื่องจากตัวเลขที่รัฐบาลประเมินเป็นตัวเลขของฐานปีที่แล้ว ซึ่งแตกต่างจากปีนี้ที่ปริมาณการซื้อขายในตลาดที่ปรับตัวลดลง

“เสนอหากรัฐต้องการหารายได้เพิ่มจริง ควรไปเก็บภาษีประเภทอื่นแทน เช่น ภาษีที่ดิน เพราะเป็นภาษีที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมาก โดยจะเห็นได้จากมีประชากรเพียง 5% ที่ถือครองที่ดินในประเทศเป็นสัดส่วนสูงถึง 80% ของประเทศ ส่วนอีก 75% ของประชากรในประเทศไม่มีที่ทำกิน โดยตลาดทุนไม่ได้เป็นตลาดของคนรวยเสมอไป แต่เป็นช่องทางแห่งโอกาส

ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ต้องการไขว่คว้าหาความสำเร็จ อยากที่จะมีเสถียรภาพทางการเงิน แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ตลาดทุนถือว่าเป็นเส้นทางหนึ่งที่จะพัฒนาฐานะให้ขึ้นไปได้ เพราะฉะนั้นหากไม่อยากที่จะปิดโอกาสของเด็กรุ่นใหม่ ก็ไม่ควรที่จะดึงเงินออกจากตลาดทุน”

“กอบศักดิ์” นำทีมค้านต่อก่อนบังคับใช้

“ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีขายหุ้น จะเป็นการทำลายโอกาสของตัวเอง เพราะทำให้เสน่ห์ด้านสภาพคล่องในการซื้อขายลดลงจากเดิมอย่างน่าใจหาย ซึ่งทาง FETCO เอง ก็คงทยอยนำข้อมูลต่าง ๆ ออกมาสู่สาธารณชนมากขึ้น เพื่อเรียกร้องคัดค้านเรื่องนี้เรื่อย ๆ ในระหว่างที่ยังไม่มีการบังคับใช้ เพราะอยากให้รัฐคำนึงถึงประโยชน์โดยรวมของประเทศ

“ปี 2566 ถือว่ายังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมในการเก็บภาษีขายหุ้น เพราะเป็นปีที่ภาพรวมเศรษฐกิจจะมีความผันผวนสูง โดยสิ่งที่ต้องทำคือทำให้ประเทศไทยมีความแข็งแรงมากที่สุดมากกว่า ซึ่งจากนี้ เราจะหารือร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสะท้อนมุมมองให้รัฐบาลเห็นอย่างชัดเจน เพื่อนำปัจจัยและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเสนอให้รัฐ ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลสามารถตัดสินใจหรือเปลี่ยนแปลงได้ตลอดว่าจะเลื่อนการเก็บภาษีขายหุ้นหรือไม่ เพื่อความเหมาะสม ซึ่งอยากให้เลือกว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทยและตลาดทุนไทย”

ทั้งหมดนี้ เป็นความเห็นจากบรรดาผู้มีบทบาทสูงในตลาดทุน ซึ่งส่งเสียงดัง ๆ ถึงรัฐบาลมาโดยตลอด