ส่องหุ้นส่งออก เมื่อแนวโน้มบาทแข็ง เศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอ

ส่องหุ้นกลุ่มส่งออก เมื่อแนวโน้มบาทแข็งและเศรษฐกิจเริ่มชะลอ ขณะที่การส่งออกปี’66 คาดโตได้ต่ำ หุ้นส่งออกยังน่าสนใจอยู่ไหม กับ “กวี ชูกิจเกษม”  ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) 

วันที่ 9 มกราคม 2566  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากแนวโน้มค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าขึ้น และเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัวในฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ รวมถึงการส่งออกที่คาดว่าปีนี้จะโตได้ต่ำในปีนี้  จะส่งผลอย่างไรต่อหุ้นส่งออกที่เคยเป็นพระเอกในปี 2565 ที่ผ่านมา รวมถึงกลยุทธ์การลงทุน กับ “กวี ชูกิจเกษม”  ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน)

Q : ในปี 2565 ที่ผ่านมาก็จะเป็นแนวโน้มของบาทอ่อน พอปีนี้ 2566 เเนวโน้มค่าเงินบาทพี่กวีประเมินยังไงบ้าง

จริง ๆ ปีที่แล้วค่าเงินบาทของเราช่วงต้นปีอ่อนค่าในช่วงครึ่งปีแรกพอเข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลังก็เริ่มนิ่งขึ้น และก็เห็นการแข็งค่าขึ้นมาในช่วงตั้งแต่ปลายปี 2565 แล้ว  หลัก ๆ เลยจริง ๆ มันเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจแล้วก็ตามภาวะของเงินไหลเข้าไหลออก ต้นปี 2566 นี้ได้อานิสงส์จากเรื่องของราคาน้ำมันที่ลงด้วย พอราคาน้ำมันลงเรานำเข้าน้ำมันเข้ามาถึงแม้ว่าจะนำเข้ามาในปริมาณเท่าเดิม สิบลิตรเท่าเดิม แสนลิตรเท่าเดิม แต่พอราคาลดลงมูลค่าการนำเข้าก็ลดลงเงินก็ไหลออกน้อยลง

เพราะฉะนั้นปี 2566 นี้เราก็มีโอกาสที่จะแข็งค่า  ถึงแม้ว่าโดยภาพรวมมันจะแข็งขึ้นจริงหรือไม่ ค่าเงินเป็นในเรื่องของการเปรียบเทียบคือพอเราเปรียบเทียบกับคนอื่นถ้าเราดีกว่าถึงแม้ว่าเราจะแย่  แต่เราแย่น้อยกว่าเงินเราก็จะแข็ง ตอนนี้ในเชิงเปรียบเทียบปรากฏว่าคนอื่นเฉย ๆ แต่เราดูดี เราดูดีมันก็เลยทำให้เงินไหลเข้า  ฉะนั้นปีนี้พี่เชื่อว่าเงินบาทน่าจะอยู่ในเชิงของการแข็งค่า ทางบริษัทหลักทรัพย์พาย ก็มองไว้แถวประมาณ 33.5-34.5  บาทต่อดอลลาร์ที่อยู่ในกรอบ

โอเคช่วงนี้อาจจะแข็งค่าแต่มันก็อาจจะมีช่วงฤดูกาล ไตรมาส 2 มันฤดูกาลของมัน เดี๋ยวไตรมาส 2 ก็อาจจะอ่อนค่า มันจะไม่ได้แข็งตลอดมันก็จะแข็งและก็จะอ่อนในช่วงไตรมาส 2 ไตรมาส 3 ด้วยเหตุผลว่านักท่องเที่ยวหายไปแล้วก็ต้องมีจ่ายเงินปันผล แล้วก็ช่วงฤดูกาลของส่งออกที่ไม่ค่อยดีด้วยไตรมาส 2 ไตรมาส 3 ก็จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงแล้วก็จะไปแข็งค่าอีกทีหนึ่งในช่วงไตรมาส 4 เพราะฉะนั้นตัวค่าเงินก็จะแกว่งไปแกว่งมา แต่โดยภาพของเทรนด์หรือว่าของแนวโน้มแล้วก็น่าจะอยู่ในแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

Q : ปีนี้มันจะมีปัจจัยเรื่องของนักท่องเที่ยวจีนด้วยที่เขาเปิดประเทศก็น่าจะเข้ามาไทย  แล้วก็น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่หนุนให้บาทเราแข็งค่าด้วยไหม

