หุ้นไทยปี’65 เคยวิ่งแตะจุดสูงสุด 1,713.20 จุด เปิดโผ 20 ท็อปมาร์เก็ตแคป

ตลาดหุ้นไทย

ภาพรวมตลาดหุ้นไทย ปี 2565 ดัชนี SET Index เคยวิ่งขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ 1,713.20 จุด และทำจุดต่ำสุดที่ 1,533.37 จุด ฟากนักลงทุนต่างชาติยังซื้อสุทธิสวนทางนักลงทุนกลุ่มอื่น สูงกว่า 1.9 แสนล้านบาท เปิดโผ 20 หุ้นมาร์เก็ตแคปสูงสุด ด้าน “AOT” ครองแชมป์

วันที่ 29 ธันวาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานภาพรวมความเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ตลอดปี 2565 อ้างอิงจากข้อมูล SETSMART พบว่า ดัชนี SET Index เคยขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่บริเวณ 1,713.20 จุด เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 65 และลงไปทำจุดต่ำสุดที่บริเวณ 1,533.37 จุด เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 65 โดยปิดตลาดหุ้นไทยภาคเช้าของวันที่ 29 ธ.ค. 65 ดัชนี SET Index ยืนอยู่ที่ 1,651.71 จุด เปลี่ยนแปลง 4.43 จุด หรือ +0.27% จากดัชนีวันก่อนหน้า มีมูลค่าการซื้อขายรวม 20,752 ล้านบาท

ภาพรวมผลตอบแทนของดัชนีตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 28 ธ.ค. 65 พบว่า ดัชนี SET Index ติดลบ 0.62% ขณะที่ดัชนีผลตอบแทนรวม (Total Return Index : TRI) เพิ่มขึ้น 2.20% โดยมีอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E) ที่ 17.92 เท่า มีอัตราส่วนราคาต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (P/BV) ที่ 1.63 เท่า มีอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) ที่ 2.54% มีอัตราหมุนเวียนการซื้อขาย (turnover ratio) ที่ 217.07% มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ 20.17 ล้านล้านบาท และมีกำไรต่อหุ้นที่ 91.92 บาท

โดยกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ยังเป็นภาพการซื้อสุทธิกว่า 190,224.29 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนกลุ่มอื่น ๆ เป็นภาพการขายสุทธิ แยกเป็นนักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 152,280.66 ล้านบาท, บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ 2,537.33 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 35,406.30 ล้านบาท

ทั้งนี้ หุ้นที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) สูงสุด 20 อันดับแรก (ข้อมูลจนถึง 28 ธ.ค. 65) ประกอบด้วย

1.บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) จำนวน 1,078,570 ล้านบาท

2.บมจ.ปตท. (PTT) จำนวน 935,438 ล้านบาท

3.บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) จำนวน 878,156 ล้านบาท

4.บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) จำนวน 694,747 ล้านบาท

5.บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) จำนวน 636,523 ล้านบาท

6.บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) จำนวน 606,359 ล้านบาท

7.บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) จำนวน 575,996 ล้านบาท

8.บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) จำนวน 460,868 ล้านบาท

9.บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) จำนวน 415,277 ล้านบาท

10.บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) จำนวน 409,200 ล้านบาท

11.บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) จำนวน 357,147 ล้านบาท

12.บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) จำนวน 356,913 ล้านบาท

13.บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) จำนวน 345,921 ล้านบาท

14.บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) จำนวน 323,136 ล้านบาท

15.บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) จำนวน 284,400 ล้านบาท

16.บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) จำนวน 280,599 ล้านบาท

17.บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) จำนวน 278,933 ล้านบาท

18.บมจ.ธนาคารกรุงไทย (KTB) จำนวน 248,733 ล้านบาท

19.บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) จำนวน 246,113 ล้านบาท

20.บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) จำนวน 243,623 ล้านบาท