ปี 2566 ต้นทุนการผลิตยังสูงต่อเนื่อง แนะ SMEs เร่งปรับกลยุทธ์รับมือ

อุตสาหกรรม
คอลัมน์ : Smart SMEs 
ผู้เขียน : ttb analytics

สำหรับปี 2565 ภาคธุรกิจมีความท้าทายจากภาวะต้นทุนที่ปรับขึ้นหลายระลอก เริ่มจากต้นทุนพลังงานที่กระทบต่อเนื่องไปยังต้นทุนสินค้า

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินต้นทุนการผลิตเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นถึง 10.2% ในภาพรวมของทุกอุตสาหกรรม และหากมองไปยังปี 2566 คาดการปรับเพิ่มของต้นทุนอีกประมาณ 3% ส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมจึงยังทรงตัวในระดับสูงต่อไป ในขณะที่ภาคธุรกิจส่วนใหญ่มีข้อจำกัดด้านการขยับราคาขายให้สอดรับกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs ที่มีการแข่งขันสูง จึงทำให้ต้องแบกรับต้นทุนบางส่วนไว้ ttb analytics จึงได้วิเคราะห์กลุ่มธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะต้นทุนสินค้า โดยขึ้นอยู่กับความสามารถในการส่งผ่านราคาของแต่ละอุตสาหกรรมตามลักษณะธรรมชาติของสินค้า รูปแบบธุรกิจ และโครงสร้างต้นทุนที่ไม่เหมือนกัน

รวมถึงปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ เช่น ความจำเป็นของสินค้า ความสามารถทดแทนโดยสินค้าอื่น อำนาจทางการตลาด และการแข่งขันด้านราคาระหว่างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม

โดยแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1) อุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมพลังงาน เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมิคอล วัสดุก่อสร้าง การแพทย์และสุขภาพ ผลิตไฟฟ้า และผู้ส่งออกข้าว จากลักษณะสินค้าของอุตสาหกรรมเหล่านี้ เป็นสินค้าที่มีความจำเป็นสูง และไม่มีสินค้าอื่นทดแทนได้ง่าย

รวมถึงการแข่งขันทางราคาระหว่างผู้ประกอบการไม่สูงเนื่องจากจำนวนผู้ประกอบการที่ไม่มาก และสินค้าส่วนมากมีราคาตลาดกำหนดทำให้ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องแข่งขันทางราคา ส่งผลให้ในภาพรวมของผู้ประกอบการกลุ่มนี้สามารถส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้บริโภคได้ตามต้นทุนที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น

2) อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบปานกลาง เป็นกลุ่มที่ผู้ประกอบการบางส่วนสามารถส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้บริโภคได้จากการมีอำนาจตลาดสูงกว่าผู้ประกอบการรายอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือสินค้าของผู้ประกอบการรายนั้นมีความน่าเชื่อถือด้านคุณภาพจากชื่อเสียงของบริษัทหรือตราสินค้า

ในขณะที่ผู้ประกอบการบางส่วนที่ไม่มีตราสินค้าหรือชื่อเสียงบริษัทยังไม่เข้มแข็งอาจต้องแบกภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการขึ้นราคาสินค้าอาจกระทบต่อยอดขายของกิจการ ส่งผลให้ในภาพรวมของผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะมีบางส่วนที่้ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น

แต่สำหรับบางส่วนอาจจำเป็นต้องแบกภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไว้เพื่อไม่ให้กระทบความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งสำหรับผู้ประกอบการในส่วนที่ได้รับผลกระทบอาจต้องหากลยุทธ์ในการส่งผ่านราคาโดยไม่ให้กระทบต่อความรู้สึกของผู้บริโภค เช่น การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือการออกสินค้าที่ใช้ประกอบกับสินค้าหลักเพื่อชดเชยสัดส่วนต้นทุนที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับไว้สำหรับสินค้าหลักที่ส่งผ่านราคาได้ค่อนข้างยาก

3) อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูง เป็นการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่น ในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม หรือในกลุ่มที่มีผู้ประกอบการจำนวนมาก และลักษณะสินค้าไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพที่มีลักษณะคงทน ซึ่งการตัดสินใจซื้อสามารถชะลอหรือเลื่อนออกไปได้ เช่น สินค้าเฟอร์นิเจอร์ สินค้าแฟชั่น หรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่อุปสงค์ต่ำ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมกระดาษและสิ่งพิมพ์ เป็นต้น

ดังนั้น สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มนี้อาจต้องปรับกลยุทธ์รับภาวะต้นทุนแพงโดยพยายามขยายไลน์สินค้าบริการไปตามห่วงโซ่อุปทานโดยอาศัยความชำนาญที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมเดิม

เพื่อเพิ่มทางเลือกในการดำเนินธุรกิจและสร้างพื้นที่กำไร รวมถึงเน้นตลาดเฉพาะทางสำหรับผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงเพื่อรักษาสัดส่วนกำไรให้รับกับต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาสถานะในการดำเนินธุรกิจให้ยั่งยืนต่อไป

โดยสรุป ภาวะต้นทุนที่ปรับเพิ่มส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในแต่ละอุตสาหกรรมแตกต่างกัน สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการส่งผ่านราคาดีอาจได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการส่งผ่านราคาปานกลางส่วนใหญ่ผลกระทบของต้นทุนจะส่งผลต่อกลุ่มผู้ประกอบการที่มีอำนาจตลาดไม่สูงซึ่งจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรักษาพื้นที่กำไร

ในขณะที่อุตสาหกรรมที่มีการส่งผ่านราคาต่ำ ผู้ประกอบมีความจำเป็นที่ต้องปรับกลยุทธ์อย่างเร่งด่วนเพื่อรักษาสถานะในการดำเนินธุรกิจเพื่อรับมือภาวะต้นทุนที่คาดว่าจะทรงตัวสูงต่อเนื่องในปีถัดไป