เยอะเลย ถ้าใครย้อนกลับไปดูเราก็จะรู้นะว่านักท่องเที่ยวจีนเป็นสัดส่วนที่เยอะที่สุดในจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด พูดง่าย ๆ ใน 100 คนจะมีนักท่องเที่ยวจีนประมาณ 25 คนที่เข้ามาและยิ่งไปกว่านั้นถ้าเรามองถึงการใช้จ่ายต่อคนของนักท่องเที่ยวก็พบว่านักท่องเที่ยวจีนมีการจับจ่ายใช้สอยมากที่สุดด้วยต่อคน มันก็เลยทำให้รายได้ยิ่งดีใหญ่ วันนี้รายได้ของเราปี 2565 รายได้จากการท่องเที่ยวก็ประมาณซักบวกลบประมาณ 1 ล้านล้านบาท เราเคยขึ้นไปสูงสุดในช่วงปี 2019 ที่ตอนนั้นมีนักท่องเที่ยวอยู่ที่ประมาณ 40 ล้านคน เรามีรายได้อยู่ที่ประมาณ 2 ล้านล้านบาท นั่นหมายถึงว่าวันนี้เราก็ถึง 1 ล้านล้านบาทแล้วนักท่องเที่ยวยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งเลย  นั่นหมายถึงว่าเรามีโอกาสที่เราจะเห็นตัวเลขถ้านักท่องเที่ยวจีนกลับมาแล้วเราดันตัวเลขให้กลับไปสมมุติว่าปีนี้เราทำได้ซัก 40 ล้านคน ซึ่ง 40 ล้านคนไม่ได้พูดเวอร์นะ ไม่ได้เวอร์วังอลังการจัดใหญ่ไฟกระพริบอะไรเลย คือเท่าเดิมเลยเท่ากับปี 2019 รายได้จากการท่องเที่ยวเราน่าจะมากกว่า 2 ล้านล้านบาท

ตรงนี้แหละที่ทำไมเงินบาทถึงได้มีแนวโน้มแข็งค่านอกเหนือจากเรื่องเงินไหลเข้าแล้วเป็นเรื่องของเศรษฐกิจที่จะโตดีด้วย แต่ก็ต้องระวังเงินเฟ้อเวลาเราจับจ่ายใช้สอยถ้าเงินเฟ้อมันขึ้นมาเงินบาทก็อาจจะกลับมาอ่อนค่าได้ถ้าเงินเฟ้อเราควบคุมไม่อยู่ ซึ่งสุดท้ายแล้วมันก็จะกลับมาว่าทุกอย่างมันผูกพันกันมันเกี่ยวเนื่องกันหมด เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นเงินไหลเข้าเศรษฐกิจดีขึ้น ก็จะทำให้ตลาดหุ้นดีขึ้นไปด้วย อันนี้มันก็จะวิ่งวน ๆ ไปแบบนี้  เพียงแต่ว่าตลาดหุ้นที่ดีขึ้นมันก็จะเหมือนปีที่แล้วเลยตลาดหุ้นมันจะไม่ได้ดีขึ้นในทุก ๆ กลุ่มอุตสาหกรรม ตลาดหุ้นจะเลือกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากเรื่องของการท่องเที่ยว  จากเรื่องของการบริโภคในประเทศ

ซึ่งนี่ยังไม่นับรวมเรื่องของการเลือกตั้งคราวนี้เงินก็จะหมุนหลายรอบเลย เลือกตั้งเงินหมุนไปหมุนมา จำไว้ว่าปริมาณเงินเท่าเดิมทำให้หมุนดีขึ้นเศรษฐกิจก็โตดีขึ้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเติมเงินเข้าไปในระบบเลย ขอให้หมุนเยอะ ๆ หนุนยิ่งเยอะยิ่งดีอันนี้คือจุดหนึ่งที่ประเทศไทยปีหน้าเรื่องการท่องเที่ยว เรื่องการเลือกตั้งจะทำให้เงินหมุนมากขึ้นอันนี้เป็นสิ่งที่ดี  แน่นอนหุ้นที่จะได้ประโยชน์คือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศก็จะขึ้นเป็นหลัก

ในขณะที่หุ้นปีที่แล้วที่เป็นพระเอกก็อาจจะได้รับผลกระทบ มันก็เลยทำให้ดัชนีหุ้นไทย (SET INDEX) อาจจะไม่ได้ไปไหนไกลเท่าไหร่ อาจจะอยู่แถวประมาณ 1,700 จุด จะมีการปรับตัวลดลงในครึ่งปีแรกนี้ เพราะว่าอย่างที่ผมบอกค่าเงินอาจจะแกว่งอ่อนค่าลงและมีเม็ดเงินจากต่างประเทศก็อาจจะชะลอตัว แต่ว่าตัวเม็ดเงินที่ไหลเข้ามามันก็ยังคงดันตลาดหุ้น แต่กลุ่มที่เป็นพระเอกในปีที่แล้วอย่างเช่นกลุ่มพลังงานเพราะราคาน้ำมันขึ้น  เช่นกลุ่มส่งออกเพราะปีที่แล้วส่งออกเป็นพระเอก กระทรวงพาณิชย์เคลมผลงานได้แต่ปีนี้เคลมไม่ได้แล้วนะแสดงว่าปีที่แล้วส่งออกเราดีนะ ปีที่แล้วส่งออกโตตั้ง 7-8% ถึงแม้ว่าช่วงปลายปีจะลดลงแต่ในปีนี้ส่งออกเราอาจจะติดลบด้วยเศรษฐกิจโลกที่แย่

เพราะฉะนั้นกลุ่มส่งออกธุรกิจส่งออกและด้วยเงินบาทที่แข็งมันก็ยิ่งทำให้หุ้นกลุ่มส่งออกที่เป็นพระเอกปีที่แล้ว ก็อาจจะกลายเป็นผู้ร้ายได้ แต่ก็ไม่ถึงขนาดร้ายมาก ปีนี้มันจะตรงกันข้ามหุ้นขึ้นเหมือนเดิมแต่ขึ้นไม่เยอะเหมือนปีที่แล้วที่ขึ้นมา 1% หรือไม่ถึง 1% ด้วย แต่ปีนี้ก็อย่างนี้แหละขึ้นไม่เยอะประมาณ 3-5% แต่หุ้นที่จะขึ้นเยอะมันจะเป็นหุ้นบางกลุ่ม และก็จะมีหุ้นที่ปรับตัวลดลงมาเลือกหุ้นกลุ่มให้ถูกและเราก็น่าจะได้รับกระแสเงินสด

Q : ย้อนกลับไปถามถึงตัวหุ้นส่งออกนิดนึงที่พี่กวีบอกว่าปีที่แล้วมันเป็นพระเอก  แล้วปีนี้มันมีแนวโน้มที่บาทมันจะแข็งค่าแล้วมันจะยังน่าสนใจอยู่ไหม ยังลงทุนได้อยู่ไหมในตัวหุ้นส่งออก

กลุ่มส่งออก กลุ่มพลังงาน กลุ่มปิโตรเคมีจะมีประเด็นเพราะว่ามันวิ่งตามเศรษฐกิจโลก เมื่อใดก็ตามที่เศรษฐกิจโลกมันชะลอตัวกลุ่มพลังงาน กลุ่มส่งออกได้รับผลกระทบอยู่แล้ว แล้วยิ่งเงินบาทแข็งค่าด้วย ตอนนี้คนรู้ว่าเศรษฐกิจจะหดตัวแต่คนไม่รู้ว่าจะแค่ไหน เพราะอย่างที่พี่พูดไปมันยังมีความเสี่ยงเรื่องของปริมาณหนี้อยู่แล้วก็เรื่องดอกเบี้ยสูงอยู่ เขาไม่รู้ว่ามันจะจบลงที่ไหน

เพราะฉะนั้นหมายถึงว่าการจะลงทุนในหุ้นกลุ่มส่งออกมันเหมือนคงต้องรอให้นักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investor : VI) ซื้อไปก่อน ตอนนี้ตลาดหุ้นยังไม่ชัดขนาดที่นักเก็งกำไรจะเข้ามาแรง ๆ ขนาดนั้น ดังนั้นหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องของเศรษฐกิจโลก ได้รับผลกระทบจากค่าเงินมันก็เลยยังไม่ค่อยเป็นที่น่าสนใจเท่าไหร่

Q : ทีนี้ในมุมของพี่กวีเองถ้าแนะนำนักลงทุนกลยุทธ์การลงทุนสำหรับครึ่งปีแรกแนะนำไง

มันต้องแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือถ้ากลุ่มที่เก็งกำไรต้องบอกนิดนึงก่อนว่าถ้าหุ้นขึ้นมาเกินกว่า 1,700 จุด เราทำราคาเป้าหมายปี 2566 นี้ที่ 1,690 จุด ตัวเลขกลม ๆ ถ้าเกินกว่า 1,700 จุดก็คือเกินกว่าราคาพื้นฐานของเรา ดังนั้นเราก็แนะนำให้นักลงทุนก็ค่อย ๆ ทยอยขายทำกำไรสำหรับนักเก็งกำไร  สำหรับในช่วงไตรมาส 2 ไตรมาส 3 เรายังไม่ควรมีหุ้นเต็มพอร์ต แต่นักลงทุน Value Investor ถ้าพูดว่าเป็น Value Investor จริง ๆ เราจะได้หุ้นมาในช่วงตอนเกิดวิกฤตโควิดแล้วรอบหนึ่ง น่าจะมีต้นทุนที่ต่ำอยู่พอสมควร ผมว่านักลงทุน Value Investor  เราอาจจะรอเวลาได้หรือมองตลาดหุ้นต่างประเทศด้วย เพราะว่าปีที่แล้วหุ้นไทยไม่ลงก็จริง แต่หุ้นต่างประเทศ ดัชนี NASDAQ ลง 30% ต้นปีลงต่ออีก  ดัชนี S&P ลง 20% ดัชนี DowJones ลงกว่า 10%

เราก็อาจจะมองหาโอกาสในหุ้นต่างประเทศเหล่านี้ได้เพราะว่าเขาลงมาให้เห็นเยอะกว่าการลงมาของตลาดหุ้นไทย ก็ลองดูหาโอกาสสำหรับ Value Investor ส่วนนักลงทุนแนวโมเมนตัม (Momentum Investor : MI) ก็ทยอยขายทำกำไรแล้วกลับมาซื้อใหม่ในช่วงกลางปี ที่ผมพูดว่าราคาหุ้นอาจจะปรับตัวลดลง  กลุ่มที่เราแนะนำให้เล่นในปี 2566 นี้ก็จะเป็นกลุ่มธนาคาร กลุ่มค้าปลีก กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ประมาณนี้